ช่วงนี้แทบทุกภูมิภาคของโลก พบกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุและน้ำท่วมทั้งในเอเชียและยุโรป ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วหลายร้อยคน โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้ หนีไม่พ้น "วิกฤตโลกร้อน"
รัฐบาลออสเตรียใช้เฮลิคอปเตอร์กองทัพ ช่วยเคลื่อนย้ายและวางถุงบรรจุทรายขนาดใหญ่เอาไว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมแนวป้องกันน้ำท่วม โดยเจ้าหน้าที่ ยอมรับว่า สถานการณ์ในตอนนี้ยังคงวิกฤต ทำให้ทางการต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติรอบ ๆ เมืองหลวง
ส่วนชาวฮังการีและทหารเร่งก่อกระสอบทรายตลอดริมแม่น้ำดานูบ ท่ามกลางความกังวลว่าน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชน หลังฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่งผลให้หลายประเทศทางตอนกลางและตะวันออกของยุโรปเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ ไล่ตั้งแต่ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการีและโรมาเนีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 15 คน
ขณะที่รัฐบาลโปแลนด์เตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ประสบอุทกภัย หลังจากสั่งอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุบอริส เป็นเงินกว่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 8,600 ล้านบาท
สถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในเยอรมนี เก็บข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมากกว่า 1,600 ภูมิภาคทั่วโลก ตลอดช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา
ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า ความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและอุณหภูมิผิดเพี้ยน คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,265 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขนี้อาจสูงถึง 59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว อย่างพายุหรือไฟป่า
รายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่าจริง ๆ แล้ว ผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโลกร้อน พบได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ก่อมลพิษน้อยและขาดทรัพยากรในการปรับตัว
ประเทศเหล่านี้กลับเป็นกลุ่มที่ต้องสูญเสียรายได้สูงกว่าใครเพื่อน เช่น ถ้าเทียบกับประเทศร่ำรวย กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 60 ขณะที่จะสูญเสียรายได้มากกว่าประเทศปล่อยมลพิษร้อยละ 40 ซึ่งหลายประเทศในเอเชียถือเป็นหนึ่งในนั้น
ยกตัวอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอนนี้กำลังเผชิญวิกฤตจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งทำให้ฝนตกหนัก น้ำท่วมและดินถล่มในเมียนมา เวียดนาม ลาวและไทย โดยพบผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 400 คน โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งทางการประเมินว่า พายุลูกนี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 40 ล้านล้านดอง หรือราว 54,000 ล้านบาท
สถาบันวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์จัดทำรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจจาก 4 ภัยพิบัติด้านอากาศ ทั้งน้ำท่วม พายุหมุนเขตร้อน พายุฤดูหนาวในยุโรปและฝนฟ้าคะนองรุนแรง โดยอ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก เฉลี่ยปีละร้อยละ 3 ของ GDP ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างสหรัฐฯ แบบไม่เห็นฝุ่น ตามมาด้วยไทย ออสเตรีย และ จีน
แต่ถ้าดูกันที่เม็ดเงินซึ่งสูญเสียไปในแต่ละปี จะพบว่า สหรัฐฯ เสียหายหนักที่สุดอยู่ที่ 97,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถ้าแยกประเภทของภัยพิบัติ จะเห็นว่า ความเสียหายในฟิลิปปินส์เกือบทั้งหมดเกิดจากพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งในแต่ละปี ฟิลิปปินส์เจอหลายลูกด้วยกัน ตามมาด้วยจีนกับสหรัฐฯ ที่มีความเสียหายเท่ากัน
แต่ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคน ขณะที่ไทยติดโผในฐานะประเทศที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากฟิลิปปินส์ โดยคิดเป็นปีละร้อยละ 0.36 ของ GDP
ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากหลายประเทศมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายจากวิกฤตโลกร้อน ขณะที่การออกมาตรการเพื่อปรับตัวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ จะช่วยลดตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง
รายงานของสถาบันวิจัยระหว่างประเทศหลายฉบับ ประเมินตรงกันว่า แม้การพัฒนาเทคโนโลยีและเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายสีเขียวจะมีต้นทุนที่สูง แต่ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้กับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานบางฉบับประเมินว่า ส่วนต่างอาจมีมากถึง 6 เท่า ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมไปถึงผลกระทบทางสังคมและในมิติอื่น ๆ
อ่านข่าว :
บอริสถล่ม! "โปแลนด์" น้ำในเขื่อนทะลัก ทั่วยุโรปตายแล้ว 18 คน
จมบาดาล! ฝนกระหน่ำ น้ำท่วมหลายพื้นที่ยุโรปกลาง-ตะวันออก