ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดช่องก่ออาชญากรรมหลังกำแพง “ ผู้คุมน้อย - นักโทษล้นคุก ”

อาชญากรรม
12 พ.ย. 67
12:04
168
Logo Thai PBS
เปิดช่องก่ออาชญากรรมหลังกำแพง “ ผู้คุมน้อย - นักโทษล้นคุก ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ฝ่ายผู้ก่อเหตุ ยอมรับ 6 รุม 1 ใช้เหล็กแหลมรุมแทงอริ กลางแดน 5 เรือนจำพิเศษมีนบุรี ด้านราชทัณฑ์ รับ กระทบกระทั่งกันบ่อยพยายามอย่างดูแลเต็มที่แล้ว แต่ผู้คุมมีน้อย ทำได้ไม่ทั่วถึง

จุดเกิดเหตุ พบเหล็กแหลมและช้อนยาว ถูกดัดแปลง เป็นอาวุธประดิษฐ์ อีกด้านพันไว้ด้วยเชือก เพื่อให้จับได้ถนัดมั่นมือ และเล็กพอที่จะซุกซ่อนให้พ้นจากสาย ตาของเจ้าหน้าที่ ในจำนวนอาวุธประดิษฐ์ ทั้ง 3 รายการนี้ มีเพียง 1 เท่านั้น ที่ถูกแทงเข้าด้านหลังของ น.ช.ยุทธการ ผู้ต้องขังในคดีทำร้ายร่างกายและเสพยาเสพติด จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

ขณะที่ผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวหลังก่อเหตุมี 6 คน ในจำนวนนี้มี 3 คน ที่อ้างตัวรับว่า เป็นเจ้าของอาวุธประดิษฐ์และสารภาพว่า เป็นผู้ลงมือแทง น.ช.ยุทธการ แทนการปกปิดตัวตนหรือบอกปัดโทษให้พ้นตัว ทั้งที่ขณะเกิดเหตุมีผู้ต้องขังในบริเวณนั้นนับร้อยนับพันคน

ผู้ต้องขัง 6 คน ถูกพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี แจ้งข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและมีสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำ ส่วนอาวุธได้ส่งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอและเทียบกับบาดแผลร่างของผู้เสียชีวิตที่พบเพียง 1 บาดแผลเท่านั้น ซึ่งอาจเท่ากับว่า ฆาตกรตัวจริงมีเพียง 1 คน

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วง ราว 8 โมง ของวันเสาร์ ที่ 9 พ.ย. 2567 ท่าม กลางสายตาผู้ต้องขังนับพัน ที่อยู่ในแดน 5 แดนขังที่ใหญ่และมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดใน เรือนจำพิเศษมีนบุรี

1:212 ผู้คุมกับนักโทษ พื้นที่เสี่ยงในเรือนจำ

นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ รองโฆษก กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เรือนจำพิเศษมีนบุรี มีผู้ต้องขังประมาณ 3,500 คน เฉพาะแดน 5 มีผู้ต้องขังทั้งหมดราว 1,700 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำประจำจังหวัดหลายแห่ง ขณะที่ผู้คุมมีอัตรากำลังไม่เพียงพอต่อการดูแลและในวันเกิดเหตุเป็นวันเสาร์ มีผู้คุมดูแลผู้ต้องขังในแดน 5 ประมาณ 8 นาย กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วแดน ส่วนจุดที่เกิดเหตุทำร้ายร่างกายกันนั้น มีผู้คุมอยู่เพียง 2 นาย และได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการเข้าระงับเหตุ

จากจำนวนของผู้ต้องขังกับจำนวนผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนาทีนั้น หากคำนวณสัดส่วนแล้ว จะเท่ากับว่า เจ้าหน้าที่ 1 นาย จะต้องดูแลผู้ต้องขังมากถึง 212 คน ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงได้อย่างทั่วถึง หรือ สังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอม สิ่งผิดกฎหมาย ที่อยู่ในครอบครองของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องราชทัณฑ์ “คุกไทย”อันดับ 3 ของเอเชีย

ภายหลังนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ นั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ไม่กี่เดือน ก็ออกนโยบาย รวมพลังขับเคลื่อน 8 มิติ เพื่อยกระดับสร้างความเปลี่ยนแปลง
แน่นอนว่า ปัญหาความหนาแน่นของผู้ต้องขัง ถูกระบุไว้ด้วย ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย.67 ราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 274,773 คน ขณะที่ข้อมูลในปี 2566 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศ 272,864 คน ซึ่งมีผู้ต้องราชทัณฑ์มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก อยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชีย เป็นรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งไทยประสบปัญหาผู้ต้องล้นเรือนจำมากที่สุด

นายสหการณ์ ระบุ แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายส่วนนี้ เอาไว้ด้วยว่า ผู้บัญชา การเรือนจำ จะต้องเน้นย้ำให้มีการจู่โจมตรวจค้นเรือนจำ อย่างต่อเนื่องและมีประ สิทธิภาพ โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจค้น รวมถึงจะต้องสกัดกั้นการนำเข้าสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำ แยกคุมขังผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์อย่างทันท่วงที

พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาต่อผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำให้มีความมั่นคงปลอดภัย ทั้งด้านโครงสร้างทางกายภาพของเรือนจำที่จะต้องตรวจสอบบำรุงรักษามิให้ทรุดโทรมหรือมีความเสี่ยง

จนถึงการจัดเก็บเครื่องมือ เครื่องใช้ให้ปลอดภัย ตลอดจนเพิ่มสมรรถนะทักษะของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการป้องกันและระงับเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นภายในเรือนจำ ทั้งด้านการตรวจค้น การข่าวภายในเรือนจำ การเจรจาต่อรอง การจัดการความขัดแย้งและการบริหารความเสี่ยง รวมไปถึงจะต้องมีการทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน

แนวทางการขับเคลื่อนถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมอย่างดีแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ในทางปฏิบัติจะไม่ง่ายนัก เพราะสิ่งสำคัญคือกำลังพลฝ่ายเจ้าหน้าที่ สัดส่วนจำนวนผู้ต้องขังต่ออัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแล

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คน ควบคุมผู้ต้องขัง 23 คน ซึ่งในความจริงแตกต่างจากค่าเฉลี่ยไปมากเพราะเรือนจำแต่ละแห่งมีความแออัด หนาแน่นต่างกันไป และไม่ได้จัดเจ้าหน้าที่เต็มกำลังอัตราในทุกวัน ต้องแบ่งเวร-ยาม และกำลังพลจะลดลงในช่วงวันหยุด ในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังนั้นคงเดิม เช่นเดียวกับที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ในวันเกิดเหตุซึ่งตรงกับวันหยุด จำนวนผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนาทีนั้น มีเพียง 8 นาย กับจำนวนผู้ต้องขังในแดน 5 ที่มีมากถึง 1,700 คน คำนวณสัดส่วนแล้ว เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่ 1 นาย ต้องควบคุมดูแลผู้ต้องขังมากถึง 212 คน ขณะที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ที่ 1 ต่อ 5 คน เท่านั้น

รายงานโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว

"ตี่ลี่ฮวงจุ้ย" ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เตรียมส่งฝากขัง-ค้านประกันตัว

จับ 2 คนสนิท "ทนายตั้ม" โยงเงิน 39 ล้าน ยึดรถหรูอีก 2 คัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง