โศกนาฏกรรมเครื่องบินของสายการบิน Jeju Air ลงจอดโดยไม่ได้กางล้อและลื่นไถลบนรันเวย์ไปชนกับรั้วกั้นภายในสนามบินมูอัน เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (29 ธ.ค.2567) ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 179 คน รอดชีวิต 2 คน
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเกาหลีใต้และทีมสืบสวน ยังคงลงพื้นที่ตรวจสอบซากเครื่องบิน และเก็บหลักฐานบริเวณจุดเกิดเหตุ ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เปิดเผยว่า ทีมสืบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าการชนของนกและสภาพอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้หรือไม่
- พิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต "Jeju Air" ไถลรันเวย์ ได้แล้ว 174 ร่าง
- เผยภาพถ่ายดาวเทียมที่เกิดเหตุ ""Jeju Air" ไถลรันเวย์
Bird Strike หรือเหตุการณ์การชนกันระหว่างเครื่องบินกับนก ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในวงการการบินทั่วโลก โดยบางครั้งยังรวมถึงการชนกับสัตว์บนพื้น เช่น กวาง กระต่าย หรือสุนัข Bird Strike ครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้เกิดขึ้นเมื่อปี 1905 โดยออร์วิลล์ ไรต์ หนึ่งในผู้บุกเบิกการบิน ซึ่งชนกับนกขณะทดลองบินเหนือทุ่งข้าวโพดในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน Bird Strike เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยมีความถี่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลอพยพของนก ข้อมูลจากหน่วยงานการบินทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2008-2017 ออสเตรเลียรายงาน Bird Strike ถึง 16,626 ครั้ง ขณะที่ในสหรัฐฯ มีรายงานเหตุการณ์ Bird Strike ในปี 2022 เพียงปีเดียวถึง 17,200 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1988 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจาก Bird Strike 262 ราย และมีเครื่องบินที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้อีกถึง 250 ลำ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำคือในปี 2009 เที่ยวบิน US Airways 1549 ที่ออกเดินทางจากสนามบินลากวาร์เดียในนิวยอร์ก ต้องเผชิญกับฝูงห่านแคนาดาที่กำลังอพยพ ส่งผลให้เครื่องยนต์ทั้งสองข้างหยุดทำงาน กัปตันซัลลี ซัลเลนเบอร์เกอร์ จึงตัดสินใจนำเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินในแม่น้ำฮัดสันได้อย่างปลอดภัย เหตุการณ์นี้กลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการรับมือกับ Bird Strike และเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับวงการการบิน
Bird Strike มักเกิดขึ้นใกล้สนามบินถึง 90% โดยเฉพาะในระยะที่เครื่องบินกำลังขึ้นหรือลงจอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่นกมักอาศัยอยู่และบินในระดับต่ำ ผลกระทบจาก Bird Strike อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบิน ในเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น Boeing 737-800 เครื่องยนต์แบบ Turbofan ที่ใช้สามารถบินต่อได้แม้เครื่องยนต์หนึ่งเครื่องจะเสียหาย แต่ในเครื่องบินขนาดเล็ก โดยเฉพาะเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์เดียว การชนกับนกอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง
เพื่อป้องกัน Bird Strike ผู้ผลิตเครื่องบิน เช่น Boeing และ Airbus ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครื่องยนต์ โดยเครื่องยนต์ Turbofan จะต้องผ่านการทดสอบจำลองเหตุการณ์ Bird Strike ด้วยการยิงไก่แช่แข็งด้วยความเร็วสูงใส่เครื่องยนต์ขณะทำงานเต็มกำลัง
นอกจากนี้ สนามบินทั่วโลกยังพยายามลดความเสี่ยงของ Bird Strike ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การปลูกพืชที่ไม่ดึงดูดนกในบริเวณรอบสนามบิน การใช้เสียงระเบิดแก๊สที่เลียนเสียงปืนเพื่อไล่นก และการใช้เรดาร์เพื่อตรวจจับและติดตามฝูงนก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเรดาร์ยังไม่สามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก
แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง แต่ Bird Strike ยังคงเป็นความท้าทายที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญและพัฒนาวิธีป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารและอุตสาหกรรมการบินในอนาคตเมื่อเครื่องบินต้องเผชิญหน้ากับนกในอากาศ
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ โศกนาฏกรรม Jeju Air ไถลรันเวย์
ระทึกซ้ำ Jeju Air อีกลำบินกลับสนามบินต้นทาง หลังพบปัญหาระบบล้อ
กต.ยืนยันชื่อ 2 ผู้โดยสารชาวไทย เสียชีวิตเหตุ Jeju Air ไถลรันเวย์