รัฐล้มเหลว ? สัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติ รับมืออุทกภัยล่วงหน้า

ภัยพิบัติ
18 ก.ย. 67
15:27
443
Logo Thai PBS
รัฐล้มเหลว ? สัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติ รับมืออุทกภัยล่วงหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า วันที่ 20–22 ก.ย.2567 จะมีพายุ "ปูลาซัน" และ"ซูลิก" จะเข้าสู่ประเทศไทย อิทธิพลของพายุ ส่งผลกระทบทุกภูมิภาค ทำให้มีฝนตกหนัก ถึงตกหนักมาก โดยเฉพาะอีสานตอนบน ขณะที่อีสานตอนใต้ อาจมีฝนตกแช่ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังทวีความรุนแรง สร้างความเสียหาย ยากจะรับมือ ทั้งๆที่ผ่านมา ไทยเคยเผชิญเหตุการณ์วิกฤตนี้มาแล้ว 

แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายจะลดลงตามลำดับ แต่ความเสียหายต่อสภาพจิตใจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยากจะประเมินออกมาเป็นมูลค่าอุทกภัยครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน (ณ วันที่ 17 ก.ย.2567) แต่หลังน้ำลดยังต้องมีมาตรการฟื้นฟูและทำความสะอาดดินโคลนที่ยังตกค้างตามบ้านเรือนกว่า 60,000 หลังคาเรือน และสถานประกอบการกว่า 90 แห่ง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมวลความเสียหายเชิงเศรษฐกิจพบมีมูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาท

ปัญหาภัยพิบัติ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ยากจะหลีกเลี่ยง หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิช่วงปลายปี 2547 รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ซึ่งเกิดขึ้นภายในประเทศ ถึง 6 ช่องทาง คือ

  • หอเตือนภัย ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเตือนไปยังหอเตือนภัยทั่วประเทศ 328 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด ในรูปแบบของการกระจายเสียงไซเรน และเสียงประกาศเตือน

  • สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) ถ่ายทอดสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติผ่านดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณในจำนวน 285 แห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่วนราชการในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก โดยกระจายข่าวสารการเตือนภัยโดยใช้คลื่นวิทยุและหอกระจายข่าวในชุมชน

  • หอกระจายข่าวในชุมชน ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 674 แห่ง โดยรับสัญญาณเตือนภัยผ่านทางสถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย โดยผ่านคลื่นวิทยุและถ่ายทอดสัญญาณเสียงผ่านหอกระจายข่าว ความสูงไม่น้อยกว่า 12 เมตรจากระดับพื้น ติดตั้งลำโพงขนาด 150 วัตต์ 4 ตัว

  • เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) ติดตั้งในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และในศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนในหน่วยราชการและถ่ายทอดสู่ประชาชนในจังหวัด มีจำนวน 163 ชุด

  • แอปพลิเคชันไลน์ (Line Official Account: Line OA) ใช้สำหรับการแจ้งเตือนคำเตือนต่าง ๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสามารถรายงานปัญหาหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติได้ ด้วยการเพิ่มเป็นเพื่อนกับบัญชีของศูนย์ในแอปพลิเคชันไลน์

  • แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT เป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนภัยพิบัติ สามารถแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่แบบเวลาจริง (Real Time) โดยติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟน

มีคำถามว่า 6 ช่องทางเตือนภัยพิบัติ ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร ถูกใช้มาก-น้อย เพียงใด ? และระบบที่มีอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ? สำนักข่าวอิศราฯ รายงานว่า หากนับเฉพาะช่วงปี 2563-2565 รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณการเฝ้าระวังภัยพิบัติไปมากกว่า 1,070 ล้านบาท เฉพาะสัดส่วนของแอปพลิเคชันเตือนภัยมูลค่า 432.7 ล้านบาท ในขณะที่ความเสียหายที่มาพร้อมกับภัยพิบัติยังคงเกิดขึ้น

รัฐบาลแพทองธาร นโยบายแก้น้ำท่วม "เรื่องรอง"

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหมวด 6 มาตรา 72 (4) ระบุว่า แนวนโยบายของรัฐจะต้อง "จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้ง การประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น" สะท้อนการให้ความสำคัญเรื่อง "น้ำแล้ง" มากกว่าน้ำท่วม

การแถลงนโยบายต่อสภาของ แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินแนวนโยบายตามอย่างเคร่งครัด ตามที่กล่าวในส่วนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อที่ 2 ความว่า

"รัฐบาลจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ และจะเร่งให้น้ำถึงไร่นาโดยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการกระจายน้ำ ควบคู่กับการขยายเขตชลประทาน เพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ร่วมกับทุกภาคส่วนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน"

จากรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 3 ไตรมาส พบว่า มีเพียงไตรมาส 3 เท่านั้นที่มีการจัดสรรโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝูน ที่มีจำนวนกว่า 7,700 ล้านบาท จากวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของวงเงินงบประมาณกลางในส่วนช่วยเหลือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเยียวยา และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า ฯลฯ)

ส่วน 2 ไตรมาสแรกเป็นการจัดสรรงบกลางสำรองจ่ายเพื่อการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ที่คิดเป็นร้อยละ 51 โดย 2 เรื่องนี้เป็นภัยพิบัติที่มากับความแห้งแล้งทั้งสิ้น ส่วนความเสียหายต่อครัวเรือนของภัยน้ำท่วมนั้นถือว่าน้อยกว่าภัยแล้งพอสมควร

รายงานเปรียบเทียบของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2532-2566 พบว่า ภัยน้ำท่วมมีผลกระทบต่อความเสียหายต่อครัวเรือนจำนวน 41 ล้านครัวเรือน ส่วนภัยแล้งมีผลกระทบ 77 ล้านหลังคาเรือน

จากสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการบริหารเตือนสาธารณภัย เก็บสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 7 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระยะเวลาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2567 ช่วงเดือน ต.ค.-เม.ย. พบว่า มีเพียงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีความต่อเนื่องของการดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด 10 ปี ต่างจากหน่วยงานอื่นที่มีการดำเนินโครงการอย่างน้อยที่สุดคือ 1 จาก 10 ปีเท่านั้น

ในขณะที่รายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทย กราฟเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมรายปี ตั้งแต่ปี 2548-2566 พบว่า ระยะเวลา 10 ปีหลังสุด (2556-2566) ในแต่ละปีสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยอยู่ในระดับไม่เกิน 2 หมื่นล้านไร่ และกระจายตัวตามภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เฉลี่ยปีละ 1,000,000 ไร่ มีเพียงปี 2554 เท่านั้นที่แตะระดับ 20,000 ล้านไร่ รวมถึงสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คาบ 72 ปี (พ.ศ. 2494-2565) จากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มีอัตราพายุเข้าไทยเฉลี่ย 2.85 ลูกต่อปี โดยในช่วงหน้าฝนที่มีปริมาณน้ำฝูนสูงที่สุด ประมาณเดือน ก.ย. และ ต.ค. มีอัตราพายุเข้าไทยเฉลี่ย 0.75 และ 0.78 ลูก

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

งบ ทส. ตั้งเตือนภัยล่วงหน้า ใช้งบแก้ลำมากกว่าแจ้งเตือน

ข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในงบประมาณส่วนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จะพบว่า งบประมาณก่อสร้างมีอัตรามากที่สุดจำนวนประมาณ 41,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.99 หรือกว่า 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด โดยจำแนกเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งจำนวนประมาณ 19,000 ล้านบาท การก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำประมาณ 6,900 ล้านบาท และการสร้างฝายชะลอน้ำประมาณ 5,800 ล้านบาท ทั้งหมดกว่าร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมด

ส่วนงบประมาณการบำรุงซ่อมแซมเครื่องมือป้องกันอุทกภัย มีจำนวนประมาณ 6,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 จากงบประมาณทั้งหมด และงบประมาณในส่วนอื่น ๆ มีจำนวน 2,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.58

ในส่วนนี้ นับรวม "การแจ้งเตือนภัยพิบัติน้ำท่วม" เข้าไปด้วย ซึ่งมีอัตราน้อยกว่าการก่อสร้างหรือการซ่อมแซมสิ่งป้องกันอุทกภัยอยู่มากพอสมควร

ตอกย้ำในส่วนของท้องถิ่นที่เกิดผลกระทบ จากสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมของจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2558-2567 ระหว่าง ต.ค.66-เม.ย.67 จะพบว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยมีจำนวน 30 โครงการ จากทั้งหมด 928 โครงการ คิดเป็นอัตราร้อยละ 3 เท่านั้น

โดยมีเพียงงบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในโครงการที่ชื่อว่า โครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นโครงการที่เน้นแจ้งเตือนเพื่อป้องกันภัยล่วงหน้า นอกนั้นจะเป็นโครงการประเภทอุทกภัยเกิดก่อนและมาแก้ลำในภายหลัง

สตง. ชี้ช่องทางการแจ้งเตือนไร้ประสิทธิภาพ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ พบว่า การบริหารระบบเตือนสาธารณภัยพบปัญหาบางประการเกี่ยวกับการทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติส่วนใหญ่ไม่ต่อเนื่องและไม่ครบถ้วน ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าขาดความแม่นยำ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติมีปัญหาอยู่มาก

ที่น่าสนใจ นั่นคือ แอป DPM Alert สำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ไม่ได้มีการนำเข้าข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้แอปไม่สามารถที่จะทำการแจ้งเตือนประชาชนได้ ตลอดจนไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์การใช้แอปใด ๆ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้

ขณะที่ "ระบบโทรมาตร" ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการแจ้งเตือนขั้นพื้นฐานก็ได้มีปัญหาเช่นกัน โทรมาตรไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป มากถึง 318 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 57.30 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ และแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วนอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 วัน เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ฝุ่นขนาด PM 2.5 ฯลฯ มากถึง 539 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 97.12 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

หรือกระทั่ง ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) ที่มีจุดประสงค์เพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ กลับขาดความแม่นยำอย่างมาก จากการสุ่มตรวจสอบสาธารณภัย (อุทกภัยและวาตภัย) ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 170 ครั้ง เปรียบเทียบกับแผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน พบว่า ระบบ DSS มีการคาดการณ์ไม่แม่นยำ เพราะมีจำนวนถึง 113 ครั้งที่คาดการณ์ผิดพลาด คิดเป็นร้อยละ 66.47 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ขณะที่ ระบบ DSS ที่คาดการณ์แม่นยำมีเพียง 57 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.53 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบเท่านั้น

ทั้งนี้ โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก้ปัญหาโดยเปิดตัวแอปแจ้งเตือนน้ำท่วมใหม่ ที่ชื่อว่า Help T (ช่วยด้วยน้ำท่วม) ซึ่งเน้นหนักไปที่การแจ้งเตือนในระดับท้องถิ่นมากกว่า

อ่านข่าว:

อัปเดต "พายุดีเปรสชัน" ขึ้นฝั่งเวียดนาม 19 ก.ย.อีสานฝนตกหนัก

Help T! แอปใหม่แจ้งเตือนภัยน้ำท่วมระดับท้องถิ่น

"แม่สาย" น้ำท่วมหนัก คำถามใหญ่แจ้งเตือนภัยหน้าที่ใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง