วันนี้ (27 พ.ย.2567) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (309/2567) ลงวันที่ 26 พ.ย.2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึง ค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและสหพันธรัฐมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่
สำหรับคลื่นลมอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 20/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.2567 คาดการณ์พื้นที่เสียงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำโดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. 67 ดังนี้
อ่านข่าว : "ปัตตานี" น้ำท่วมเมือง ถนนเชื่อมยะลาบางจุดถูกตัดขาดเเล้ว
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
ภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่
- จ.ชุมพร : ทุกอำเภอ
- จ.สุราษฎร์ธานี : อ.เมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เวียงสระ บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ชัยบุรี ดอนสัก เกาะพะงัน และเกาะสมุย
- จ.นครศรีธรรมราช : อ.เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ พิปูน ฉวาง ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียร์ใหญ่ ชะอวด และหัวไทร
- จ.พัทลุง : อ.เมืองพัทลุง ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ ควนขนุน กงหรา และป่าบอน
- จ.สงขลา : อ.เมืองสงขลา กระแสสินธุ์ สทิงพระ ควนเนียง บางกลำ สิงหนคร หาดใหญ่ นาหม่อม รัตภูมิ ระโนด จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
- จ.ปัตตานี : ทุกอำเภอ
- จ.ยะลา : ทุกอำเภอ
- จ.นราธิวาส : ทุกอำเภอ
- จ.พังงา : อ.เมืองพังงา ท้ายเหมือง และตะกั่วทุ่ง
- จ.ภูเก็ต : ทุกอำเภอ
- จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ ปลายพระยา เขาพนม ลำทับ และ คลองท่อม)
- จ.ตรัง (อำเภอเมืองตรัง วังวิเศษ ย่านตาขาว ห้วยยอดนาโยง และอำเภอปะเหลียน) และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง และควนโดน)
อ่านข่าว : เมืองยะลาจม น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี เตือน 6 อำเภอระวังน้ำป่า-ดินถล่ม
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลางจังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน
และระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
ภาคใต้ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่
- จ.สุราษฎร์ธานี : อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ไชยา ท่าชนะ ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ เกาะสมุย และเกาะพะงัน
- จ.นครศรีธรรมราช : อ.เมืองนครศรีธรรรมราช ขนอม สิชลปากพนัง และหัวไทร
- จ.สงขลา : อ.เมืองสงขลา ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ และเทพา
- จ.ปัตตานี : อ.เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี และอำเภอไม้แก่น
- จ.นราธิวาส : อ.เมืองนราธิวาส และ ตากใบ
อ่านข่าว :
ฝนกระหน่ำ "สงขลา" น้ำทะลักท่วมตัวเมือง-หาดใหญ่ เร่งระบายน้ำ
"ลมหัวด้วน" พัดบ้านนครศรีฯ เสียหาย - น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ เริ่มลดระดับ