ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วีริศ" ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ ตั้งเป้าแก้หนี้การรถไฟฯ 2 แสนล้านใน 4 ปี

เศรษฐกิจ
19 ก.ย. 67
16:00
1,198
Logo Thai PBS
"วีริศ" ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ ตั้งเป้าแก้หนี้การรถไฟฯ 2 แสนล้านใน 4 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วีริศ" ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ ตั้งเป้าล้างหนี้การรถไฟฯ กว่า 2 แสนล้านบาทใน 4 ปี พร้อมทั้งเร่งหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ ขณะที่เรื่องเร่งด่วนจัดการปัญหา PPP -ไอซีดีลาดกระบัง พร้อมยืนยันไม่ใช่เด็กสุริยะและคุณสมบัติไม่ขัด

วันนี้ (19 ก.ย.2567) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดพิธีลงนามสัญญาว่าจ้าง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่ โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรถไฟฯ เป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง นายวีริศ อัมระปาล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 20 อย่างเป็นทางการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารระดับสูง และพนักงานการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

นายวีริศ อมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า นโยบายของตนเองจะขอใช้เวลาเพื่อศึกษางานประมาณ 1 เดือนก่อน และภายใน 3 เดือนแรก จะจัดการเกี่ยวกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และโครงสร้างองค์กรต้องมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัญหาเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ คือ นโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ยังคงค้างคาอยู่ โดยหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างการขนส่งทางรางให้เป็นการเดินทางหลักของประเทศตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม การแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการเอกชนร่วมลงทุนต่างๆ (PPP) จากการศึกษาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ที่ลาดกระบัง

ซึ่ง PPP ตามปกติมีระยะ 2-3 ปี ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งจะเริ่มเมื่อไหร่ และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของ รฟท.ที่มีอยู่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟท. ได้ศึกษาในหลายพื้นที่ เช่น ที่ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีมักกะสัน RCA สถานีธนบุรี และสถานีแม่น้ำให้สร้างรายได้

พร้อมยอมรับว่า การปฏิบัติงานของ รฟท.อาจจะไม่ได้ทำอย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนโดยจะต้องศึกษางานเร่งด่วนและพร้อมให้พนักงานรถไฟเข้ามาพูดคุยความต้องการว่าจะให้รถไฟเป็นไปแนวทางไหน

รวมถึงโครงการเร่งด่วนของ รฟท.ที่ยังติดขัดอยู่ เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งมีบางสัญญาที่ต้องต่อรองและเข้าไปดูรายละเอียด เพื่อให้เข้าไปแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในการแสดงวิสัยทัศน์ได้เสนอการลดภาระหนี้ การเพิ่มรายได้ เพิ่มความพอใจในการใช้บริการของประชาชน แต่จะทำได้แค่ไหนต้องหารือก่อน รวมถึงการแผนการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้หรือโครงสร้างองค์กร ก็จะพยายามทำให้เกิดในรัฐบาลสมัยนี้

สางปมหนี้รถไฟ

นายวีรีศ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของ รฟท.ที่ผ่านมารถไฟมีหนี้จำนวนมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าเป็นภาระผูกพันรัฐบาลจากรถไฟเชิงสังคมที่ต้องเข้าไปอุดหนุนหรือไม่ หรือเป็นหนี้ของการรถไฟเอง

รวมไปถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และประนอมหนี้ในบางส่วนที่สามารถทำได้ หากดำเนินการส่วนนี้ได้ก็จะทำให้จำนวนหนี้ของ รฟท.ลดลง

รฟท.ยังมีที่ดินที่สามารถทำประโยชน์ได้จำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ทำประโยชน์เต็มที่ ต้องคุยกับ บจ.เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) ซึ่งเป็นบริษัทลูกการรถไฟ ต้องดูว่าติดขัดอะไร

ขณะที่โครงการลงทุนของ รฟท.ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ซึ่งมีเป้าหมายเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน

ทั้งนี้ จะต้องเร่งรัดก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เชื่อมต่อการขนส่งไทย - ลาว - จีน และประมูลสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ให้ครบจำนวน 7 เส้นทาง รวมไปถึงผลักดันโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ในฐานะคนคนนึงที่เข้ามา ผมมีความตั้งใจ ต้องพยายาม จึงมั่นใจว่า จะนำพาองค์กรได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย พ.ร.บ.เป็น 100 ปี ซึ่งต้องบริหารจัดการคน ขบวนรถ และข้อจำกัดภายใน 10 ปี ไม่สามารถเพิ่มคนได้ แต่ยินดีรับปัญหา ไม่ต้องการให้ประเทศถดถอย

ปัดเด็ก "สุริยะ" 

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายวีริศเป็นคนของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม รวมถึงประเด็นคุณสมบัติ ในสมัยที่นายวีรีศ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท.ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะเวลาเช่า 30 ปี (ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2565 ถึงวันที่ 14 ต.ค.2595) ซึ่งขัดกับข้อ 11 ที่ในระยะ 3 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท.ห้ามเป็นเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคล ผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายวีริศ ชี้แจงว่า แง่มุมผมที่สื่อพยายามจะบอก ผมเองตั้งแต่เข้ามาจบการศึกษาสมัครมาที่มูลนิธิชัยพัฒนา สำหรับผมเมื่อเกิดมามีความต้องการอยากพัฒนาประเทศ แต่เมื่อทำงานพลิกผันหลายที่ การทำงานที่ผ่านมาพยายามใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศเมื่อได้รับความรู้จากต่างประเทศ ต้องการนำมาพัฒนาประเทศ

เพราะฉะนั้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือท่านอื่น ๆ ที่จริงก่อนหน้านี้ ผมก็เคยทำหน้าที่ที่ปรึกษาในกรรมาธิการต่าง ๆ ผมก็พยายามที่จะทำหน้าที่เพื่อพัฒนาประเทศ การมาเป็นผู้ว่า รฟท.ก็เป็นจังหวะหนึ่งที่ผมเห็นว่า สามารถทำได้ ผมก็สมัครเข้ามา

ถ้าถามว่าผมสมัครด้วยตัวเอง หรือท่านสุริยะเลือกมา ถ้าท่านสุริยะจิ้มมา ผมไม่มานะครับ เพราะฉะนั้น ผมบอกได้ครับว่าเป็นความตั้งใจของผม และตรงนี้มาคนเดียวพร้อมทีมงาน 4-5 คน แต่ถ้าองคาพยพไม่ไปด้วยก็ทำไม่ได้

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กรณีคุณสมบัติ ผมยืนยันว่า มาตามกระบวนการ ที่ผ่านมามีการศึกษา พ.ร.บ. รวมถึงได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สคร. ถึงตัวข้อกฎหมาย ยืนยันว่า ในกฎหมายจะต้องดูที่เจตนา ซึ่งเจตนารมณ์ไม่ได้หมายถึงรัฐวิสาหกิจต่อรัฐวิสาหกิจ เพราะเจตนาผมไม่ได้เอื้อรัฐวิสาหกิจ ผมไม่ได้มาหาประโยชน์ ซึ่งในอุตสาหกรรมประเทศที่เจริญแล้ว ทำไมการขนส่งมีราคาต่ำ เพราะสามารถลากรถไฟถึงโรงงาน หรือถึงสถานที่เป้าหมาย ผมขออาสาเข้ามา แต่จะแก้ไขได้ไหมขึ้นอยู่กับทุกคน

ทุกยุคผู้ว่ารฟท. มีปัญหาสหภาพฯ รฟท.

นายวีรีศ ระบุว่า ยังไม่ได้หารือ คาดว่าจะมีเร็ว ๆ นี้ ผมเชื่อว่า ผมไม่มีประเด็น สำหรับผมผลประโยชน์สวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ หวังว่าองค์กร สวัสดิการพนักงานได้รับเต็มที่แต่ต้องไม่เกินที่รัฐจะให้ได้ ถ้าเช็กประวัติผมที่ กนอ.ไม่มีประเด็นอื่น

เปิดประวัติ ผู้ว่า รฟท.คนที่ 20

สำหรับประวัตินายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 20

- เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2518 ปัจจุบันอายุ 49 ปี

- จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- จบการศึกษาระดับปริญญาโท Operations Research มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา

- จบการศึกษาระดับปริญญาเอก Industrial and Systems Engineering มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส สหรัฐอเมริกา สาขาความเชี่ยวชาญด้านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems) ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ด้านระบบการจัดการภาคการผลิตและการขนส่ง (Production and Logistics Management) และด้านการบริหารระบบซ่อมบำรุง (Maintenance Management)

ประวัติการทำงานที่ผ่านมา

- ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (ด้านการพาณิชย์)

- ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (ด้านวิชาการ)

- คณะกรรมการจราจรขนส่งแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม

- อาจารย์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยการคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

- กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

อ่านข่าว : "นิรุฒ มณีพันธ์" เซ็นสัญญานั่งผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 19  

การรถไฟฯ ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ไม่เกี่ยวเหตุน้ำท่วม 

รมว.คมนาคม สั่งการรถไฟฯ ดำเนินการใน 5 แผนงานแก้ปัญหาหนี้สิน

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง