วันนี้ (13 พ.ย.2567) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุข้อความว่า จากกรณีข่าวที่มีการพบโรคไอกรน ในวัยรุ่น นักเรียนและมีการปิดโรงเรียน จำเป็นหรือไม่ ซึ่งจะขอให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง
1.โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เป็นโรคตั้งแต่โบราณ มีวัคซีนในการป้องกันและใช้ในประเทศไทยมาร่วม 50 ปี ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจมีอาการ ไอเรื้อรัง โรคนี้จะเป็นอันตรายในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 3 เดือนอาจทำให้เสียชีวิตได้ และอาจจะมีปัญหาอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอ ในเด็กโตและวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่จะไม่เป็นปัญหามาก เหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ที่มียาปฏิชีวนะรักษา
2.ใช้วัคซีนในการป้องกันโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่ให้ตั้งแต่ 2 เดือนมาเกือบ 50 ปี และให้ตามกำหนดที่ 2 เดือน 4 เดือนแล้ว 6 เดือน กระตุ้นที่ขวบครึ่ง, 4 ขวบ รวมแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และแนะนำให้มีการกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะผู้มีสตางค์ ที่อายุ 10-12 ปี ด้วยใช้วัคซีนรวม โรคคอตีบ ไอกรน และ บาดทะยักสำหรับผู้ใหญ่ จะมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะไอกรน สำหรับผู้ใหญ่จะเป็นชนิดที่เรียกว่า ไร้เซลล์ มีอาการข้างเคียงน้อย เราให้ความสำคัญกับคอตีบกับบาดทะยักมากกว่า ส่วนไอกรน ในผู้ใหญ่จะมีราคาแพง จึงฉีดด้วยความสมัครใจ เพราะโรคในผู้ใหญ่ไม่ร้ายแรง ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีและมีร่างกายอ่อนแอเพราะโรคประจำตัว
3.วัคซีนที่ฉีดในระยะหลังนี้มี 2 ชนิด ชนิดที่ทำมาจากเซลล์ทั้งตัว และชนิดไร้เซลล์ ชนิดไร้เซลล์มีราคาแพงกว่า และอาการข้างเคียงโดยเฉพาะการเป็นไข้หลังฉีดน้อยกว่า ยาชนิดนี้จึงไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ที่จะให้ฟรี จึงฉีดกันเฉพาะในหมู่ผู้ที่สามารถจ่ายได้
4.ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมไม่แตกต่างกันทั้ง 2 ชนิด แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด วัคซีนที่ได้ฟรีที่ทำให้มีไข้ได้ นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังสามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อไอกรนมาที่หลอดลมทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี ส่วนวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีไข้ต่ำ จะไม่สามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรีย colonization ได้ แบคทีเรียยังสามารถมาอยู่ที่คอและเพิ่มจำนวน แพร่กระจายได้ แต่ไม่ก่อโรคหรือมีการติดโรคก็มีอาการน้อยมาก ในเด็กถ้าเป็นลูกชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะได้แบบของฟรี ส่วนเด็กที่พ่อแม่ให้ความสนใจและกลัวความเสี่ยงที่มีไข้ ก็จะฉีดชนิดไร้เซลล์ โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนที่มีชื่อทั้งหลาย โอกาสที่จะพบเชื้อที่คอจึงมีมากกว่า
5.เมื่อศึกษาภูมิต้านทานต่อไอกรนที่ศูนย์ของเราทำ จะพบว่าภูมิต้านทานต่อไอกรนสูงมากใน 10 ปีแรกเมื่อหลังอายุ 10 ปีไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดกระตุ้น ภูมิต้านทานจะลดลงโดยเฉพาะในวัยรุ่นตรวจพบภูมิต้านทานได้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ในอดีตก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะโรคไม่รุนแรง
6.การตรวจหาเชื้อไอกรน ในอดีตทำได้ยากมากเพราะต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อ และเชื้อนี้ขึ้นได้ยาก และใช้เวลาในการตรวจมาก แต่ปัจจุบันนี้การตรวจโรคทางเดินหายใจทำได้ง่ายมากใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และสามารถทำได้ถึง 23 pathogens รวมไอกรนด้วย แต่ราคาก็แพงมากทำเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งมีราคาค่าตรวจประมาณ 5,000 - 6,000 บาท ในนี้จะรวมเชื้อไอกรนอยู่ด้วย
ดังนั้นเด็กที่พ่อแม่มีฐานะเท่านั้น เมื่อไม่สบายเล็กน้อยก็อยากจะรู้ว่าเป็นเชื้ออะไร ก็ยอมที่จะทำการตรวจ และจากการตรวจจำนวนมาก จะได้เชื้อหลายชนิดพร้อมกัน ในการแปลผลบางครั้งยากมากว่าเป็นตัวไหนก่อโรค และการตรวจพบไอกรน ด้วยวิธีนี้ จึงง่ายมาก และเมื่อพบเชื้อแล้วก็จะตื่นเต้น ทั้งๆที่อาการน้อยมาก หรือการพบเชื้อนี้อาจจะพบ เชื้อที่เกาะอยู่ colonization โดยไม่ได้ก่อโรค หรือเป็นการพบโดยบังเอิญเชื้อก่อโรคอาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ และอาการของเด็กก็ไม่ได้มากมายโดยเฉพาะในเด็กโต ก็จะเกิดการตื่นตระหนก ดังนั้นถ้ามีการตรวจกันมากก็มีค่าใช้จ่ายมาก ก็จะเจอมาก โรงเรียนที่ลูกไม่มีสตางค์ โรงเรียนวัด โรงเรียนชนบท ก็จะไม่มีโรคไอกรนระบาดแน่นอน เพราะไม่ได้ตรวจ
7.อย่างที่กล่าวมาแล้ว ครอบครัวที่สามารถจะใช้จ่ายได้ ก็จะฉีดวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีราคาแพงกว่า เพราะกลัวอาการแทรกซ้อนเรื่องไข้ ดังนั้นโอกาสที่เชื้อไอกรน จะตรวจพบได้ก็จะมีมากกว่า แต่การก่อโรคจะไม่รุนแรงเลย โดยเฉพาะในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ และในอดีตที่ผ่านมาก็เชื่อว่ามีเชื้ออยู่ตลอด เพราะวัคซีนฉีดครั้งสุดท้ายที่อายุ 6 ขวบ เราเพิ่งเอาวัคซีนไอกรนมาฉีดในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ในระยะ 10 กว่าปีที่แล้ว และฉีดอยู่ในหมู่ที่จะเสียเงินเองได้เท่านั้น
8.การพบเชื้อไอกรนในปัจจุบัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่จึงเป็นการพบโดยมีเทคโนโลยี PCR ที่ทำได้ง่ายและรู้ผลเร็ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตรวจในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ
9.เมื่อมีการตรวจพบและตรวจมากขึ้น ก็จะพบว่ามีการระบาด เพราะเป็นมากกว่า 2 คน และมักจะอยู่ในโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถตรวจเชื้อนี้ได้เท่านั้น ด้วยราคาที่แพง โรงเรียนทั่วไปจะไม่ระบาดแน่นอนเพราะไม่ได้ตรวจ ก็เลยไม่มีปัญหา
10.เมื่อพบการระบาดเกิดขึ้น มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปิดโรงเรียน ด้วยประการที่ 1 โรคนี้มีความรุนแรงต่ำในเด็กโต อาจจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เสียอีก หรือน้อยกว่าโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป และโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน การปิดโรงเรียนไปแล้ว เมื่อเปิดมาก็จะพบเหตุการณ์แบบนี้อีก เราจะปิดต่อไปไหวหรือ
11.ทางออกที่ดีที่สุดคือเมื่อพบ หรือตรวจ ก็ทำการรักษาไปด้วยยาปฏิชีวนะ และถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถจะใช้จ่ายค่าวัคซีนได้ ก็ควรจะให้วัคซีน จะให้วัคซีนชนิดไอกรนตัวเดียว หรือให้พร้อมกันทั้ง คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กโตก็ได้ โดยทำการตรวจเช็กว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนเมื่อ 10-12 ปีที่มีไอกรนอยู่แล้ว อาจจะไปฉีดอีกครั้งหนึ่งทุก 10 ปี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดผู้ใหญ่ตอนอายุ 10-12 ปี และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ควรจะมีการกระตุ้น วัคซีนนี้ทุกคน
12.เมื่อเด็กได้รับวัคซีนครบแล้ว ถือเป็นเข็มกระตุ้น ภูมิต้านทานจะขึ้นได้ดีหลัง 7 วัน โรคก็จะสงบ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดโรงเรียน เพราะการเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทย การเรียนในโรงเรียนดีกว่าเรียนออนไลน์แน่นอน และการให้วัคซีนเป็นการป้องกันระยะยาวอย่างน้อยก็ 10 ปีขึ้นไป และโดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ เราก็ไม่ค่อยได้ตรวจกันทั้งที่เชื่อว่าถ้าตรวจมากก็เจออีก
13.การปิดโรงเรียน 2 สัปดาห์ ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะเปิดมาก็ต้องเจอกันอีก เชื้อไอกรนมีระยะฟักตัว 7-10 วัน ถ้าเป็นโรครุนแรง ถึงกับชีวิต การกักตัว ไม่ให้มีการระบาด เราจะใช้เวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ดังนั้นก็จะเป็น 20 วัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับโรคไอกรน ในเด็กโตและผู้ใหญ่
14.การตื่นตระหนก และเป็นอะไรนิดหน่อย ก็ตรวจหาเชื้อ 23 โรคเลย ไม่เป็นประโยชน์เลย และเมื่อตรวจมาแล้วบางครั้งพบเชื้อ 3 , 4 , 5 ชนิด ไม่รู้เลยว่าชนิดไหนก่อโรค และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษามากมาย นอกจากในผู้ที่เป็นรุนแรง และการตรวจนั้นมาประกอบการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มียาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์กว่า เช่นตรวจเฉพาะไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 เพราะ 2 โรคนี้มียาต้านไวรัส
15.ข้อคิดที่ให้มาทั้งหมดเป็นความรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ สำหรับผู้ปกครองเพื่อลดการตื่นตระหนก โดยเฉพาะทุกคนเชื่อว่าห่วงลูกหลานของตน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เรื่องใหญ่โตเลย อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อกระจายออกไปมากๆ ตรวจมากๆ เด็กก็จะขาดเรียนมากๆ โดยใช่เหตุ ควรพิจารณาตามสถานการณ์ และข้ออ้างอิงทางวิชาการ
อ่านข่าว :