ก่อนจะส่งท้ายปี 2567 สังคมไทย มีคดีใหญ่และคดีใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ทั้ง ฆาตกรรม การฟอกเงิน การฉ้อโกงประชาชน ค้ายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะเห็นได้ว่า นับแต่กลางปีเป็นต้นมา พบผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมโยงจากหลากหลาย สาขาวิชาชีพ ทั้ง นักการเมือง ตำรวจ ศิลปิน ดารา นักร้อง หรือแม้แต่อินฟลูอินเซอร์ บางคน ที่โด่งดังในโลกโซเชียล
เมื่อทำมีการความผิด ตามหลักกฎหมาย ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นโจทก์ หรือ จำเลย จำเป็นต้องมีทนายแก้ต่างทางคดีให้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและความบริสุทธิ์ตามกระบวนการทางยุติธรรม ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องมี "ทนาย" แก้ต่างทางคดีให้ ในปี 2563 พบข้อมูลว่า ทนายความในประเทศไทย มีจำนวนถึง 77,664 คน
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นความเฟื่องฟูของวิชาชีพนี้ ปกติแล้วทนายมักจะไม่ค่อยตกเป็นข่าวมากนัก และสังคมส่วนใหญ่จะรู้จักทนายความก็ต่อเมื่อมีคดีสำคัญ ๆ หรือคดีดัง ๆ เกิดขึ้น กรณีล่าสุดคือ "ทนายตั้ม" ษิทรา เบี้ยบังเกิด อดีตที่ปรึกษาทางกฏหมายของ "มาดามอ้อย" ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 4 คดี
และเมื่อ "ทนายความ" กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีเสียเอง จึงมีการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพทนาย และการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระถือเป็นการกระทำที่ผิดมรรยาททนายความหรือไม่ และสภาทนายความ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูและจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
อ่านข่าว : แกะรอย(ลวง) 100 ล้าน “มาดามอ้อย” ปิดเกมเครือข่าย-ทนายตั้ม
หากให้คำนิยาม "ทนายความ" คือ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพกฎ หมายโดยการว่าความและให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องคดี การแก้ต่างคู่ความ การทำสัญญา และการเจรจาต่อรอง การเป็นทนายความต้องได้รับการขึ้นทะเบียน และผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิชาชีพกฎหมาย โดยทนายความมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยเหลือบุคคลในการปกป้องสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย และมีส่วนช่วยในการรักษาความยุติธรรมในสังคม
ผ่ากระบวนการพิจารณาคดีมรรยาท "ทนายความ"
ปกติทั่วไป หากมีกรณีทนายความถูกร้องเรียนเรื่อง "มรรยาททนายความ" กับทนายความคนใดคนหนึ่ง ตามขั้นตอน สภาทนายความจะมีกระบวนการตรวจสอบ เรื่องจะอยู่ในการกำกับดูแลของ "คณะกรรมการมรรยาท" โดยหลังจาก ประธานกรรมการมรรยาท รับเป็น คดีมรรยาท จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน 3 คน จากนั้นทำการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐาน สืบหาข้อเท็จจริง
หลังจากคณะกรรมการมรรยาท ได้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ จึงส่งสำนวนคดีมรรยาทให้แก่นายกสภาทนายความเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารสภาทนายความมีอำนาจในการที่จะทำคำสั่ง หรือคำวินิจฉัย โดยมีอำนาจอิสระที่จะจำหน่ายคดี ยกข้อกล่าวหา ลดโทษ หรือเพิ่มโทษได้
และเมื่อมีการพิจารณาคดีเสร็จ นายกสภาทนายความจะส่งเรื่องคืนไปยังประธานกรรมการมรรยาท เพื่อแจ้งให้คู่กรณีได้รับทราบผลคดี และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ประธานกรรมการมรรยาท จะแจ้งคำสั่งลงโทษนั้นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเนติบัณฑิตยสภา ต่อไป
ในการพิจารณามรรยาททนายความ ในขั้นสุดท้ายหากทนายความคนนั้นมีความผิด จะมีบทลงโทษ 3 ประการ ดังนี้ 1.ภาคทัณฑ์ ถัดมาคือ 2.ห้ามการเป็นทนายความ 3 ปี และข้อ 3.หนักสุดคือ ลบชื่อจากการเป็นทนาย
แต่หากจะกลับมาต้องผ่านกระบวนการสอบสวนหลังผ่านไป 5 ปี สามารถยื่นขอกลับมาได้ แต่จะได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ด้วย
ถูกลบชื่อ มาตรการเชือด ผิดมรรยาททนายความ 2567
ข้อมูลจากสภาทนายความถึงการพิจารณาคดีมรรยาททนายความในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึง ตุลาคม 2567 ได้มีการพิจารณาแล้วเสร็จ 274 คดี ปรากฏผลการพิจารณาคดี ดังนี้
- ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ จำนวน 18 คดี
- ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 3 ปี จำนวน 17 คดี
- ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 2 ปี จำนวน 9 คดี
- ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 1 ปี จำนวน 8 คดี
- ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 6 เดือน จำนวน 5 คดี
- ภาคทัณฑ์ จำนวน 12 คดี
- งดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน จำนวน 12 คดี
- ยกคำกล่าวหา จำนวน 73 คดี
- จำหน่ายคดี จำนวน 29 คดี
- อนุญาตให้ถอนคำกล่าวหา จำนวน 69 คดี
- ไม่อนุญาตให้ถอนคำกล่าวหา จำนวน 10 คดี
- ย้อนสำนวน จำนวน 12 คดี รวมทั้งสิ้นจำนวน 274 คดี
อ่านข่าว : เส้นทาง "ทนายตั้ม" บทบาททนายความบนความสนใจของสังคม
มัดรวมความผิด"มรรยาททนายความ"
ทนายความ คือ บุคคลที่สภาทนายความรับจดทะเบียน และได้รับใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความให้ว่าความ โดยมีสภาทนายความทำหน้าที่กำกับดูแลทนายความ
มีการบังคับใช้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 เพื่อให้ทนายความทุกคนปฎิบัติตามแนวทางของวิชาชีพ โดยมีคณะกรรมการมรรยาททนายความ ที่ถูกตั้งมาคอยดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับมรรยาททนายความโดยตรง แล้วเรื่องอะไรบ้างที่เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ดังนี้
- มรรยาทต่อศาลและในศาล
- มรรยาทต่อตัวความ
- มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชน ผู้มีอรรถคดี และอื่น ๆ
- มรรยาทในการแต่งกาย
- มรรยาทในการปฎิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ
ตามข้อบังคับ สภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 4 ระบุว่า หากทนายความผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ
มรรยาทต่อศาลและในศาล
ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัว โดยสมควร
ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจผู้พิพากษา
ข้อ 7 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้อุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใด เพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย
ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน
มรรยาทต่อตัวความ
ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้
ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีว่าต่างหรือแก้ต่าง
(1) หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
(2) อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
(3) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษ นอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้
ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล
ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ
(1) จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
(2) จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน
ข้อ 14 ได้รับเป็นทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้
ข้อ 15 กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อัน เกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร
มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี และอื่น ๆ
ข้อ 16 แย่ง หรือกระทำการใดอันเป็นลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นอยู่แล้ว เว้นแต่
(1) ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้นแล้ว
(2) มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือ
(3) ทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว
ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือ
(2) ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวด เป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ
ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ
ข้อ 19 ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ ด้วยทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้ทีหาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้ในลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำ สำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม
มรรยาทในการแต่งกาย
ข้อ 20 ในเวลาว่าความทนายความต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีชาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตยาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อชุดสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า
(2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น
(3) ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้
(4) ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย
มรรยาทในการปฎิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ
ข้อ 21 ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความ และคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือ มีไว้แล้วแต่กรณี ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า หากทนายความคนใดได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอก ฉ้อโกง หรือตระบัดสินลูกความ หรือประกอบอาชีพ ดำเนิน หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ "ถือว่าเป็นเหตุที่จะทำการลบชื่อจากทะเบียนทนายความได้"
รวมถึงการเสี้ยมสอนให้พยานเบิกความเท็จ หรือทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ การอวดอ้างว่าตนเองเก่งกว่าทนายคนอื่น หรือ อวดอ้างว่ามีพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้ลูกความหลงเชื่อว่าตนสามารถทำให้ลูกความได้รับประโยชน์พิเศษนอกจากทางว่าความ
หรือจะชักจูงใจผู้นั้นช่วยเหลือทางคดีได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนทำคดีนั้นแล้วจะหาทางให้ผู้นั้นทำให้คดีลูกความแพ้ หรือการเรียกรับเงินไปวิ่งเต้นคดี การแย่งคดี หรือจงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ "ล้วนแต่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ"
อ่านข่าว : "ลอยกระทง 2567" ประเพณีอันงดงาม กับเรื่อง "นางนพมาศ"
"แจ้งตาย" เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ครั้งสุดท้ายที่ทำให้ "ผู้วายชนม์"