วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การค้นคว้าหา ความรู้ทุกด้านตามที่ต้องการ คนรุ่นใหม่มีเส้นทางอนาคตมากมายหลากหลายขึ้น อีกทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นกลายเป็นค่านิยมที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดว่า “ใบปริญญา และการเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้มีความสำคัญต่อชีวิต”
คุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยไทย กลายเป็นปัจเจกในการตัดสินใจของการเลือกเข้าศึกษาต่อ หลังเข้ามารับตำแหน่ง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่ระดับโลก ด้วยแนวคิดปรับลุคใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็น “Global University”
“งานการศึกษาไม่ใช่เรื่องของระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย การศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีอยู่ที่การบริหาร การบริหารการศึกษาคือการเปลี่ยนชีวิตคน” คำกล่าวของ “ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” อดีตลูกหม้อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้ามารับตำแหน่งหลังเรียนจบในตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และอดีตหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จนก้าวเป็น “อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
รายการ “คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” จับเข่าสนทนากับ ดร.วิเลิศ ทำให้เห็นว่า แม้ในยุคที่เทคโนโลยีล้ำหน้า การศึกษาก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อยกระดับชีวิตของทุกคนในสังคม
หากถามว่าการเปลี่ยนชีวิต จำเป็นจะต้องเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่ ? ดร.วิเลิศ ตอบทันที “ไม่จำเป็น” แต่ในเชิงของสังคม และความเป็นไปของโลกใบนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในชีวิตจริงเวลาไปสมัครงานใบปริญญายังมีความจำเป็น “บางคนไม่มีใบปริญญา อาจมีความรู้มากกว่าคนที่ใบปริญญาก็ได้ แต่คำถาม คือ จะบอกเขาได้อย่างไรว่าเรามีความรู้ ความเชี่ยวชาญแค่ไหน และจะมีอะไรเป็นสิ่งยืนยันตัวเอง”
ปริญญาไม่ได้เป็นตัววัดคุณค่าชีวิตคน แต่เป็นหลักฐานทางกายภาพที่ยืนยันได้ ว่า แต่ละคนผ่านการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอนระดับหนึ่งมาพอสมควร
ดังนั้นจุดยืนของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เพียงการให้ความรู้ ต้องทำให้เห็นว่ามหาวิทยาเป็นพื้นที่ ทักษะชีวิต (Life Skills) “ความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดที่พัฒนากันขึ้นมาจากประสบการณ์, ความคิดของคน, Soft skills, การปรับตัว, การเข้าใจสังคม, มิตรภาพ จะอยู่ชั่วกัลปาวสาน กับคนคนนั้นไปตลอด”
และมหาวิทยาลัยจึงเปรียบได้กับพื้นที่สร้างภูมิปัญญา ภูมิความคิด และความฉลาดที่ติดตัวไปพร้อมกับจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม นี่คือบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถถูกแทนที่ได้โดยเทคโนโลยี
“Global University” โจทย์ท้าทายจุฬาฯ ยุคใหม่
“Global University” หรือการเป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นสิ่งที่ “ดร.วิเลิศ” อยากไปให้ถึงเป้าหมาย แม้วันนี้อาจยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ได้มีการวางยุทธศาสตร์ไว้แล้ว ทั้งระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 3 ปี ระยะยาว 5 ปี เพื่อทำให้คนในองค์กรรู้ว่าควรจะไปทางทิศไหน มีเป้าหมายเดียวกัน
“ความเป็น Global ต่างกับ International เพราะเราอาจไม่รู้สึกเลยว่า เป็นแบรนด์ของต่างชาติ มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่นเดียวกับการก้าวไปสู่ความเป็น Global University”
การสร้างแบรนด์มหาวิทยาลัยในระดับโลก ไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ยังสามารถยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่ม GDP ให้สูงขึ้นได้ จากการเข้ามาเรียนของคนในต่างประเทศมากขึ้น การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี จึงทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยว
“ความรู้ทุกที่มันเหมือนกัน แต่ทำไมคนเหล่านั้น ถึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลายประเทศ หากมองแง่หนึ่งบางทีมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำให้คนเก่งขึ้น แต่คนที่เก่งสุด ๆ เขาไปรวมตัวกัน เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนเก่ง ย่อมรู้ว่าพระอาทิตย์ขึ้นด้านไหน และจะวิ่งไปหาแสงเสมอ เพื่อรวมตัวกัน และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
โดยปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วางกลยุทธ์ด้วยการนำเทคโลยีเข้ามาใช้ สร้างการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรม แพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยการจับมือประสานหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT), มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บนพื้นฐานที่ไม่ละทิ้งความเป็นตัวตนของตัวเอง
“เราต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่นำงานวิจัยไปใช้ได้จริง ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่เพิกเฉยกับนักวิจัยที่ทำให้อันดับของมหาวิทยาสูงขึ้น ดังนั้นกลยุทธการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยที่เราสามารถทำให้ตัวของเราเป็นนานาชาติ และเราก็ไม่ทิ้งรากเหง้าตัวตนของเราที่ต้องดูแลทั้งประเทศควบคู่กันไป”
โจทย์ใหญ่ ตั้งรับการเปลี่ยนผ่าน "สู่ลุคใหม่"
ปัจจุบัน คนเกิดน้อย จำนวนผู้เรียนลดลง ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังอยากเรียนอยู่ ดังนั้นการขยายตลาดการศึกษาในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปกติจะรับเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 18-30 ปี แต่ปัจจุบันได้เปิดรับผู้ที่มีอายุ 40 – 50 ปี ขณะเดียวกันเด็กอายุ 8-13 ปี ก็มาเรียนได้
“การปรับกลยุทธ์แรกต้องเล่นไปที่ข้อกำหนดที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต บางครั้งคนรุ่นเก่าก็ต้องเรียนรู้จากเด็กรุ่นน้องในเรื่องของเทคโนโลยี หรือ เอไอ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะได้ประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้” รวมถึงการเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้มีการนำมาปรับใช้ รวมถึงการหาพาร์ทเนอร์ให้เด็กเข้าไปฝึกงาน ที่บางคนก็สามารถทำงานได้ทันที
อย่างที่สอง คือการใช้เทคโนโลยี และเอไอ เป็นแค่ส่วนเสริม เพราะส่วนหลักคือการสร้างประสบการณ์ เพิ่มวิธีคิดอย่างเป็นระบบ การเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น การเอาความรู้มาปรับใช้ การสร้างมิตรภาพ และความทรงจำ ที่เอไอไม่สามารถให้ได้ “อาจารย์ให้การบ้าน เด็กให้เอไอทำมาส่ง ผมบอกว่าอย่าปฏิเสธเอไอเลย ให้เด็กทำการบ้านมาส่งใช้เอไอ แล้วให้เด็กแก้ในส่วนที่ดีกว่าเอไอนำเสนอ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้เด็กได้”
“คนแต่ละคนพรสวรรค์ต่างกัน วันนี้เราชอบมองคุณค่าไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่า เด็กทุกคนต้องเป็นแพทย์ เด็กทุกคนต้องรู้ AI คนที่เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะก็มี บางคนอาจชอบรำ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ ให้เขาเติบโต ตามแบบฉบับของตัวเอง อย่างสวยงามที่สุด”
ดร.วิเลิศ ย้ำว่า อยากให้มองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนชีวิตของคนได้ “มีทั้งไอคิว อีคิว และเอคิว (การปรับตัว)” เชื่อว่าการสอนที่ดีไม่ใช่แค่การสอนให้เป็นคนดี แต่ต้องสอนให้คนใจดีไม่ใช่แค่การกระทำ “คนที่ทำผิด คนที่ไปขโมยของเพราะเขาไม่รู้สึกผิดต่อการกระทำ ความยาก คือ ทำอย่างไรที่จะปลูกฝังเขาได้”
แม้เราจะเก่งวิชาชีพใด เราจะเก่งแค่นั้นไม่ได้ ต้องรู้ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เรียกว่า soft skills เช่น การเป็นแพทย์ที่ต้องเข้าใจปัญหาทางจิตของคน, เข้าใจบริบทเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง ทั้งหมดคือการบ่มเพาะปัญญาของคน และถ้าเรามีแบบนี้อยู่ข้างในแล้ว เราไม่ต้องกลัวเลย
พบกับรายการ: คุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 21.30-22.00 ทุกวันพฤหัสบดี
อ่านข่าว : "สนธิ" ยื่น "นายกฯ" ยกเลิก "MOU 44 - JC 44"