วันนี้ (11 ธ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ารื้อโครงสร้างเหล็กชิ้นส่วนสะพานถล่ม ถ.พระราม 2 โดยทีมวิศวกรส่งผู้เชี่ยวชาญขึ้นกระเช้าตรวจสอบ Segment หรือแผ่นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป น้ำหนักกว่า 100 ตัน ซึ่งมีลักษณะเอนและเสี่ยงจะร่วงลงมาได้ตลอดเวลา แม้ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญจะนำโซ่ 7 เส้น เชือกผ้าใบ รวมถึงใช้เครนมาพยุงไว้ แต่จากการประเมินแล้วยังมีความเสี่ยง
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ทีมวิศวกรวางแผนจะใช้เครนพยุงก้อนแผ่นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูปใหม่ ด้วยการนำเครนไปคล้องไว้บริเวณช่องว่างตรงกลางของแผ่นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป เพื่อตัดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
เนื่องจากวันนี้ (11 ธ.ค.) ทีมวิศวกรวางแผนเคลื่อนย้ายเหล็กสีน้ำเงิน หรือโครงถัก Main Truss ที่ถล่มลงมาผิดรูป เป็นลักษณะตัววี และกดทับแผ่นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป น้ำหนักกว่า 100 ตัน ซึ่งจุดนี้ทีมวิศวกรระบุว่าเป็นการรื้อส่วนที่ยากที่สุดของลอนเชอร์ที่ถล่มลงมา เนื่องจากมีการทับซ้อนกันหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญได้ขึ้นไปตัดชิ้นส่วนที่เกี่ยวพันกันออกอย่างต่อเนื่อง
หากสามารถใช้เครื่องมือตามหลักวิศวกรรมตัดถ่างโครงเหล็กลักษณะตัววีได้ หลังจากนี้ขั้นตอนต่อไปจะนำแผ่นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูปออก ซึ่งหากเป็นไปตามแผน การรื้อถอนโครงสร้างฯ ส่วนอื่นๆ จะสามารถเคลื่อนย้ายได้และทันกรอบระยะเวลาที่วางไว้ แต่ทีมวิศวกรย้ำว่าทุกขั้นตอนต้องพิจารณาความเหมาะสมหน้างาน โดยยึดความปลอดภัยเป็นหลักและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
ขณะที่นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาทีมวิศวกรได้เตรียมการอย่างละเอียดและดำเนินงานทุกขั้นตอน มีการติดตามผลตรวจวัดและควบคุมการเคลื่อนตัวของโครงสร้างตลอดการดำเนินงาน ทำให้มั่นใจว่าการรื้อถอนจะแล้วเสร็จตามกำหนด
หากนับจากวันนี้ (11 ธ.ค.) ทีมวิศกรจะมีเวลาอีก 3 วันในการรื้อถอนโครงสร้าง แม้ยืนยันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา แต่ต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงหน้างาน เพราะทุกขั้นตอนการรื้อถอนต้องคำนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
อ่านข่าว
เคลียร์พื้นที่คานถล่มพระราม 2 แล้ว 70% คาดเปิดจราจร 14 ธ.ค.