วันที่ 10 ต.ค.2567 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากชุดเฝ้าระวังช้างในเขตพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่า กล้องเฝ้าระวังได้บันทึกภาพโขลงช้างป่าออกหากิน
ในโขลงช้างป่าดังกล่าว มีลูกช้างอายุไม่เกิน 5 ปี 1 ตัว ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีงายาวถึง 60 เซนติเมตร และลักษณะสง่างาม ถือว่าเป็นความยาวที่ผิดปกติมากสำหรับช้างในวัยนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลูกช้างอายุ 5 ปีจะมีงายาว 10-15 เซนติเมตรเท่านั้น การพบลูกช้างที่มีงายาวมากกว่าปกติเช่นนี้ จึงสร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
เปิดปัจจัย "งาช้างยาว"
ขณะที่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วลูกช้างป่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีขึ้นไป เพราะหลังหย่านม ช่วงอายุ 4-5 ปี ช้างเริ่มกินพืชอาหารและหญ้า โดยมีปัจจัยการหย่านมจากความสูงของลูกช้าง ไม่สามารถแหงนหน้ามากินนมได้ และส่วนใหญ่ลูกช้างตัวผู้จะหย่านมเร็วกว่าตัวเมีย เพราะงาแทงนมแม่ จึงถูกฝึกกินโป่งได้ไว เพื่อเสริมแร่ธาตุ เป็นอาหารเสริมที่สำคัญในการบำรุงกระดูกและฟันของสัตว์ป่า
สำหรับลูกช้างมีความสูงของตัวประมาณ 150 เซนติเมตร และดูจากรอยพับของใบหู พบว่า งายาวเกินอายุเมื่อเทียบกับอายุ ขนาด และส่วนสูง อีกทั้งลูกช้างมีช้างพี่เลี้ยงคอยดูแลและประกบตลอด สะท้อนว่ายังเป็นช้างเด็ก ส่วนปัจจัยที่ทำให้งาช้างยาว มาจากเรื่องการหย่านม
น.สพ.ภัทรพล อธิบายว่าลักษณะงาช้างมี 2 แบบ คือ งาขนาดใหญ่ โคนงากลม เรียกว่างาปลี ส่วนใหญ่จะพบในช้างที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ส่วนลูกช้างตัวนี้ มีลักษณะงาเรียวยาว โค้งงอสวยงาม เรียกว่า งาเครือ เป็นลักษณะเด่นของช้างป่าแก่งกระจาน และกุยบุรี หรือชาวบ้านเรียกว่างาหวาย
2 แร่ธาตุสำคัญในโป่ง
ทั้งนี้ อุทยานฯ แก่งกระจาน และอุทยานฯ กุยบุรี มีการทำโป่งอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้แถลงข่าวร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งตรวจโครงสร้างงาช้างที่ประกอบด้วย ไดแคลเซียมฟอสเฟต และไฮดรอกซีอะพาไทต์ สอดคล้องกับการเสริมโป่งที่แก่งกระจาน ด้วยการเสริมแร่ธาตุอาหารตัวนี้เข้าไป รวมทั้งใช้แร่ธาตุปศุสัตว์ด้วย ไม่ได้ใช้เพียงเกลือแกง
ช้างได้รับสารอาหาร แร่ธาตุจากดินโป่งอย่างเต็มที่ อุดมสมบูรณ์ ทำให้งาของลูกช้างป่าแก่งกระจานแข็งแรง ยาวไว
น.สพ.ภัทรพล กล่าวชื่นชมอุทยานฯ แก่งกระจาน และอุทยานฯ กุยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ของการเสริมแร่ธาตุ สารอาหารในดินโป่ง ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งทำมาในช่วง 2-3 ปี และทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ป่า ส่งผลให้ช้างมีลักษณะงาที่ยาวเร็ว แข็งแรง ถือว่าเป็นข้อดี สามารถขุดดินโป่ง แทงต้นไม้ หาอาหาร เกี่ยวเถาวัลย์ กินอาหารตามธรรมชาติได้ดี ขณะเดียวกันเป็นอานิสงส์ต่อช้างตัวอื่น รวมทั้งเก้ง กวาง กระทิง สามารถกินพืชต่าง ๆ ที่ถูกช้างเกี่ยวลงมาได้ง่าย
ลักษณะงาช้างป่าอุทยานฯ แก่งกระจาน และอุทยานฯ กุยบุรี
แหล่งอาหารสมบูรณ์ ตรึงช้างอยู่ป่า
นอกจากนี้ แหล่งดินโป่งที่อุดมสมบูรณ์ยังช่วยตรึงช้างไม่ให้ออกนอกป่า เพื่อไปหาของกินในครัวของชาวบ้าน โดยเฉพาะของเค็มทั้งเกลือ กะปิ น้ำปลา ปลาร้า เป็นการแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชนที่ต้นเหตุ และเป็นแนวทางดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโภชนาการของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ จะทำสัตว์แข็งแรง ไม่ออกนอกป่า ไม่เกิดความขัดแย้งของคนและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของช้างป่าในประเทศไทย โดยมีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่ 300-350 ตัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรช้างป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งอาหารและน้ำ ทำให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับช้างป่า
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมรอบอุทยานฯ ทำให้เกิดความท้าทายในการจัดการพื้นที่อาศัยของช้างป่าและลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง
ทั้งนี้ โขลงช้างดังกล่าวยังคงวนเวียนหากินอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ได้ออกนอกพื้นที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามช้างป่าของอุทยานฯ คอยเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
อ่านข่าว : 4 พืชใหม่ของโลก "หยาดวานรพักตร์" ดอกไม้หน้าลิงสุดแปลก
กางกฎหมายมาตรฐาน "ปางช้าง" เพื่อสวัสดิภาพช้างที่ดี
ดรามาย้ายช้าง รอ 1 เดือนประเมินใจ "ดอกแก้ว" เพิ่งพ้นน้ำท่วม