มองการเมือง 3 ยุค ผ่าน "กร ทัพพะรังสี" อดีตรองนายกรัฐมนตรี

การเมือง
20 ก.ย. 67
15:52
151
Logo Thai PBS
มองการเมือง 3 ยุค ผ่าน  "กร ทัพพะรังสี" อดีตรองนายกรัฐมนตรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ท่ามกลางควานผันแปรอย่างรวดเร็วของนักการเมือง และพรรคการเมืองในยุคนี้ ทำให้ต้องหวนกลับไปมองการเมืองในอดีต "รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" พาย้อนเวลาผ่านมุมมองของอดีตนักการมืองคนสำคัญ "กร ทัพพะรังสี" ในยุคโชติช่วงชัชวาลของการเมืองไทย 3 ยุค ตั้งแต่สมัย "ป๋าเปรม" พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ "น้าชาติ" พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และ"ลุงชวน" นายชวน หลีกภัย เพื่อให้สะท้อนมุมมองทางการเมืองในปัจจุบัน

“มีความรู้สึกเสียดาย เสียดายว่าเรามีวิวัฒนาการผ่านมาหลายสิบปี หลังการรัฐประหาร 14 ตุลา นักการเมืองรุ่นนั้น มาถึงรุ่นปัจจุบัน ผมคิดว่าจะสร้างสรรค์คุณภาพของนักการเมืองให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ แต่ปรากฏว่า ยิ่งหนักกว่าเมื่อก่อน”

"กร"  เล่าว่า ตนเองเติบโตมาจากการเมืองที่ฝ่ายค้านกับรัฐบาล จะมีปากเสียงกันในรัฐสภา แต่พอออกมาข้างนอกก็กอดคอกินกาแฟกัน ไม่ได้เป็นศัตรูกันเหมือนในปัจจุบัน แต่ก็มองว่าการเมืองที่ขัดแย้งในตอนนี้จุดเริ่มต้นมาจากการได้รับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่เป็นโควตาของพรรค โดยที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถ ตามตำแหน่งที่ได้รับ แม้กระทั่งนักการเมืองบางคน ที่ได้รับตำแหน่งก็ไม่เคยได้ลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็น สส. ก่อน

"พอเข้าสู่ยุควัยที่เราจะเข้าสู่การเมืองด้วยตัวของเราเอง ก้าวแรกได้ขอเป็น สส. ก่อน ผมไม่ใช่รัฐมนตรีแบบท่านนะที่เดินผ่านไปมาก็เข้ามา ครม. ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ต้องใกล้ชิดกับประชาชน ต้องไปหาเสียง และต้องไปสัมผัสกับปัญหาของประชาชน ไม่ใช่วันดีคืนดีก็มาบอกว่าอยากเป็นรัฐมนตรี"

"กร ทัพพะรังสี" กับเส้นทางการเมือง

เมื่อก่อนก็มีการตั้งคำถามในฐานะที่ตนเองเป็นลูกหลานของนักการเมือง "กร ทัพพะรังสี" ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับสิทธิ์พิเศษในการก้าวเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่ด้วยประสบการณ์ ความรู้ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีเห็นศักยภาพว่ามีความเหมาะสมจึงมอบตำแหน่งให้

…หากเล่าย้อนกลับไปตนเองได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัย "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" พร้อมกันกับ "ศุภชัย พานิชภักดิ์" โดยพูดติดตลกว่า "กร ทัพพะรังสี" เป็นเพื่อนกับ "ศุภชัย พานิชภักดิ์" มาตั้งแต่อนุบาล จวบจนเติบโตได้มาทำงานการเมืองด้วยกัน พร้อมกับ "เด็กชายประวิตร วงษ์สุวรรณ" (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนอนุบาล

..ถามว่า คิดไหมว่า วันหนึ่งจะได้มาอยู่วงการเมืองด้วยกัน.. วันนั้นไม่ได้คิด เพราะคิดแค่ว่า มีเพื่อนเล่น ได้ไปโรงเรียนด้วยกันก็มีความสุขแล้ว อยู่ด้วยกันจนถึงอายุประมาณ 10-11 ขวบ ก็ต่างแยกย้าย โดย "ศุภชัย" ไปเรียนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนตัวเองนั้นก็ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จนทำให้ไปพบกับ "ธารินทร์ นิมมานเหมินท์" จนกระทั่งมาเจอกันอีกครั้งในตอนที่ตนเอง และ "ศุภชัย" เป็น "รองนายกรัฐมนตรี" ส่วน "ธารินทร์" ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง

ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยที่การทำงานก็มีปัญหาในเรื่องของความไม่ลงรอยกันระหว่างนายศุภชัย และนายธารินทร์ แต่ด้วยความสามารถของทั้งคู่และการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาก็ทำให้การทำงานออกมาดี

"ถ้ามีข้อขัดแย้งกัน เรามีข้อหลักอยู่อย่างนึง คือ เราเรียนรุ่นเดียวกันมา คุณถอยตรงนี้นิดนึง คุณขยับตรงนี้นิดนึง มันก็ลงตัวได้ แต่ถ้าคุณดื้อรั้น คุณคิดว่าของคุณต้องถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้มันเดินต่อยาก"

นี่คือความหมายที่ได้พูดว่า "ความเป็นเพื่อน เป็นมิตรร่วมสภา เป็นเพื่อนร่วม ครม. จรรโลงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ และเจริญก้าวหน้า" ไม่ใช่มาทะเลาะกัน ไม่ใช่มาขัดแย้งกัน คือเวลาทำหน้าที่ซักไซ้ อภิปราย ก็ทำให้เต็มที่ แล้วออกมากอดคอกัน อยากจะเห็นแบบนั้นบ้าง เพราะรู้สึกเสียดายคนเก่ง ๆ ในสมัยนี้ แต่กลับไม่ใช้ความเก่งให้เกิดการปรองดอง เพื่อการทำงานที่เจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติ

ยุคเลือกรัฐมนตรีด้วยความสามารถ

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ด้วยประสบการณ์และความสามารถด้านอุตสาหกรรม ซึ่งในตอนนั้นมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง จึงได้มอบหมายให้ตนเองดูแลแหลมฉบัง และ มาบตาพุด ขณะที่ “ศุภชัย” มีความสามารถด้านการเงิน ได้มอบให้ดูแลกระทรวงการคลัง …แต่.. ปัจจุบันกลายเป็นว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีกลับมองข้ามเรื่องความสามารถ ความชำนาญที่เหมาะสมของแต่ละกระทรวง

…เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ "กร ทัพพะรังสี" ระลึกถึงครั้งที่ "สุทธิชัย หยุ่น" ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว มาซักถามการทำงานในขณะเป็นรัฐมนตรีดูแลด้านพลังงาน โครงการวางท่อแก๊สเมียนเข้าประเทศไทย พร้อมพูดติดตลกว่า…….

กร ทัพพะรังสี : คุณสุทธิชัย นำชาวบ้าน 5 คน ที่ไม่เห็นด้วย มาออกรายการ และซักถามผม 5 ข้อ แต่ผมก็ตอบข้อสงสัยได้ทุกประเด็น

สุทธิชัย หยุ่น : ใช่ครับ ก็ถือว่ามีประโยชน์ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น

กร ทัพพะรังสี : และผมยังได้ถามคุณสุทธิชัย ถึงชาวบ้านที่เห็นด้วยกับกการทำท่อแก๊สไหม คุณสุทธิชัยก็ตอบว่ามี และจะนำมาพูดคุยในสัปดาห์หน้า (หัวเราะ) นั่นแหละคือความแฟร์ที่เป็นกลางของสื่อมวลชนในการนำเสนอทุกฝ่าย ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับข่าวสารครบทุกด้าน

แตกต่างจากสมัยนี้ส่วนใหญ่สื่อจะตั้งคำถามเพื่อล่อให้สองฝ่ายเกิดการทะเลาะกัน ไม่ได้เป็นคำถามที่สร้างสรรเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง แทนที่ประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ครบทุกด้าน แต่จะเห็นการทะเลาะกันผ่านหน้าสื่อ รวมทั้งรัฐมนตรีในยุคปัจจุบันก็เลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถาม นั่นก็เพราะว่าหลายคนไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอในการเข้ามารับตำแหน่ง ส่งผลให้ความศรัทธาต่อระบบการเมืองของประชาชนลดลง

"สมัยนั้นเราพูดกันใน ครม. ต้องพร้อมจะเจอกับสุทธิชัย หยุ่น เพราะเป็นคนถามที่รู้เรื่องที่สุด แต่สมัยนี้ที่ผมเสียดาย นอกจากไม่รู้เรื่องแล้ว ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลยังไม่พูดกันอีก ยังทะเลาะกันอีก ความสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนไทยแลนด์ไปข้างหน้ามันเดินไม่ออก อีกสิ่งคือคนที่รับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ ก็ไม่รู้เรื่องที่ตัวเองได้รับมอบหมาย"

ร่วมงานกับ 3 นายกฯ 3 ยุค

หากให้เปรียบเทียบการทำงานของนายกรัฐมนตรี 3 ยุค เท่าที่ได้สัมผัสมา "พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์" เป็นคนที่วางตำแหน่งคนได้ตรงกับความสามารถ จะรู้ว่าใครถนัดเรื่องไหน จะเห็นได้จากการประชุมอาเซียนซัมมิท ปี 2530 ที่ตัวเองและนายศุภชัย ได้เดินทางไปด้วย ซึ่งพลเอกเปรมฯ ก็ได้บอกเลยว่า หากมีการถามเรื่องพลังาน เรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ด ราคาน้ำมัน ก็ให้ตอบได้เลย

ขณะที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เงินทุนสำรอง เป็นหน้าที่ของนายศุภชัย นี่คือความเป็นผู้นำที่แท้จริงว่า รู้ไหมใครเก่งตรงไหน ให้เขาทำไป และต้องไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น สมัยนั้นพวกเราทำได้เต็มที่

ขณะที่นายกฯ ชวน หลีกภัย ก็เป็นอีกสไตล์หนึ่ง มีความถูกต้องทางกฎหมายเป็นตัวตั้ง มุ่งทำงานอย่างเดียว และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

"พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็นคนที่เดินเข้าหาประชาชน - ปัญหา และเลือกใช้คนตามความสามารถ ทำให้เป็นยุคที่เศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดถึง 13.4% มีเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด นักท่องเที่ยวดีที่สุด ชาวนาชาวไร่ได้ราคาพืชไร่ดี ไม่มีเดินขบวนไล่รัฐบาล แต่สุดท้ายกลับถูกทหารปฏิวัติ

เหล่านี้คือประชาธิปไตยที่ "กร ทัพพะรังสี" เดินผ่านมาด้วยตัวเอง สร้างสมประสบการณ์มาจากหลายยุค หากถามว่าทำไมในยุคของ "ชาติชาย" ที่เฟื่องฟูที่สุดกลับถูกปฏิวัติ ซึ่งในขณะนั้นทีมที่ปฏิวัติก็อ้างนู่นนี่เพื่อทำให้ตัวเองดูดี แต่เมื่อมาถึงในยุคนี้ก็ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร

กร ทิ้งท้ายว่า อยากเห็นการเมืองที่พัฒนา สิ่งไหนในอดีตที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้ และต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่อยากให้ย่ำอยู่กับที่ อยากให้นักการเมืองมองในเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า

อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" นัดพรรคร่วม-สว.ถกแก้ รธน.รายมาตรา สัปดาห์หน้า

ปปง.-ป.ป.ท. ยึดอายัดทรัพย์สินคดีทุจริต ได้กว่า 4,500 ล้านบาท

สยบดรามา "หมูเด้ง" โชว์หารายได้ สุขภาพดี-ไม่ยอมชั่งน้ำหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง