เจอแรงต้านรัวๆ ทำให้ยังไม่สามารถแต่งตั้ง ประธานกรรมการแบงค์ชาติคนใหม่ได้ จนต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ หลัง “วิเรขา สันตะพันธุ์” เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกัน ต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมออกไป เป็นวันที่ 11 พ.ย.นี้
เป็นเรื่องยากปฎิเสธ เมื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แคนดิเดตคนสำคัญ ไม่สามารถสลัดภาพ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลังของพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปได้ จึงไม่แปลกที่จะถูกกระแสต่อต้านจาก กลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัน และผู้บริจาคทองคำเก็บเข้าคลังของประเทศ
และกลุ่มอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ว่าจะเป็น มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล, ธาริษา วัฒนเกส .ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ รวมถึงนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ด้วยหวั่นธปท.จะถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน
แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอชื่อ “กิตติรัตน์” แต่แบงค์ชาติก็ไม่ยั่น เสนอทางเลือกใหม่เป็นผู้เข้ามาชิงอีก 2 รายชื่อ คือ กุลิศ สมบัติศิริ และ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ แต่ดูเหมือนว่า “กิตติรัตน์” จะได้รับแรงหนุนจากฝ่ายการเมืองอย่างเต็มสตีม โดย “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า เหตุที่เลื่อนการสรรหา ...ต้องไปถามประธานคณะกรรมการสรรหา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของตน
“จริง ๆ ไม่เห็นประเด็นที่จะต้องคัดค้านนายกิตติรัตน์ อย่างนั้น ก็ทำงานไม่ได้เลย ...ผมคิดว่านายกิตติรัตน์เข้าไปก็เป็นมืออาชีพ รู้ทั้งเรื่องการเงิน การคลัง และหากเข้าไปก็จะพูดคุยในมุมมองที่กว้างขึ้น แต่เรื่องนี้ต้องไปถามนายกิตติรัตน์ ผมตอบแทนไม่ได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาหากเข้าสู่กระบวนการแล้ว หากตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดของแบงก์ชาติ“ นายภูมิธรรม กล่าว
เจอกันอีก 11 พ.ย. “ตั้ม” พิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชา ชนปฏิรูปประเทศไทย ( คปท.)และกองทัพธรรม ซึ่งนัดรวมตัวกันที่หน้าแบงก์ชาติ เพื่อยื่นหนังสือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถึงกรณีมีนักการเมืองแทรกแซงการปฏิบัติงานของแบงก์ชาติ ให้กับผู้แทนแบงก์ชาติ บอกว่า แม้จะเลื่อนการสรรหาฯออกไป แต่คปท.ได้นำรายชื่อผู้คัดค้านกว่า 2 หมื่นชื่อ มายื่นหนังสือให้กับแบงก์ชาติ เพราะเห็นว่า มีฝ่ายการเมืองพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงาน
“ที่น่ากังวลมากที่สุด คือ กรณี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการ ธปท. เสนอชื่อนายกิตติรัตน์เข้ามาเป็นแคนดิเดตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า นายกิตติรัตน์ มีความเกี่ยวข้องกับทางการเมือง ดังนั้น จึงกังวลเรื่องความมั่งคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอนาคต”
ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า ฝ่ายการเมืองยอมถอย อาจมีการเสนอชื่อ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้ามาประกบแข่งกับ “กุลิศ สมบัติศิริ ”ที่ธปท.เสนอ
เกาะกูดยังไม่จบ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ยกเลิก MOU44 และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด เกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้นเขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้ไว้ให้เรา ในวันนี้ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้นจะมีข้อตกลงอะไรต้องมีคณะทำงาน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย
“เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าว คือ การที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 เราขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโออยู่ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่า เราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้
ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 นั้น นายกฯ ตอบว่า ยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยู เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ
ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์ และ... 1.เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด 2. เอ็มโอยู คือ เรื่องระหว่างสองประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3. เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับข้อตกลง
“ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทย ต้องมาก่อนคนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด”
ทวงจุดยืนอดีตพรรคร่วม “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีที่ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี พ.ศ.2544 (MOU2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.2552 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายจนถึงปัจจุบัน
“พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น ที่เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU2544 ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ทั้งผู้นำพรรค สมาชิกพรรคหลายท่านก็นั่งอยู่ในรัฐบาลชุดนี้”
สนธิรัตน์ ระบุว่า อยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน เรื่องจุดยืนการยกเลิก MOU2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น เป็นการร่วมปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ไม่ให้เอื้อประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใด” นายสนธิรัตน์ กล่าว
อ่านข่าว : กต.ยัน "เกาะกูด" เป็นของไทย ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 44
ไทยเริ่มต้น "ฤดูหนาว" อุณหภูมิสูงกว่าปกติ 1 องศาฯ
“ร็อคเก็ตทึ” Deepfake Song ล้อเลียน “APT.” จากพี่น้องตระกูลคิม