ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดฉาก COP 29 "ภูมิอากาศ" เงิน เงิน เงิน กับโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ

ต่างประเทศ
12 พ.ย. 67
10:39
464
Logo Thai PBS
เปิดฉาก COP 29  "ภูมิอากาศ" เงิน เงิน เงิน กับโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ประเด็นสำคัญการประชุม COP29 หรือการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย.นี้ ที่เมืองบากู ประเทศอัลเซอร์ไบจาน คือ หาเงินสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยมาให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศยากจน และเกาะเล็กเกาะน้อย ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จำนวนเงินที่พูดถึง อยู่ที่ประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องมีการลงขันกัน แต่ประเทศร่ำรวยยังไม่ขยับ

ที่ประชุมนี้ ยังจะพิจารณาและสนับสนุนการเพิ่มเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นโครงการสีเขียว การสร้างเทคโนโลยีสะอาด และการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศร่ำรวยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าใคร ๆ ดังนั้นการจะลดก๊าซดังกล่าวต้องให้ประเทศมีอุตสาหกรรมทันสมัย เข้ามามีส่วนประเมินและวางแผนลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

การประชุม COP29 ครั้งนี้ อยากเห็นประเทศต่าง ๆเพิ่มขีดความสามารถในการ วางแผนและการปรับตัวในเรื่อง การป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

COP29 ยังเป็นเวทีติดตามความคืบหน้าของคำมั่นของประเทศต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส โดยมีการเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ที่ประชุมคงจะหยิบยก ประเด็น ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมส์ ว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

สำหรับไทยมีแผนค่อนข้างครอบคลุม คือ ได้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์สุทธิ (Net Zero Emission) ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน หลายประเทศวิจารณ์ว่า มันเป็นราคาคุยของรัฐบาลไทยชุดก่อน เป้าหมายนี้ยากที่จะทำสำเร็จได้ ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาห กรรม พลังงาน และภาคการเกษตร

นอกจากนั้น ไทยยังได้ตั้งเป้า เป็นประเทศปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สมดุลกับปริมาณที่สามารถดูดซับกลับได้ เช่น การปลูกป่าเพิ่มหรือใช้เทคโนโลยีจับและเก็บคาร์บอน

ระหว่างสมาชิกอาเซียน ไทยมีความทะเยอทะยานมากกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030 ที่เป็นนโยบายออกมา คือ ในระยะกลาง ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 40% ภายในปี 2030 (ภายใต้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการเงินจากนานาชาติ) โดยเป้าหมายนี้ สอดคล้องกับแนวทางการมีส่วนร่วมที่ไทยเสนอใน COP26 เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไทยได้สนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน (solar, wind) และพัฒนาระบบขนส่งที่สะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะ รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ และส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเด็นนี้ ไทยได้สร้างชื่อเสียง เพราะหลายประเทศที่พัฒนาแล้วได้นำไปปรับเป็นนโยบายแห่งชาติ หลังไทยเสนอเศรษฐกิจแผนใหม่ตอนเป็นประธานการประชุมเอเปคปี 2022

ต้องยอมรับว่า ชื่อเสียงไทยดีมาก ในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมียุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซและเพิ่มการดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ

ในเวที COP29 ครั้งนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นสมาชิกของกลุ่ม G77 และกลุ่มอาเซียน ซึ่งต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ :ตัวอย่างเช่นอุทกถัยในภาคเหนือของไทยและเวียตนาม

ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ใช้โมเดลไทยในการผลักดันเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทาง Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 ไทยจึงมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ไทยยังสามารถเป็นกระบอกเสียง ในเวทีระหว่างประเทศให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเรื่องการกระจายการสนับสนุนอย่างเป็นธรรม ให้กับประเทศเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เกษตรกร ชุมชนชายฝั่ง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในฐานะสมาชิกอาเซียน ไทยได้ผลักดันให้อาเซียนมีนโยบายร่วมในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค เช่น การพัฒนากลยุทธ์ Green ASEAN และการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง