ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปกป้อง "กล่องดวงใจ" กางเกงในชาย ยกระดับโชว์ "ติดแกลม"

ไลฟ์สไตล์
8 พ.ย. 67
12:34
1,924
Logo Thai PBS
ปกป้อง "กล่องดวงใจ" กางเกงในชาย ยกระดับโชว์ "ติดแกลม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"กล่องดวงใจ" เป็นเรื่องใหญ่ของผู้ชายทั่วโลก ในอดีตกาลไม่เคยมีการศึกษาว่า ในยามใช้ชีวิตปกติ หรือออกรบทัพจับศึก บุรุษชาติอาชาไนย เคยประสบปัญหาเรื่องจุดซ่อนเร้นหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาอับชื้น ที่ส่งผลให้เกิดแบคทีเรียสะสม หรือ "โรคติดต่อ" ที่มาจากกิจวัตรต่าง ๆ ในยามนั้น แม้จะมีข้อมูลย้อนหลังจากการขุดสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ในปี 1922 จนพบหลักฐานว่า ในสมัยอียิปต์โบราณ เมื่อ 7,000 ปีก่อน มีการใช้กางเกงในแล้ว

จากภาพวาด และหลักฐานพบ "กำเนิด"กางเกงในยุคโบราณ เรียกว่า "เชนติ" ทำมาจากผ้าฝ้ายหรือผ้าเฟล็กซ์ มีลักษณะเป็นการนำผ้ายาว ๆ มามัดเป็น "เตี่ยว" เพื่อคลุมและเก็บ "กล่องดวงใจ" ให้เป็นรูปทรง และในภายหลังได้มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ และหากย้อนกลับไปในอดีต จุดประสงค์ของกางเกงใน ไม่ได้สวมใส่เพื่อการปกป้องอวัยวะเพศหรือจุดซ่อนเร้น จากสิ่งเร้า ไม่ให้เกิดอาการหรือภาวะ "ไข่เบียด" "ไข่ดัน" "ไข่ย้อย" เท่านั้น

แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษ 2024 ยังมีประเด็นของการสวมใส่เพื่อ "ติดแกลม" หรือ การอวดความหรูหรา (ติดแกลม เป็นศัพท์สแลงจากโซเชียลมีเดียที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ "Glamorous" หมายถึง น่ามอง, มีเสน่ห์ และ ดึงดูดใจ ติดสวย ติดหรู ติดของราคาแพง การใช้ชีวิตแบบหรูหรา ฟุ่มเฟือย)

กางเกงในสำหรับผู้ชายก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากมีนวัตกรรมในการป้องกัน "กล่องดวงใจ" แล้วยังช่วยสงบศึก ปัญหาไข่เบียด เสียดสี และตีกันอีกด้วย

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

วิวัฒนาการกางเกงใน "กล่องดวงใจ" ของต้องป้องกัน

ตามประวัติศาสตร์ วัตถุประสงค์การตัดเย็บกางเกงในขึ้นมาเพื่อปกป้อง "กล่องดวงใจ" จากภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีที่หว่างขา แมลงสัตว์กัดต่อย สิ่งสกปรกจากสภาพแวดล้อม เมื่อ 7,000 ปีที่แล้ว รูปลักษณ์ของกางเกงใน มีลักษณะคล้ายรูปตัว Y เป็นการนำผ้ายาว ๆ มามัดเป็น "เตี่ยว" เพื่อคลุมอวัยวะเพศชายเพื่อรักษารูปทรง

โดยวิธีการมัดผ้าเตี่ยวนั้น อยู่ที่ "สถานะทางสังคม" ของผู้สวมใส่ หากเป็นขุนนางหรือข้าราชบริพาร ก็จะมัดแบบธรรมดาๆ แต่หากเป็นกษัตริย์ จะมีวิธีการมัดผ้าอย่างประณีต ให้เป็นรูปทรงที่สวยงาม หรือบางหลักฐานก็ชี้ว่า การสวมใส่กางเกงในสงวนไว้ให้วรรณะกษัตริย์เท่านั้น ชนชั้นอื่น ๆ ต่าง "ล่อนจ้อน" ทั้งแผ่นดิน

นอกจากนี้ กางเกงในยังเป็นเครื่องบ่งบอก "สถานภาพทางสังคม" ความเป็นเผ่าพันธุ์ ชนชาติ หรือสังกัดได้อีกด้วย เช่น ชาวสปาร์ตัน เผ่าพันธุ์นักรบสุดแกร่ง กล้ามเป็นมัด ๆ ในสมัยกรีกโบราณ นิยมสวมใส่กางเกงในแบบ "สามเหลี่ยมคว่ำ" ทั้งในยามสงบ และในยามออกศึกสงคราม หรือชาวโรมันสวมใส่กางเกงในที่มีขาสองข้าง (คล้ายบ็อกเซอร์) และถุงเท้า

ส่วนประชาชนทั่วไปหรือข้าทาสบริวาร แทบไม่มีโอกาสได้สวมใส่กางเกงใน เพราะถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้เวลานานกว่าจะสวมใส่ได้ ไม่สอดรับกับวิถีชีวิตที่ต้องใช้แรงงานหนัก ดังนั้น ไพร่และทาสจึงใส่กางเกงในแบบลวก ๆ เพื่อ "ปิดบัง" ของลับเท่านั้น อาจจะใช้ผ้าขาวบาง หรือใบไม้มาปกปิดแทน

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ในยุคกลางที่ศาสนาคริสต์เรืองอำนาจ เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่โรคที่เกี่ยวข้องกับของลับผู้ชาย โดยเฉพาะ "สังคัง" หรือ "โลน" ศาสนจักรจึงรณรงค์ให้ใส่กางเกงในเพื่อ "สุขอนามัย" มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะฐานะอะไรก็ใส่กางเกงในทั้งสิ้น เพียงแต่ "วัสดุ" และการตัดเย็บแตกต่างกันไปตามฐานะ วัตถุประสงค์ของการใส่กางเกงในในยุคกลางจึงเปลี่ยนเป็น "เพื่อความสะอาด" แทน

อย่างไรก็ตาม อาการใต้หว่างขาที่เกิดจากเชื้อโรคก็ส่วนหนึ่ง แต่อาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย "ภายใน" เช่น อาการ "ไข่ดัน" ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมผิดปกติ จนส่งผลให้ลูกอัณฑะนั้นใหญ่ผิดปกติ หรือ "ไส้เลื่อน" ที่ลำไส้เกิดการเคลื่อนที่ลงมากองบริเวณถุงอัณฑะ "ถุงน้ำลูกอัณฑะ" ที่มีน้ำสะสมบริเวณลูกอัณฑะจำนวนมากและโป่งพองออกมา เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) คริสต์ศตวรรษที่ 14-16)

ดังนั้น กางเกงในจึงทำหน้าที่ในการ"ป้องกันและบรรเทา" อาการดังกล่าว โดยวิธีการป้องกัน คือ หากอัณฑะลดการ "เสียดสี" หรือการเคลื่อนตัว ก็จะทำให้อาการข้างต้นลดลง ส่วนการบรรเทา คือ อาการข้างต้นต้องมีการผ่าตัดใหญ่ การใส่กางเกงในให้มิดชิดจะช่วยลดอาการติดเชื้อหรือบาดทะยักได้ ตรงนี้ การออกแบบกางเกงในให้ "เข้ารูป" จึงจำเป็นอย่างมาก ต้องไม่คับเกินไปและไม่หลวมเกินไป

กางเกงในมีการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์เดิม เพียงแต่วัสดุที่ใช้นั้นมีการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จากแต่เดิมที่ใช้ผ้าฝ้าย ก็เริ่มมีการใช้ผ้าอื่น ๆ เข้ามาตัดเย็บ เช่น การใช้ผ้าร่มหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ เพื่อออกแบบกางเกงในสำหรับ "เล่นกีฬา" การใช้ผ้าไหมเพื่อระบายความอับชื้นได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อเข้าสู่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สถานะของ "กางเกงในผู้ชาย" ก็เปลี่ยนบทบาทไปเป็นการสวมใส่เพื่อ "แฟชั่น" อย่างคาดไม่ถึง

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

"ติดแกลม" ฟังก์ชันใหม่ ยกระดับ"กางเกงในผู้ชาย"

แม้กางเกงในมีไว้เพื่อการปกป้อง "กล่องดวงใจ" ที่ผู้ชายทุกคนรักยิ่งชีพ แต่เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนวัตกรรมใหม่แล้ว ยังได้มีการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง คือ การสวมใส่แบบ "แฟชั่น อวดหรู" แก่บุคคลอื่น ๆ โดยมีการออกแบบสีและลวดลายใหม่บนผ้า ที่ใช้ผลิตกางเกงใน

ข้อเท็จจริง สถานะของกางเกงใน มักจะไม่ได้มีการเปิดเผย หากไม่ได้ถ่ายแฟชั่นโชว์ในชุดว่ายน้ำ หรือกิจกรรมปกติทั่วไป แต่มีงานศึกษา เกี่ยวกับการหน้าที่ของกางเกงในผู้ชายว่า แม้จะไม่มีใครเห็น แต่ "ผู้สวมใส่" ย่อมรู้ดีว่ากางเกงในที่สวมใส่นั้นราคาเท่าไร ใช้วัสดุอะไร มีแบรนด์หรือไม่ หากกางเกงในนั้นราคาสูง ใช้วัตถุดิบผลิตเกรดดี และแบรนด์ระดับโลก ย่อมทำให้ผู้สวมใส่เกิด "ความรู้สึกทางใจ" เปี่ยมล้น มากกว่าการใส่กางเกงในที่หาซื้อได้ตามตลาดทั่วไป

งานศึกษา The Theory of the Leisure Class: An Economic Study in the Evolution of Institutions ชี้ว่า การบริโภคของหรูนั้น "ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง" คือ ได้คุณประโยชน์จากสินค้า และ "สถานภาพ" ที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคสินค้า โดยในกรณีของกางเกงใน นอกจากจะได้ฟังก์ชันการปกป้องหว่างขาจากอันตรายแล้ว ผู้สวมใส่ยังจะได้รู้สึกถึงความ "โชว์เหนือ" กว่าบุคคลอื่น ๆ ตามไปด้วย แม้จะอยู่ในร่มผ้าก็ตาม

นอกจากนี้ กางเกงในถือเป็นสินค้าหรู "ที่จับต้องได้" มากกว่าสินค้าเครื่องแต่งกายประเภทอื่น ๆ ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ใช้วัตถุดิบไม่มาก ตัดเย็บง่าย ทำให้กระบวนการผลิตและตัดเย็บไม่ต้องพึ่งพาทักษะการตัดเย็บที่สูงมากมายอะไร ดังนั้น แม้จะใช้ผ้าแพรราคาแพงจากดูไบมาตัดเย็บ ราคาที่ประชาชนพอจะจับต้องได้ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม "ติดแกลมได้ทุกวัน (Everyday Luxury) " เพิ่มมากขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า ในเมื่อเราซื้อเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ ที่หรูหราราคาแพงไม่ได้ อย่างน้อย ๆ ขอให้กางเกงในหรูหราก็ยังดี

โดยเฉพาะในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 การใส่กางเกง "เอวต่ำ" เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ทำให้มองเห็น "ขอบกางเกงใน" กางเกงในที่เคยเป็นเครื่องแต่งกายในที่ลับ ก็เผยโฉมออกสู่สายตาผู้คนได้ อย่างไม่รู้สึกน่าเกลียดแต่อย่างใด และกลายเป็นแฟชั่นโชว์ขอบกางเกงในที่ได้รับความสนใจจากผู้ชายทั่วโลก

แบรนด์แรก ๆ ที่ทำการตลาดด้านกางเกงในในฐานะของหรู คือ กางเกงในสัญชาติสหรัฐฯ โดยเลือกจะปักชื่อแบรนด์ลงบนขอบกางเกงในเพื่อทำให้เกิดภาพติดตา และใช้วัสดุที่พรีเมียม ขายราคาแพง ทำให้ผู้พบเห็นว่า ชายใดที่ใส่แบรนด์นี้ แสดงว่าสถานะทางการเงินต้องดีมาก ๆ ผู้สวมใส่จึงสามารถอวดสถานภาพทางสังคม หรือ "ขิง" ผู้คนได้ด้วยการใช้กางเกงในไปโดยปริยาย

ยิ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของการเรียกร้อง "สิทธิและเสรีภาพในร่างกาย" และ "การยอมรับความหลากหลาย" ทำให้ "เส้นแบ่ง" ระหว่างกางเกงในและกางเกงปกติ "เบาบางลง" เรียกได้ว่า มีการออกแบบให้กางเกงในสามารถจะใส่ออกมาเดินเล่นในสถานที่สาธารณะได้อย่างไม่เคอะเขิน แบรนด์ของชุดชั้นในกีฬา ที่ออกแบบให้กางเกงในสามารถที่จะเข้ารูปพอดีกับลูกอัณฑะ สามารถใส่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ใส่ออกกำลังกาย ใส่นอน ใส่เดินเล่น หรือกระทั่งใส่มาทำงาน กลมกลืนไปกับกางเกงแบบอื่น ๆ

แบรนด์ Exclusive ตอบโจทย์ "ลูกผู้ชายตัวจริง"

เมื่อสังคมเปิดกว้างเรื่องกางเกงในที่สามารถใส่ออกมาเดินในสถานที่สาธารณะได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ กางเกงในยังคงผลิตออกมาจากแบรนด์จำนวนมากเป็นสินค้า "แมส" ขายให้ทุกคน ต่อ

ให้ออกแบบอย่างรัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะ "เข้ารูป" กับอัณฑะหรือองคชาตของบุรุษได้อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภค "ปรับแต่งเอง" หรือ "Customisation"

คริสต็อง ลูบูแต็ง นักออกแบบชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ของหรูหราไม่ใช่การบริโภคนิยม ที่จะผลิตออกมาจำนวนมาก ๆ และอ้างว่า ออกแบบมาเพื่อทุกคน แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภครับรู้ผ่านสายตาได้ว่า คุณภาพพิเศษสุด ๆ เพื่อเขาโดยเฉพาะ ของหรูจึงจะเข้าใกล้ผู้บริโภคได้มากขึ้น หมายความว่า ของหรูหราคือ สิ่งของเฉพาะ มีชิ้นเดียวในโลก และออกแบบมาเพื่อบุคคล ไม่ซ้ำแบบใคร

ดังนั้น ในวงการเครื่องแต่งกายและแฟชั่นจึงปรับเปลี่ยนมาให้ลูกค้าสามารถที่จะออกแบบและกำหนดผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์มากที่สุด แต่ก็เก็บค่าบริการราคาสูงเสียยิ่งกว่ากางเกงในหรูหราที่ผลิตออกมา ทั้งนี้ เพื่อความ "Exclusive" โดยเฉพาะ

ไบรอัน ทรูนโซ นักออกแบบผลิตภัณฑ์อาวุโส ที่คลุกคลีในวงการแฟชั่นมาช้านาน ย้ำเตือนว่า การเปิดโอกาสให้ลูกค้าปรับแต่งกางเกงในเองได้เป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าก็จริงอยู่ แต่อย่าลืมว่าของหรูหราที่แท้จริงนั้น มาจาก "การสั่งสมความขลังมาช้านาน" เพื่อสร้าง "เรื่องราว" ให้กับสินค้า หากทำได้ตามนี้ แม้แต่ผ้าฝ้ายธรรมดา ๆ ก็ขายในราคาแพงได้เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง

The Story of Men's Underwear, "Men Feel Swell in…"1 Men’s Underwear: Functional Necessities or Desirable Luxuries?, The Theory of the Leisure Class: An Economic Study in the Evolution of Institutions

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สอบ 11 ชม. "ทนายตั้ม-ภรรยา" ให้การปฏิเสธคุมฝากขังวันนี้

วงการบันเทิงสูญเสียนักแสดงอาวุโส “คุณยายบรรเจิดศรี” อายุ 100 ปี

"APT." หลอนหู ส่ง "โรเซ่ Blackpink" ทำสถิติขึ้นที่ 2 ชาร์ตเพลงอังกฤษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง