สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หนือเรียกสั้น ๆ คือ "มาตรการส่งดี (Dee – Delivery)" สาระสำคัญ คือ ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ แบบเก็บเงินปลายทาง สามารถ
- เปิดสินค้าก่อนจ่ายเงินได้ โดยต้องเปิดพัสดุต่อหน้าขนส่ง และ ต้องถ่ายภาพ หรือวิดีโอไว้ด้วย
- ถ้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ใช่ของที่สั่ง สามารถไม่รับ-ไม่จ่าย ได้
- ถ้าไม่ได้ตรวจสอบตอนรับสินค้า สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอ ขณะเปิดกล่อง เป็นหลักฐานได้
- ขนส่ง ต้องถือเงินไว้ 5 วัน ก่อนจ่ายให้ร้านค้า
- ตรวจสอบพบปัญหาจริง ขนส่งต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน
นี่เป็นมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเดิมการซื้อสินค้าแบบเก็บปลายทางแล้วมีปัญหา ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิ์คนซื้อ แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ขนส่งมาช่วย "หน่วงเงิน" เก็บปลายทางเอาไว้ ถ้าสินค้ามีปัญหา ก็คืนเงินคนซื้อได้เร็ว
ประกาศนี้ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ในมุมผู้ประกอบการ ร้านค้าออนไลน์ ก็กังวลว่าถ้าไปเจอลูกค้าหัวหมอเปลี่ยนใจ สั่งเล่น ๆ แบบนี้ไม่เสียหายแย่หรือ กฎหมายกำหนดชัดว่าถ้าคนซื้อไม่รับ หรือขอคืนเงิน ต้องมีคลิป มีภาพยืนยันพิสูจน์ได้ ร้านค้าที่ตรงไปตรงมา บอกว่าข้อนี้รับได้ คืนเงินให้ได้
อภัสสร คำนึง แม่ค้าออนไลน์ขายกระถางและสินค้าที่แตกหักง่าย เล่าว่าเฉลี่ยร้อยละ 10 ของออเดอร์ปลายทางที่ถูกตีกลับ ส่วนสินค้าที่เสียหายจะน้อยมาก เพราะเวลาส่งสินค้าจะแพ็กอย่างดี แต่ที่กระทบจริงๆ คือ ของถูกตีกลับ เพราะลูกค้าเปลี่ยนใจ และกฎหมายใหม่ ไม่ได้คุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มออกมาของผู้ประกอบการ แต่ร้านก็จำเป็นต้องคงบริการเก็บเงินปลายทางไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และช่วยให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
4 วันของการบังคับใช้มาตรการส่งดี คงจะเร็วไปที่จะสรุปผลว่ากฎหมายเปิดก่อนจ่าย เก็บเงินปลายทาง ช่วยแก้ปัญหาผู้บริโภคจากการชอปออนไลน์ ได้ครอบคลุมมากน้อยขนาดไหน
อ่านข่าวอื่น :
ติดตั้งเตาเผาปลอดมลพิษ พิธีพระราชทานเพลิงศพ 23 ครู-นร.อุทัยธานี