ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกมเสี่ยง "ยุน ซอก-ยอล" ลมหายใจเฮือกสุดท้ายหลัง "อัยการศึก"

ต่างประเทศ
11 ธ.ค. 67
17:28
225
Logo Thai PBS
เกมเสี่ยง "ยุน ซอก-ยอล" ลมหายใจเฮือกสุดท้ายหลัง "อัยการศึก"

สร้างความประหลาดใจในแวดวงการเมืองเกาหลีอย่างแรง เมื่อ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รอดพ้นถูกยื่นญัตติถอดถอนจากตำแหน่งในสภา หลังสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และ People Power Party วอล์กเอาท์จากการลงคะแนนเสียง ทำให้สมาชิกขาดเกินกว่า 2 ใน 3 ญัตติจึงถูกตีตกไป

แม้ตอนนี้ อัยการแผ่นดินจะเร่งสอบสวนพยานหลักฐานอย่างหนัก เพื่อเอาผิดยุนฐานกบฏให้ได้ โดยสั่งระงับการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและป้องกันการหลบหนี แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า อัยการมีหน้าที่เพียงสั่งฟ้อง เท่านั้น ยังไม่สามารถชี้มูลความผิดได้ และการสั่งฟ้องต้องอยู่ภายใต้กระบวนการทางอาญา ผ่านการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตามลำดับ ไม่ได้ต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

มีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองเกาหลีใต้ ประเทศที่ขึ้นชื่อ "ประชาธิปไตยเข้มแข็ง (Democratic Consolidation)" ผู้คนจิตใจปฏิพัทธ์ต่อระบอบการปกครองนี้อย่างเคร่งครัด และกระบวนการทางสภาสามารถนำประธานาธิบดีและนักการเมืองเข้าไปกินข้าวแดงได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่เหตุใด ยุน ซอก-ยอล จึงยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้

การเมืองสภาเดี่ยว "ทางรอด" เพิ่งเริ่มต้น

อำนาจนิติบัญญัติจากสมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภา) ของเกาหลีใต้ เป็นระบบ "สภาเดี่ยว" มีสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สส.) จำนวน 300 คน มีประธานสมัชชาแห่งชาติ (ประธานสภา) เป็นประมุข นอกเหนือ อำนาจหน้าที่ เสนอพิจารณา และยับยั้งกฎหมาย หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจผู้นำแล้ว ยังสามารถยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ Impeachment ได้

ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นความยิ่งใหญ่ของระบบสภาเดี่ยวเกาหลีใต้ เนื่องจาก ไม่จำเป็นต้องมีสภาสูง (สว.) เข้ามาให้การรับรอง Impeachment สมาชิกสมัชชาที่มาจากประชาชนโดยตรงกระทำการได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ประเทศที่มีการยื่นถอดถอนจากสภานั้น จะทำได้กับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเดียว แต่ไม่ใช่กับที่นี่

ตาม รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ปี 1987 มาตรา 65 ระบุว่า สภาสามารถยื่นถอดถอน  นายกรัฐมนตรี (สถานะเทียบเท่ารองประธานาธิบดี) คณะรัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (ก.ก.ต.) และบอร์ดผู้ตรวจสอบและตรวจการ (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ไล่เลียงตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือข้าราชการประจำ กล่าวได้ว่า เป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติสูงมาก

ขณะที่ มาตรา 65(2) ระบุว่า การยื่นถอดถอนประธานาธิบดีต้องใช้เสียงในสภาอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือจำนวน 200 เสียง แตกต่างจากตำแหน่งอื่น ๆ ที่ใช้เพียง 1 ใน 3 หรือจำนวน100 เสียง หมายความว่า ยังมีความยากในการยื่นถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ยกเว้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมัชชาสามารถเลือกตั้งผู้นำ "กลางเทอม" โดยครองอำนาจ 2 ปีครึ่ง และหากประชาชน ไม่ชอบหน้าประธานาธิบดี ก็สามารถเทคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ "สอยให้ร่วง" ได้

สภาวะ "เป็ดง่อย (Lame Duck)" เช่นนี้ มักเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีทุกฝ่าย ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา ถือเป็นความยากของในทำงานผู้นำประเทศเกาหลีใต้ ที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว ในระยะเวลา 5 ปี ก็ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของสมัย ผู้นำมักจะขยับเขยื้อนอะไรไม่ค่อยได้

ยุนเป็นคนหนึ่งของผู้เผชิญกับสภาวะอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว หลังจากการร่างงบประมาณแผ่นดิน ปี 2025 ของรัฐบาลถูก "เตะถ่วง" ไม่ยอมให้ผ่านร่างฯจนเกือบจะหมดสมัยประชุมสามัญ รวมถึงการที่พรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ของฝ่ายค้าน ได้รับเสียงในสภามากถึง 173 เสียง และบรรดาพรรคเล็ก ๆ ที่เป็นพันธมิตรอีก19 เสียง รวมแล้ว 192 เสียง เกือบจะเป็น 2 ใน 3 ของสภา เป็นสัดส่วนสูงที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ เรียกได้ว่า หากสามารถที่จะดีลกับ "มุ้ง" ในฝ่ายรัฐบาลได้เพียง 8 เสียง ยุนก็อาจจะต้องเพลี่ยงพล้ำในทันที

เมื่อระบบเอื้อให้ยุนติดคุกมากมายขนาดนี้ คำถามที่ตามมา คือ เหตุใดอดีตอัยการ สูงสุดวัย 63 ปีผู้นี้ ยังรอดปากเหยี่ยวปากกา และปลอดจากการถูกรุมทึ้งจากสภาไปได้ ?

บทวิเคราะห์ Why Park Geun-hye was impeached, but Yoon Suk Yeol isn't เขียนโดย คิม รัน คอลัมนิสต์แห่ง The Korea Times ศึกษาเปรียบเทียบการลงมติถอดถอน ระหว่าง พัค กึน-ฮเย ที่ประสบความสำเร็จ และ ยุน ซอก-ยอล ที่ล้มเหลว โดยชี้ว่า การเลือกตั้งกลางเทอม ปี 2016 พรรคฝ่ายขวามีที่นังในสภาในระดับพอฟัดพอเหวี่ยงกับพรรคฝ่ายซ้าย คือ 122:123 โดยมีมุ้งข้างหนึ่งที่ไม่พอใจการบริหารของพัค ทำให้แยกตัวออกมาเป็น "พรรคแบรึน" ฝ่ายค้านอิสระที่ล่มหัวจมท้ายกับฝ่ายซ้ายเพื่อโค่นพัคลงจากตำแหน่ง

หลังกำจัดพัคได้สำเร็จจาก Impeachment มุ้งการเมืองนี้ ก็กลับมารวมตัวกับฝ่ายขวา รีแบรนด์เป็นพรรคประชาชนในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีที่มาจากฝ่ายซ้าย คือ พัค โดยอำนาจของพรรคการเมืองฝ่ายขวานั้นมีมาก ไม่จำเป็นต้องง้อฝ่ายบริหาร ยังสามารถที่จะคงสถานะในสภา หากฝ่ายซ้ายที่ตั้งรัฐบาลอยากผ่านงบฯ ก็ต้องเข้ามาล็อบบี้ "ประนีประนอม" หรือหากผิดใจกัน ก็สามารถไปรวมเสียงจากพรรคเล็ก ๆ เพื่อยื่นถอดถอนกลับได้

แต่สำหรับยุน มีเงื่อนไขที่เอื้อให้พรรคประชาชนเลือกที่จะยืนข้างเขามากกว่าที่จะประสานพลังกับพรรคประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งกลางเทอม ปี 2024 พรรคพลังประชาชน แพ้ยับเยิน เหลือเพียง 108 เสียง ทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองแทบจะไม่เหลือ รวมถึงพรรคเล็ก ๆ ในสภาก็มีน้อยและเป็นพรรคฝ่ายค้านแทบทั้งหมด ดังนั้น การเกาะอยู่กับอำนาจทางการเมืองของยุน จึงเป็นทางออกที่พอจะทำให้พรรคนั้นยังคงมีอำนาจต่อรองต่อไปได้

คิม รัน ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลยังถือครองเสียงสมาชิกทั้ง 8 คนไม่ให้แปรพักตร์ไปอยู่กับฝ่ายค้าน ซึ่งยังจำเป็นต่อการยื่นถอดถอนของฝ่ายค้านอยู่ ดังนั้น จึงเห็นความอาจหาญในการวอล์กเอาท์ออกนอกสภา แบบไม่แคร์สื่อและประชาชนของพรรครัฐบาล อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยให้ยุนอยู่ในบัลลังก์ต่อไปได้

ฝ่ายค้านผ่านงบฯ "ยอมถอยหรือพ่ายแพ้"

การเมืองในสภาลักษณะนี้ ถือเป็นความแปลกใหม่ของแผ่นดิน "พยัคฆ์คำรน" เพราะเป็นการเปิดเผยให้เห็น "คูเหลี่ยมทางการเมือง" ของกลไกสภาเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดี แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเหลี่ยมเชิงของพรรคพลังประชาชนน ได้สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญต่อเรื่อง "ร่างงบประมาณแผ่นดิน" ที่ยังค้างอยู่ในสภา

ล่าสุด พรรคฝ่ายค้านได้ผ่านร่างงบประมาณไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า ต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยนโยบายทางการคลังและเศรษฐกิจ แม้จะต้องจำใจ "กลืนเลือด" เพราะรู้ทั้งรู้ว่างบประมาณส่วนนี้ ยุนอาจนำไปจัดสรรในทางมิชอบก็ตาม

ประเด็นดังกล่าว อาจส่อนัยสำคัญว่า พรรคฝ่ายค้าน "ทอดทิ้งประชาชน" ที่พร้อมล่มหัวจมท้าย โดยยินดีจะอดตาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ออกมาชุมนุมขับไล่ยุน มากมาย โดยไม่สนว่าการดึงเกมร่างงบฯ จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และนำภัยมาถึงตัวพวกเขาอย่างง่ายดาย เสมือนยอมรับกลาย ๆ ว่า เกมการเมืองนี้ ยุน ซอก-ยอล ขึ้นนำ 1-0 ประตู

จนทำให้เรื่องต้องมาถึงมืออัยการแผ่นดิน เข้ามารับช่วงสอบสวนต่อเพื่อยื่นฟ้องในคดีอาญา แต่ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ระบุว่า ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะได้รับการป้องกันจาก "คดีอาญา" หากยังคงการดำรงตำแหน่ง เว้นเสียแต่เป็น "กบฏ" ต่อชาติบ้านเมือง

แต่การตีความกบฏ ตาม ประมวลกฎหมายอาญาเกาหลีใต้ มาตรา 87 ระบุว่า ผู้ใดจะเข้าข่ายกบฏ (Insurrection) ก็ต่อเมื่อ "ใช้ความรุนแรงเพื่อยึดดินแดน หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ" แต่หากพิจารณาการกระทำของยุน ที่ประกาศกฎอัยการศึก "ตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้" ทั้งยังเป็นการ "กระชับอำนาจรัฐ" มากกว่าที่จะเป็นการยึดผืนแผ่นดินด้วยความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีคิดของ "สงคราม" ที่ต้องทำลายล้างอริราชศัตรูให้หมดสิ้น

หรือหมายความว่า ตามกฎหมายอาญา ยังมีคำถามตัวโต ๆ ว่า จะสามารถเอาผิดยุนได้หรือไม่

ระวังแปรพักตร์ "8 เสียง" ตัวพลิกเกม

กล่าวได้ว่า เกมการเมืองของยุนในสภา สร้างผลกระทบต่อความเป็นกลุ่มก้อนของพรรครัฐบาล ส่งผลให้เกิดการวอล์กเอาท์ยกกระบิ ทำให้อัยการต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว ยื่นสอบสวนในคดีอาญา ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว การเอาผิดประธานาธิบดีทำได้ยากมาก

หากกระนั้น มีสัญญาณบางอย่างจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติฝ่ายรัฐบาล ที่คล้ายจะยอม "แตกแถว" เข้าข้างพรรคฝ่ายค้านเพื่อรอสอยประธานาธิบดีจากพรรคตน

แพ ฮยอน-จิน สมาชิกสมัชชาสาวสวยแห่งพรรครัฐบาลออกมาเปิดเผย ว่า แม้ตนจะเลือกบอยคอตการลงมติถอดถอนยุน แต่ได้มีการหารือภายในว่า ที่พวกเราทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นก้าวที่ผิดพลาดของพรรคหรือไม่

ข้อคิดเห็นจากผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค ไม่ได้มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของพวกเรามากมายนัก เห็นจากตอนนี้ พวกเราส่วนใหญ่ต่างอยากเข้าร่วมการโหวตอีกครั้ง แม้จะเป็นมติพรรค แต่พวกเราใช่ว่าจะโหวตแบบตามน้ำแต่อย่างใด
ที่มา: trustbhj

ที่มา: trustbhj

ที่มา: trustbhj

ส่วน คิม ซัง-อุก เพื่อนร่วมพรรค ชี้ว่า พร้อมโหวตให้ยุนออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน และขอโทษประชาชนในสิ่งที่ได้กระทำลงไปในการโหวตครั้งแรก

ผมขอโทษจากใจจริง ผมจะทำตามหัวใจเรียกร้อง ปกป้องรัฐธรรมนูญและคุณค่าเสรีนิยมประชาธิปไตย ตามหลักการของพรรค โดยการโหวตถอดถอนยุน ออกจากตำแหน่งแน่นอน

โลกการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้-และพรุ่งนี้ อาจมีผลลัพธ์แตกต่างกัน ไม่ต่างจากกรณี ยุน ซอก-ยอล แม้เงื่อนไข ในขณะนี้ยังทำให้เขารอดพ้นการกินข้าวแดง แต่การที่เป็น "ประธานาธิบดีคนนอก" ไร้มุ้งสนับสนุนในพรรครัฐบาล เท่ากับ "ขาลอย" และการขาดฐาน "การเมือง"อุ้มชู ย่อมส่งผลให้ "เสื่อมยศ" ได้เช่นกัน

ที่มา: trustbhj

ที่มา: trustbhj

ที่มา: trustbhj

แหล่งอ้างอิง

Why Park Geun-hye was impeached, but Yoon Suk Yeol isn't, The national assembly of the republic of Korea, Constitutional of Korea, Criminal Act of Korea, The Korea Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง