เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 นางรูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ บริษัท Alphabet และ Google ประกาศการลงทุนสร้าง สร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568-2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ภายในปี 2572
ใน "จับตาสถานการณ์" ไทยพีบีเอส ได้อธิบายในประเด็นนี้ว่า เป็นความสำเร็จที่นายเศรษฐา ทวีสิน กรุยทางให้ แต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สานต่อ โดยจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยการให้ความสำคัญกับระบบ Cloud ถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า การลงทุนของ Google สะท้อนความเชื่อมั่นในประเทศไทย และความพร้อมของไทยทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและแรงงานที่มีทักษะ
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการใช้ Google ในประเทศไทย ก็ไม่น่าแปลกที่จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายลงทุนของ บริษัท Alphabet ซึ่ง Google เป็นเว็บไซต์ที่คนไทยเข้ามาเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยเดือนละ 885 ล้านครั้ง แต่การมี Data Center ทำให้ยกระดับไปกว่านั้น เพราะจะสอดรับกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นทุกวัน จะช่วยสร้างโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้มากขึ้น
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ระบุเกี่ยวกับแผนลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) และ Cloud Region ว่า การลงทุนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสร้างงานใหม่และส่งเสริมการใช้จ่ายในท้องถิ่น โดยเฉพาะในสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศและวิศวกรรม
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูล (Data Center) จะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ช่วยส่งเสริม Digital Economy และ AI Economy การลงทุนของ Google น่าจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติในศักยภาพของไทย อาจดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัทอื่น ๆ
แต่ยังมีคำถามถึงความพร้อม และศักยภาพของแรงงานไทย ดังนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและทักษะของการทำงานในยุคดิจิทัล เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของแรงงานไทย
รวมทั้งยังต้องเพิ่มความปลอดภัย ลดความล่าช้าในการเข้าถึง และตอบสนองกฎหมายการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ ที่ต้องพัฒนาด้านนี้ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกับการส่งเสริมกลไกเพื่อผลักดันให้ ธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีคลาวด์ได้ในต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการเติบโต พัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากต่อไปในอนาคตด้วย และยังมีอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน พ.ค. ไมโครซอฟต์ก็ประกาศจะลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทยเช่นกัน แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ระบุมูลค่าการลงทุนเพียงแต่บอกว่าจะเสริมทักษะ AI ให้คนไทยกว่า 100,000 คน เป็นแนวโน้มที่ดี
แนวโน้มการลงทุน Data Center ของบริษัทชั้นนำ มุ่งมาที่อาเซียนกันเพิ่มมากขึ้น อันดับต้น ๆ คือ สิงคโปร์ แต่เริ่มมีปัญหาข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และพลังงาน หลัง ๆ จึงมีการกระจายการลงทุนไปยังประเทศที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ขณะที่ Google เพิ่งประกาศลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ที่มาเลเซีย ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2567 ใช้เงินลงทุนมากกว่าที่ไทยถึง 1 เท่าตัว หรือ ราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80,000 - 90,000 ล้านบาท ทำให้ต้องคิดต่อแล้วว่า ถึงแม้เราจะได้รับความสนใจลงทุน แต่อะไรคือข้อจำกัดที่ยังดึงดูดเม็ดเงินได้ไม่มากเท่าเพื่อนบ้าน
คำตอบอาจจะอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง อุปสรรคด้านข้อจำกัดทางกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ และศักยภาพบุคลากรของประเทศหรือไม่ การเข้ามาของ Google นับเป็นโอกาสดีที่เราจะปรับปรุงยกระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายยกระดับการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยให้ได้จริง ๆ
อ่านข่าว : กกต.รับรองผลเลือกตั้ง "จเด็ศ จันทรา" สส.พิษณุโลก
คกก.สอบกรณี "ครูเบญ" ขอขยายเวลาตรวจสอบเป็น 15 วัน หวังเก็บหลักฐานเพิ่ม
“วราวุธ” ปัดรู้จัก “ป๋าเบียร์” ปมมีชื่อสมัคร สส.ชาติไทยพัฒนาปี 61