COP29 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) เปิดฉากไปแล้วที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พ.ย. 2567 มีผู้นำกว่า 200 ประเทศรวมทั้งไทยเข้าร่วมหารือ คาดว่า กว่าจะได้ข้อสรุปคงอาจใกล้วันปิดประชุม
COP หมายถึงการประชุมพหุภาคีของ UN แต่ที่โด่งดังที่สุด เป็นเรื่องการหารือวิกฤตโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีปณิธานจะร่วมกันลดโลกเดือดร่วมกัน ทั้งประเทศมหาอำนาจ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ไปจนถึงหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบ กำหนดให้จัดครึ่งปีละครั้ง โดยครั้งแรก (COP1) จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่ที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดคือ COP3 ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการตกลงรับ "พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal)" ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
โดยประเด็นในการประชุมครั้งที่ 29 นี้ เน้นหนักไปที่ การจัดทำเป้าหมายทาง การเงินใหม่ (the New Collective Quantified Goal) หรือ "NCQG" ว่าด้วยการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้านงบประมาณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หมายให้ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
คำถามที่ตามมา คือ การต้องทุ่มงบประมาณระดับมหาศาลเพื่อเรียกร้องให้เกิดการตระหนักและเอาใจใส่ มีนัยบ่งชี้ถึงปัญหาของการปฏิบัติตามข้อตกลง COP หรือไม่? รวมไปถึง "ความคุ้มค่า" ที่ต้องจ่ายไปในการทุเลาโลกเดือดนั้นเป็นอย่างไร?
COP "เสือกระดาษ" ข้อเรียกร้องหรู แต่เงินมีไหม
ข้อเรียกร้องของ COP แม้จะเข้าใจได้ว่าต้องการสร้างภาคีให้หันมาสนใจประเด็นโลกเดือด และมีการวางหลักการและการบังคับใช้อย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2030 ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ความต้องการให้ใช้พลังงานทดแทนปิโตรเลียม เช่น พลังงานไฟฟ้าจากน้ำหรือลม หรือการกำหนด "คาร์บอนเครดิต" เก็บสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซอื่น ๆ ที่ทำอันตรายต่อบรรยากาศโลก
กระนั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องของ "ความสมัครใจ" ไม่ได้วางบทลงโทษไว้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น แรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจของการปฏิบัติตามข้อตก ลงใน COP จึงมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เห็นได้จากสหรัฐอเมริกา ที่สมควรเป็นมหาอำนาจและแบบอย่างในการรักษ์โลก แต่กลับไม่อภิรมย์ต่อประเด็นนี้ในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์
อีกอย่างหนึ่ง การลดสภาวะโลกเดือดยังไม่สามารถสร้างตนเองเป็นให้เป็น "บรรทัดฐาน" หรือ "คุณค่า" ในการระหว่างประเทศอย่างราบรื่น ชนิดที่ว่าไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือบทลงโทษ แต่ละประเทศก็ยินยอมพร้อมใจที่จะกระทำตามแต่โดยดี เช่น สนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยการไม่ทำภยันตรายต่อ "บุคลากรและยานพาหนะทางการพยาบาล" ในภาวะสงคราม หรือกล่าวได้ว่า ตอนนี้ COP เป็นเวทีที่สร้าง "เสือกระดาษ" ที่หลักการและข้อบังคับฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังคงมีคำถาม ว่าเกิดการยอมรับและเต็มใจที่จะทำตามหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การที่ COP เรียกร้องเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก พลังงานทดแทน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนสารพัด แต่กลับมีปัญหาด้าน "การจัดสรรงบประมาณ" ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีศักยภาพทางการคลังมากพอที่จะทำตามข้อตกลงลดโลกเดือดได้ โดยส่วนมากมักเป็นประเทศแถบแอฟริกาและเอเชีย ที่กำลังพัฒนาประเทศขึ้นมาด้วยการเปิดรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนัก หรือเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉลี่ย งบประมาณของแต่ละประเทศที่ต้องใช้ในการจัดการกับโลกเดือด อยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 16-18 ของจีดีพี ซึ่งอัตราดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อประเทศมหาอำนาจหรือประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูง แต่ในประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจหรือกำลังถูกสปอร์ตไลท์จับ ถือว่ากระทบอย่างมาก
เพราะการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง หรือ FDI ในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 7-12 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้ยังต้องกระจายออกไปยังการจัดทำงบประมาณแผ่นดินและการกำหนดนโยบายอื่น ๆ ตามมาอีกมหาศาล
หมายความว่า จะเกิด "ส่วนต่างของความคุ้มค่า" ขึ้น เพราะการลดโลกเดือด มีการคาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณมากโขระดับ 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปีเพื่อที่จะทำให้โลกไม่เดือดขึ้นไปมากกว่านี้ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพีโลก เฉลี่ยแต่ละประเทศต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้กว่า 336,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแทบจะเทียบเท่าหรือมากกว่าจีดีพีของประเทศเหล่านี้เสียด้วยซ้ำไป
รายงานจาก the Independent High-Level Expert Group on Climate Finance ปี 2022 ชี้ว่า กว่า 2 ใน 3 ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอยู่ในช่วงรายได้ปานกลางและปานกลางค่อนข้างต่ำ ประสบปัญหา "เป็นหนี้จากการลดโลกเดือด" และส่วนใหญ่นั้นจะเป็น "หนี้เสีย" ที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด ดังนั้น การทุ่มงบประมาณระดับสูงเพียงเพื่อ "ยื้ออุณหภูมิ" ของโลกไว้ รัฐบาลภายในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องคิดหนักอย่างมากต่อการใช้จ่ายในประเด็นดังกล่าว
ต้องไม่ลืมว่า ประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาในอัตราเร่งที่สูงมาก แต่ "ปริมาณ" ที่ปล่อยนั้นนับว่ายังน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับสูงอยู่ไม่น้อย เช่น สหรัฐฯ และจีน ปล่อย CO2 รวมกันในอัตราร้อยละ 36 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปล่อย CO2 รวมกันเพียงอัตราร้อยละ 11 ซึ่งน้อยเกินกว่า 3 เท่าตัว
"จ่ายครบจบแน่" ราคาลดโลกเดือดคุ้มหรือไม่ ?
จะเห็นได้ว่า ปัญหาหลักของ COP นอกเหนือจากเรื่องการยังไม่สามารถตั้งมั่นตนเองเป็นบรรทัดฐานในการระหว่างประเทศ รวมถึงมีปัญหาด้านการเรียกร้องงบประมาณการลดโลกเดือดอย่างเกินกำลังประเทศดาวรุ่งพุ่งแรง เรื่องนี้ ใช่ว่า COP จะไม่ตระหนักใด ๆ
เนื่องจาก COP29 ในปี 2024 นี้ ได้รับสมญานามว่า "COP ทางการเงิน" หมายความว่า การหารือที่เกิดขึ้นในกรุงบากูนี้ จะเน้นหนักไปที่เรื่องของ "การให้ความช่วยเหลือ" ด้านงบประมาณลดโลกเดือดแก่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นสำคัญ จากแต่เดิมที่ประเทศมหาอำนาจช่วยเหลือประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจในงบประมาณส่วนนี้ ราว ๆ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
World Economic Forum ได้เสนอให้เห็นข้อได้เปรียบของ COP29 ในด้านการเน้นหนักที่งบประมาณและการเงินไว้ 5 ประการ ดังนี้
- การปิดช่องว่างงบประมาณลดโลกเดือด นอกจะจะเพิ่มเม็ดเงินสนับสนุน ยังพิจารณาอุปสรรคที่ทำให้การจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ภายในประเทศมีปัญหา เช่น หากมีปัญหาด้านการเก็บภาษีการลงทุน ก็จะแบ่งงบประมาณมาอุดหนุนตรงนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดสรรงบประมาณในประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
- ช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกเดือด ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็ก ๆ หรือหมู่เกาะ ที่ปล่อย CO2 น้อย แต่ได้รับผลกระทบมาก โดยให้เม็ดเงินด้านการสาธารณสุขและส่งเสริมพลังงานสะอาด
- ไม่เปย์มั่วซั่วแก่ประเทศกำลังพัฒนา จากแต่เดิมที่กำหนดงบประมาณให้ได้เท่ากันทั้งหมด ตอนนี้ หากประเทศใดยังปล่อย CO2 ในอัตราคงที่หรือมากขึ้น จะลดงบประมาณช่วยเหลือลง
- กดดันรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ เพื่อกดดันภาคเอกชนอีกทอดหนึ่ง เช่น หากรัฐบาลไม่สามารถบังคับให้ภาคเอกชนปล่อย CO2 ให้น้อยลงได้ ก็จะลดการให้เงินช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น เงินกู้ระยะยาว หรือเงินให้เปล่าลง
- ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและรับผิดรับชอบ หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงได้ว่าตัวเลขการปล่อย CO2 นี้ไม่ได้สร้างมั่ว ๆ ขึ้นมา จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น
แม้จะมีการเปิดเผยความช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างมีหลักการใน COP29 แต่คำถามที่ตามมา คือ การให้เงินสนับสนุนตรงนี้ เป็น "การให้แบบมีเงื่อนไขกำกับ" ที่เพิ่มมากขึ้นจากแบบเก่า ที่รับก็คือนำมาใช้อย่างเต็มสตรีมหรือไม่เต็มสตรีมก็ได้ แต่แบบใหม่คือ หากรับมาแล้วทำไม่เต็มสตรีม จะส่งผลถึงการให้งบประมาณในปีถัดไปได้
ดังนั้น รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา หากมีความคิดแบบ "เป็นเหตุเป็นผล" จริง ๆ ย่อมต้องคิดหนักไม่น้อยกับการรักษ์โลกและลดโลกเดือดนี้
ทรัมป์ครองอำนาจ ปัญหา "โลกเดือด" จัดเต็ม
ปัญหาด้านการเงินก็ส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าประเทศที่เป็น "นายทุน" ให้แก่สมาชิก COP นั้น หนีไม่พ้นสหรัฐฯ โดยเม็ดเงินสนับสนุน 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มาจากแนวทางของ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
การก้าวขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ ในสมัยที่ 2 นี้ กลับมีคำถามสำคัญที่ตามมา คือ แม้จะมีหลักการ NCQG ที่บังคับกลาย ๆ ให้มหาอำนาจช่วยเหลือทางการเงินด้านการลดโลกร้อนและแก้ไขสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่การไม่ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวของทรัมป์ รวมถึงการถอนตัว ไม่เข้าสังฆกรรมกับ COP จะส่งผลให้ "เงินถุงเงินถัง" หายไปหรือไม่
และเมื่อจำนวนเงินหายไป แรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจในการลดโลกร้อนของประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงและกำลังพัฒนาจะยังคงอยู่ หรือสูญสลายและหันกลับไปมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับเทพเจ้ายังอายอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
ประเด็นนี้ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ ทรัมป์ ที่เชิดชูแคมเปญ America First ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นคำตอบ
แหล่งอ้างอิง
Trump’s shadow looms at climate summit: what COP29 could deliver, Finance for climate action: Scaling up investment for climate and development, World Economic Forum, CGD
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดฉาก COP 29 "ภูมิอากาศ" เงิน เงิน เงิน กับโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ