“แฟนพี่ปลุกให้พี่ตื่น ตะโกนว่า น้ำทะเลหนุนแล้ว เมื่อเปิดประตูห้องนอนที่อยู่บนชั้นสองของตึก คลื่นจากน้ำทะเล ลอยอยู่เหนือหัวพี่ แล้วม้วนตัวพี่ไปกับคลื่น เหมือนร่างของพี่กำลังถูกหมุนวนในเครื่องซักผ้า พี่คิดว่าถ้าช้าไปกว่านี้สักวินาทีพี่ตายแน่ เพราะลิ้นพี่เริ่มจุก ตาก็แทบจะถล่นออกมา เพราะหายใจไม่ออก ตอนนั้นได้แต่คิดว่า คนตายเพราะจมน้ำ คงรู้สึกทรมานแบบนี้สินะ แต่โชคดีเพื่อนของพี่ดึงตัวพี่ออกจากบ่อบำบัด พี่ถึงยังมีลมหายใจจนถึงวันนี้”
น.ส.บุญยาวี ประทุมแสงหิรันดร์ ย้อนเล่าถึงภาพแห่งฝันร้ายที่สุดในชีวิตเธอ หลังสามารถรอดพ้นจากความตายใต้คลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถาโถม เข้ามาบนเกาะพีพี จ.กระบี่ ของเช้าวันที่ 26 ธ.ค.2547 ซึ่งฝันร้ายในครั้งนั้นยังทิ้งรอยบาดแผลบริเวณเท้าของเธอมาจนถึงทุกวันนี้
เธอเล่าว่า รอดชีวิตมาได้หลังถูกคลื่นซัดลงในบ่อบำบัดน้ำเสีย เพราะเพื่อนที่ช่วยกันดึงตัวเธอขึ้นมาเหนือน้ำ กว่า 2 วัน ที่ร่างของเธอซึ่งเคลื่อนไหวแทบไม่ได้ เพราะมีบาดแผลทั้งที่เท้า หลัง และมือ จนถูกนำส่งโรงพยาบาล ที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย และกว่า 2 เดือนที่ต้องรักษาตัวจนมีอาการดีขึ้น และก่อนกลับมายังเกาะ เวลาที่ล่วงเลยมาถึง 20 ปีจึงค่อย ๆ ทุเลาความหวาดกลัวลง
ถ้าถามว่า สึนามิให้บทเรียนอะไรกับพี่ พี่ว่า สึนามิสอนให้พี่ไม่ประมาท เมื่อต้องอยู่กับธรรมชาติ ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ 20 ปีแล้ว พี่จัดเตรียมเอกสารสำคัญ ของใช้สำคัญเผื่อเหตุฉุกเฉินเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าสึนามิจะกลับมาเกิดอีกเมื่อไหร่
อนุสรณ์สถานที่จารึกชื่อของผู้เสียชีวิตจากเหตุสึนามิใกล้ๆ กับหอเตือนภัยสึนามิ บนเกาะพีพี ยังคงตอกย้ำความเจ็บปวดของญาติผู้สูญเสีย ใกล้ ๆ กันมีหอเตือนภัยสึนามิ และอาคารหลบภัยที่วันนี้มีสภาพทรุดโทรมไปบ้าง เพราะไม่ได้ถูกใช้งานมากนัก
เกาะพีพี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุสึนามิ 722 คน สูญหาย 587 คน โดยเฉพาะที่บ่อบำบัดน้ำเสีย เคยมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ที่ถูกน้ำพัดพาร่างมารวมอยู่ในที่เดียวกัน วันนี้กลับกลายมาเป็นพื้นที่ของเอกชนในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับพื้นที่เกาะที่เต็มไปด้วยที่พัก ร้านอาหาร และสถานบริการต่าง ๆ จนแทบไม่เหลือร่อยรอยความเสียหายในอดีต
ซึ่งในมุมมองของนายชาญชัย หยังดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิอันดามัน เห็นว่า 20 ปีเหตุการณ์สึนามิ หากย้อนมองการรับมือกับภัยพิบัติใน จ.กระบี่ ยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะระบบการแจ้งเตือนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เสียง หรือการวางแผนเยียวยาฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติไปแล้ว รวมถึงการทับซ้อนของอำนาจในการจัดการภัยพิบัติที่ยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง
“ถามว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่สำนักนายกฯ เท่านั้น ที่มีอำนาจการตัดสินใจ ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนกฎหมายจะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการ แต่เอาเข้าจริง ท้องถิ่นแทบไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งท้องถิ่นที่หมายถึง ไม่ใช่แค่ อบต.หรือเทศบาล แต่หมายถึงการต้องสร้างให้คนในชุมชนตื่นรู้ มีวิธีการจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ และเมื่อเกิดแล้วจะรับมืออย่างไรหลังจากนั้น ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็น เห็นแค่การจ่ายเป็นเงินเยียวยาแล้วก็จบ” นายชาญชัย กล่าว
เจ้าหน้าที่มูลนิธิอันดามัน ยังตั้งข้อสังเกตถึงอีกหนึ่งบาดแผลที่สึนามิทิ้งไว้จนถึงตอนนี้ คือ การเปลี่ยนมือในการถือครองที่ดินริมทะเลที่ถูกถ่ายโอนไปยังกลุ่มทุนมากขึ้น ขณะที่คนดั่งเดิมอย่างชาวเลถูกกลืนกินวิถีชีวิตประมง เพราะการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเข้ามาแทนที่
อ่านข่าว : 20 ปี เหตุ "สึนามิ" ศพผู้เสียชีวิตยังไร้ญาติ
ย้อนเหตุ 20 ปี "สึนามิ" ถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน
นทีสีคราม มหันตภัย "สึนามิ" โหดร้ายเกินมนุษย์จะคาดเดา