ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กมธ.ถก "ขุมทรัพย์ทหาร" จับตา "สนามกอล์ฟ-ที่ดิน-บ่อน้ำมัน-โรงแรม"

การเมือง
12 ต.ค. 67
19:43
639
Logo Thai PBS
กมธ.ถก "ขุมทรัพย์ทหาร" จับตา "สนามกอล์ฟ-ที่ดิน-บ่อน้ำมัน-โรงแรม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย” ซัด ททบ.5 หนี้พันล้าน สวนทางเรตติ้ง แนะควรหยุดกิจการ ด้านสนามกอล์ฟไม่คุ้มเสียโอกาสทำรายได้ประเทศ ควรเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เรียกร้องทัพไทย คืน “บ่อน้ำมันฝาง” ให้รัฐบริหาร มอบสัมปทานเอกชนดึงรายได้ “ธนาธร” แนะทางปฏิรูป ทหาร

วันนี้ (12 ต.ค.2567) งานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ” ที่จัดขึ้นโดยกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร โดยมีคณะกรรมาธิการ อดีตสื่อมวลชนและนักวิชาการร่วมเสวนา

ททบ.5 ขาดทุน-เป็นหนี้ แต่ไม่เลิก

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตสื่อมวลชน กล่าวภายใต้หัวข้อ "ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร" ระบุว่า ทหารถือใบอนุญาตทั้งวิทยุและโทรทัศน์ มากกกว่า 200 ใบอนุญาต มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ถึง 2 เท่า

สถานีวิทยุโทรทัศน์ ทบบ.5 ครอบครองไปอนุญาต 1 ใบ และ 1 คลื่นวิทยุ ตั้งมาเพื่อความมั่นคง แต่ไม่ตอบโจทย์ ความมั่นคง เพราะมีเนื้อหาแค่ 8 % เรตติ้งน้อยมาก มีผู้ชมเพียง 8,000 คน มีกำไรเพียงปี 2560 แค่ปีเดียว หลังจากนั้นขาดทุนมาโดยตลอด

เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กองทัพบก มีภาระหนี้สิน ที่ทำการกู้โยงกันไปมา ภายในหน่วยงาน และกู้เงินจากธนาคารทหารไทยกว่า 1,615 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการดาวเทียม ซึ่งสถานีททบ.5 ต้องเป็นหนี้บริษัท RTA Entertainment ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น RTA Enterprise

ล่าสุด บริษัทดังกล่าวจากการตรวจสอบปี 2566 มีหนี้สิน 1,005 ล้านบาท ทางสถานีททบ.5 ก็ยังยืนยันให้การสนับสนุนบริษัทนี้ต่อ แม้ว่าจะขาดทุน ซึ่งผู้ถือหุ้น 49 % ก็ยังคงเป็นกองทัพบก

นายสุภลักษณ์ระบุอีกว่า กองทัพบกจะแจ้งต่อระบบภาษีของ RTA Enterprise ได้อย่างไร เมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ และบรรดานายพลทั้งหลาย ที่เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท RTA Enterprise อยู่ได้อย่างไร ในเมื่อคำสั่งการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้จัดการบริษัท หรือกรรมการบริษัท หรือแม้แต่อ้างชื่อ

ขณะที่ผู้บริหาร ททบ.5 มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการหลายครั้งว่า บริษัทดังกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกัน แต่ยอมรับว่าบริษัทมีสถานะเป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะบังคับการชำระหนี้ ซึ่งอาจบอกได้ว่า หนี้นี้เป็นหนี้เสีย ที่อาจจะเป็นหนี้สูญ พร้อมมีข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรดำเนินธุรกิจต่อไป

"สนามกอล์ฟ" เกือบ 60 แห่ง พื้นที่ 2 หมื่นไร่

ขณะที่ นายเชตวัน เตือประโคน รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวภายใต้หัวข้อ "สนามกอล์ฟมีไว้ทำไม" ว่า สนามกอล์ฟของกองทัพมีทั้งสิ้น 57 แห่ง พื้นที่รวม 20,000 ไร่ กองทัพเรือ 4 สนาม กองทัพอากาศ 13 สนาม และกองทัพบก 40 สนาม โดยมี 4 สนาม ที่กองทัพไม่สามารถชี้แจงได้

เหตุผลของการมีสนามกอล์ฟนั้น กองทัพชี้แจงว่า เป็นสถานที่ออกกำลังกายของทหาร ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ใช้ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของสนามกอล์ฟเอกชน และสนามกอล์ฟกองทัพ มีไว้เพื่อการจัดการบริหารพื้นที่ ใช้คำว่า เป็นเรื่องของความมั่นคง เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม

ซึ่งในภายหลังกองทัพออกมาชี้แจงว่า เป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย โดยเสนอให้เปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนกว่า 300,000 คน ที่อยู่โดยรอบจะได้ใช้ประโยชน์ การมีรายได้กำไร 11 ล้านบาทต่อปี กับที่ดิน 600 กว่าไร่ มูลค่าที่ดินกว่าหมื่นล้านบาท ถือว่าไม่คุ้มทุน เสียโอกาสในการทำรายได้ให้กับประเทศ เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟอื่น ๆ ควรทำเป็นสวนสาธารณะหรือศูนย์กลางคมนาคม

จับตางบ 400 ล้าน อุ้ม "บ่อน้ำมันฝาง"

ขณะที่ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในหัวข้อ “ขุมทรัพย์พลังงาน” ว่า กองทัพไทยเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ใต้ดิน ที่ผูกขาดมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางคนไทยที่ต้องใช้น้ำมันแพง โดยรายได้ไม่ต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ใช้เหตุผลว่า สำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

บ่อน้ำมันฝางที่อยู่ในพื้นที่การดูแลของ ส่วนพัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ของกรมการพลังงานทหาร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแพร่ ซึ่งอยู่นอกกฎหมายปิโตรเลียม ที่รัฐไม่ต้องสัมปทานให้ใคร ไม่ต้องรายงานการผลิต ซึ่งมีกำลังการผลิต 1 % ของกำลังการผลิตทั่วประเทศ

ซึ่งสวนทางกับข้ออ้างที่ว่า เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในห้วงวิกฤต แต่มีการตั้งคำถามว่า กองทัพต้องการครอบครองไว้เพื่อประโยชน์ของกองทัพหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย

น.ส.เบญจา ระบุว่า ต้องจับตาว่า จะมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินกิจการดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากมองแล้วไม่คุ้มค่า ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมขนาด 10.4 เมกะวัตต์ ตนตั้งคำถามว่า รายได้มหาศาลในการลงทุนธุรกิจพลังงานครบวงจร เป็นเงินอุดหนุนที่เก็บไว้ใช้จ่ายในค่ายทหาร ไม่ต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินนั้นไปไหนหมด

รวมไปถึงโรงแรมหรู 5 ดาวของกองทัพ รีสอร์ทสิรินพลา ระยอง ที่ใช้เงินอุดหนุนของบ่อน้ำมันฝาง ประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ในอนาคตจะเป็นภาระด้านงบประมาณที่รัฐและประชาชน จะต้องเข้าไปช่วยอุ้มธุรกิจต่อไปหรือไม่

แนะให้เอกชนบริหารโรงแรมทหาร

น.ส.เบญจา มองว่า ถึงเวลาและที่กองทัพจะต้องคืนสิทธิ์ในทรัพยากร คืนสมบัติของชาติ ให้รัฐนำไปจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศ คืนทรัพยากรใต้ดินให้กับรัฐ เพื่อมอบสิทธิ์ให้กับเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตนำทรัพยากรนี้มาใช้พัฒนาประเทศ

และมั่นใจว่ารัฐจะได้เพิ่มขึ้น ส่วนโรงแรมริมหาด 5 ดาว ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่า บริหารแบ่งรายได้ส่งให้รัฐ เป็นสวัสดิการให้กับประชาชนและกำลังพลชั้นผู้น้อย เพื่อความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ถึงเวลาให้คืนนายทหารให้ประชาชน และคืนนายพลให้เขากลับไปทำงานในกองทัพ

เผยไม่ส่งงบฯ ให้ กมธ.ตรวจสอบ

ด้าน นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรคประชาชน กล่าวภายใต้หัวข้อ “เจ้าที่ดิน ที่ดินของรัฐในมือกองทัพ” ว่า ประเทศไทยมีเพียงจังหวัดเดียวที่ไม่มีที่ดินของทหาร คือ อ่างทอง โดยกองทัพบกมีที่ดินราชพัสดุมากที่สุด ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ชุมชนแออัดกว่า 600 ไร่ เมื่อเทียบกับทหารที่มีที่ดินมากมาย

จึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของกองทัพ โดยตั้งคำถามถึงอาณาจักรที่ดินที่มากมาย และไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ ไม่สามารถตรวจสอบได้ คือไม่ได้ส่งงบการเงินตามที่กรรมาธิการร้องขอ รวมไปถึงสนามมวย ที่มีรายได้มากที่สุด แต่กลับไม่ส่งงบการเงินให้กรรมาธิการ

ขอให้มองว่านโยบายปฏิรูปกองทัพ เป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าคิดว่าไกลเกินไป และไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะหากงบไม่ได้เข้ากระเป๋ากองทัพ ก็จะประหยัดเงินที่จะต้องไปกู้จากธนาคารต่างประเทศ เพื่อให้ใช้จ่ายในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ได้

เปิดหลากหลายกิจการของกองทัพ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา กล่าวในหัวข้อ ธุรกิจชิล ๆ สากกะเบือยันเรือรบ ว่า กองทัพมีหลายกลุ่มธุรกิจ อย่างภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาที่สังกัดกองทัพบก มีค่ายทหารมากกว่า ศาลากลาง มีจำนวน 107 ค่าย มีสถานที่ท่องเที่ยวในค่ายกว่า 307 แห่งทั่วประเทศ ธุรกิจที่พักที่มาควบคู่กับการท่องเที่ยว ธุรกิจพรีเวดดิ้ง โดยยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพมีงบประชุมสัมมนามากที่สุด แต่กลับไม่ไปพักยังสถานที่ของหน่วยงานตัวเอง

การประกอบกิจการขนส่งมวลชน ธุรกิจเรือลอยอังคาร ธุรกิจเลี้ยงปศุสัตว์และทำการเกษตร โดยมีความพยายามชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจของกองทัพมีหลากหลายประเภท แต่กลับไม่ทราบผลกำไร

นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า การทำงานตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ของกรรมาธิการการทหาร ทำงานค่อนข้างยากลำบาก กองทัพไม่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการของบย้อนหลัง ปฏิเสธการถูกตรวจสอบ

คงไม่เกินจริงเกินไปที่กองทัพ มีอิสระในการสร้างรายได้หาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า แย่งงาน แย่งอาชีพ ของประชาชน และทหารเองมีต้นทุนทางที่ดินจำนวนมากเกินความจำเป็น และงบประมาณปีละ 2 แสนล้าน รวมไปถึงกำลังพลผลัดเปลี่ยนเข้ามา 100,000 คนทุกปี

เราไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ปัญหาคือทรัพยากรที่กองทัพถือครองมากเกินไป เกินความจำเป็น จึงหารายได้เข้ากระเป๋า หากเป็นไปได้ข้อเสนอของตน อยากให้พิจารณาทบทวนทรัพยากร ที่จะสั่งให้กองทัพใหม่

"ธนาธร" เรียกร้องปฏิรูป "กองทัพพาณิชย์"

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในหัวข้อ “ข้อเสนอผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม” ว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเวลาพูดถึงกองทัพพาณิชย์ การปฏิรูปพาณิชย์กองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งพรรคประชาชนยังไม่ได้ประกาศ แต่จะนำนโยบายของก้าวไกลมาพัฒนา

ซึ่งการปฏิรูปกองทัพรัฐบาลต้องอยู่เหนือกองทัพ และกองทัพต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ ทหารต้องออกจากการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7 ปี หลังจากเกษียณราชการ แก้ไข พ.ร.บ.สภากลาโหม ยกเลิกศาลทหารในสถานการณ์ปกติ ลดขนาดกองทัพลงร้อยละ 30 ลดจำนวนนายพลให้เหลือแค่ 400 นาย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เพิ่มสวัสดิการเพิ่มแรงจูงใจ ในการสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกกอ.รมน นำงบประมาณและบุคลากรมา จัดสรรใหม่

หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นจริง แต่สิ่งที่จับต้องได้คือ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก กอ.รมน. สถานะถูกนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ปัดตกไม่ได้เข้าสภาฯ ด้วยให้เหตุผลว่า เป็นร่างที่อำนาจไม่เกี่ยวข้องกับนายกฯ

ส่วนร่างพ.ร.บวินัยการเงินการคลัง การยกเลิกเงินนอกงบประมาณของกองทัพถูกตีตก เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่จะปฏิรูปกองทัพ ธุรกิจกองทัพถูกตีอยู่ในกองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัท

การปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่การลดสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย เพราะงานการใช้งบประมาณจากธุรกิจกองทัพมีความไม่แน่นอน เหมือนการของบประมาณ

อ่านข่าว : ชาวชุมชนตลาดน้อย กทม.เตรียมรับน้ำทะเลหนุนพรุ่งนี้

เบตงอ่วม น้ำป่าซัดบ้านพัง 10 หลัง ตาย 1 - ดินสไลด์ขวางถนน

ยังไม่แจ้งข้อหา "บอสพอล" แซม-มิน เข้าให้ข้อมูลตำรวจ ปคบ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง