เช้าวันที่ 7 ธ.ค.1941 กองทัพญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ บนเกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำไปสู่การประกาศสงครามของสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในวันถัดมา
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามเต็มไปด้วยความตึงเครียด ญี่ปุ่นต้องการขยายอาณานิคมในเอเชียเพื่อรองรับทรัพยากรที่จำเป็นต่อการรบกับจีน ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนจีนอย่างเปิดเผย ได้ใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ เช่น การคว่ำบาตรน้ำมันในปี 1941 เพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น
ในช่วงปี 1940-1941 ญี่ปุ่นมองว่าการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เป็นวิธีเดียวที่จะทำลายศักยภาพของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และยืดเวลาสำหรับการขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กองทัพญี่ปุ่นวางแผนการโจมตีนี้อย่างละเอียด โดยมี พลเรือเอก อิโซรุกุ ยามะโมโตะ เป็นผู้ออกแบบแผน ภารกิจสำคัญคือการทำลายกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ประจำการในเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถตอบโต้ในช่วงแรกของสงครามได้
ญี่ปุ่นส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ และเครื่องบินรบกว่า 350 ลำ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทาง 3,000 ไมล์ โดยยังคงรักษาความลับไว้ได้จนถึงวันโจมตี
การโจมตีในเช้าวันอาทิตย์
เวลา 7:55 น. เครื่องบินรบของญี่ปุ่นระลอกแรกเริ่มโจมตีฐานทัพอย่างไม่ทันตั้งตัว เสียงระเบิดและปืนต่อต้านอากาศยานดังก้องไปทั่วบริเวณ การโจมตีแบ่งเป็นสองระลอก และในเวลาเพียง 90 นาที ญี่ปุ่นได้สร้างความเสียหายมหาศาล
- เรือรบของสหรัฐฯ ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายทั้งหมด 19 ลำ รวมถึงเรือประจัญบาน 8 ลำ
- เครื่องบินถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 300 ลำ
- มีทหารเสียชีวิต 2,403 นาย และบาดเจ็บ 1,178 นาย
- เรือ USS Arizona เป็นเรือลำที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด เมื่อระเบิดทะลุลงไปยังคลังอาวุธใต้ท้องเรือ ส่งผลให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ เรือจมลงในเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยมีลูกเรือเสียชีวิตกว่า 1,100 นาย
ที่มา : Student Center Encyclopedia Britannica
การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันตกตะลึงและโกรธแค้น ในวันถัดมา ปธน.แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "วันแห่งความอัปยศ" (A date which will live in infamy) และขอให้สภาประกาศสงครามกับญี่ปุ่น
ผลของการโจมตีทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น แน่นอนว่าเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมทางทหารและการข่าวกรอง นอกจากนี้ ยังทำให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพของยุทธวิธีการใช้กองเรือบรรทุกเครื่องบินและการโจมตีทางอากาศ
ในปัจจุบัน อนุสรณ์สถาน USS Arizona Memorial ตั้งอยู่ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว สถานที่นี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงบทเรียนจากสงครามและความสูญเสีย
เรารู้อะไรจากประวัติศาสตร์ครั้งนั้น
ชีวิตของทหารเรือที่รอดชีวิต ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น แผลไฟไหม้จากการระเบิด หรือสูญเสียแขนขาเนื่องจากเศษซากของเรือที่เสียหาย
นอกจากนี้ ผลกระทบทางจิตใจ เช่น ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป บางคนฝันร้ายเกี่ยวกับการโจมตีและความรู้สึกผิดที่รอดชีวิต ขณะที่เพื่อนร่วมงานจำนวนมากเสียชีวิต ทหารเหล่านี้มักได้รับเกียรติในงานรำลึกเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ประจำปี และหลายคนเขียนหนังสือหรือให้สัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องราวในเชิงลึก เช่น บันทึกของ โดริส มิลเลอร์ ทหารเรือชาวแอฟริกันอเมริกันที่ได้รับเหรียญ Navy Cross สำหรับความกล้าหาญของเขาในวันนั้น
การตอบโต้ของสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์โจมตี ด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ในสงครามแปซิฟิก ดังนี้
1. การโจมตีโตเกียว (Doolittle Raid) ในเดือน เม.ย.1942 กองทัพอากาศสหรัฐฯ นำโดย พ.ท.เจมส์ ดูลิตเติล โจมตีเมืองโตเกียวและพื้นที่อื่น ๆ ของญี่ปุ่น การโจมตีครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับขวัญกำลังใจของประชาชนอเมริกัน และส่งสารเตือนว่าญี่ปุ่นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการโจมตีได้
2. การยุทธที่มิดเวย์ ในเดือน มิ.ย.1942 สหรัฐฯ ได้พลิกสถานการณ์ด้วยการชนะยุทธนาวีที่มิดเวย์ (Battle of Midway) ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางทะเลที่ทำลายกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นถึง 4 ลำ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถขยายอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกต่อไปได้
3. ยุทธศาสตร์ "Island Hopping" หรือการบุกยึดเกาะทีละแห่งเพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของญี่ปุ่น เป้าหมายสุดท้ายคือการบุกยึดเกาะหลักของญี่ปุ่น
ผลกระทบของเหตุการณ์ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
- สหรัฐอเมริกา - เปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นหนึ่งในผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตร การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การเร่งผลิตอาวุธและเสริมสร้างกองทัพ
- ญี่ปุ่น - แม้ช่วงแรกจะมีชัยชนะทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรงจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ทำให้การขยายตัวทางอาณานิคมล้มเหลว
- ยุโรป - เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปมองเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงต้นของสงคราม ส่งผลกระทบต่อประชากรท้องถิ่นที่ต้องทนทุกข์กับการปกครองที่รุนแรง
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
- การใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นหัวใจของกองเรือ
- การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ - สงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก การใช้อาวุธนี้ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิทำให้สงครามแปซิฟิกสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค.1945
- เรดาร์และเทคโนโลยีตรวจจับ - การขาดระบบตรวจจับที่มีประสิทธิภาพในช่วงเพิร์ลฮาร์เบอร์ทำให้สหรัฐฯ พัฒนาเทคโนโลยีเรดาร์และระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างก้าวกระโดด
- อาวุธอิเล็กทรอนิกส์ - การพัฒนาเรดาร์และระบบนำวิถีจรวดในช่วงสงคราม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำสงครามยุคใหม่
ที่มา : At Dawn We Slept : The Untold Story of Pearl Harbor โดย Gordon W. Prange, Day of Infamy โดย Walter Lord, National World War II Museum, Pearl Harbor National Memorial
อ่านข่าวอื่น :
รื้อถอนโครงเหล็ก Truss ถนนพระราม 2 - วสท.ร่วมตรวจสอบ
คืนชีพ "นอเทรอดาม" ฝรั่งเศสเตรียมพิธีเปิดยิ่งใหญ่ต้อนรับผู้นำโลก