ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน 36 จังหวัดในภาคเหนือ-อีสาน ระวังน้ำป่า-น้ำท่วมฉับพลัน

ภูมิภาค
21 ก.ย. 54
02:11
27
Logo Thai PBS
เตือน 36 จังหวัดในภาคเหนือ-อีสาน ระวังน้ำป่า-น้ำท่วมฉับพลัน

ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 36 จังหวัด ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อไปจนถึงวันที่ 26 ก.ย.นี้ ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อน 21 แห่งมีปริมาณน้ำเกินกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่าง และ อีก 189 เขื่อนระดับน้ำเต็มความจุแล้ว กรมชลประทานต้องเร่งระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ทำให้ขณะนี้พื้นที่ลุ่มบริเวณริมฝั่งน้ำและพื้นที่ท้ายเขื่อนเกือบทุกบริเวณได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว ซึ่งหากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในระยะนี้ จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจในหลายจังหวัดที่ระดับน้ำเริ่มทรงตัว อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์อุทกภัยที่หนักขึ้นอีก

 

<"">
 
<"">

แบบจำลองสภาพอากาศของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรคาดการณ์พื้นที่ที่จะมีฝนตกหนักในวันนี้ (21 ก.ย. ) โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเลย หนองบังลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ ร้อยเอ็ด ซึ่งคาดการณ์ว่า ลักษณะเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังแสดงพื้นที่ที่จะยังคงมีฝนในลักษณะกระจายโดยใช้สัญลักษณ์สีเขียวเป็นตัวบ่งชี้ ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่า แทบทุกภาคของประเทศจะยังมีฝนตกต่อเนื่องต่อไปอีก

ส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแล้วขณะนี้ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีแนวโน้มว่า จะขยายวงกว้างออกไป แม้ว่าในบางพื้นที่ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น และ แข็งแรงขึ้น แต่ยังมีการคาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกภายในวันที่ 23 ก.ย.นี้ คือ ที่อำเภอท่าหลวง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอสระโบสถ์ หนองม่วง และ ชัยบาดาล ในจังหวัดลพบุรี รวมถึงพื้นที่ อำเภอดอนเจดีย์ เดิมบางนางบวช ศรีประจันต์ สามชุก และหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จังหวัดสระบุรี ที่อำเภอหนองแซง และ ที่จังหวัดปทุมธานี ที่อำเภอธัญญบุรี ลำลูกกา และ หนองเสือ

ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานคาดว่า จะมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และสกลนคร

ด้านศูนย์เตือนภัยพิบัติเแห่งชาติเตือนว่า ทางตอนบนของประเทศรวม 36 จังหวัดจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 ก.ย. และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องจับตาเป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันรวมถึงพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วม ที่อาจทำให้เกิดเหตุดินโคลนถล่มได้ ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบูรณ์ และประจวบคีรีขันธ์

 

<"">
 
<"">

ส่วนการระบายน้ำเหนือ และ น้ำในเขื่อนต่างๆ ขณะนี้ ที่กรมชลประทานรายงานว่า ปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ในอ่างมีระดับสูงกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างแล้วเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 21 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 6 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง จากทั้งหมด 12 แห่ง, ภาคกลาง 1 แห่ง จากทั้งหมด 3 แห่ง, ภาคตะวันตก 1 แห่ง จากทั้งหมด 2 แห่ง และ ภาคตะวันออก 4 แห่งจาก 5 แห่ง ขณะที่ปริมาณน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดกลาง ระดับน้ำเต็มความจุแล้ว 189 แห่ง จาก 376 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับพื้นที่วิกฤตที่ถูกระบายน้ำต่อเนื่องคือ การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำถึงร้อยละ 112 ของความจุอ่าง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ถูกระบายน้ำออกมามากกว่าแหล่งอื่นทำให้จังหวัดท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบแล้วเกือบทุกจังหวัด แต่กรมชลประทานยังเชื่อว่า การระบายน้ำยังอยู่ในความควบคุม แต่จะทำให้การระบายน้ำเหนือทำได้ช้าลง เนื่องจากขณะนี้น้ำได้หลากเข้าท่วมทุ่งบริเวณริมน้ำเกือบทั้งหมด

สำหรับการระบายน้ำที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมภัยพิบัติ ระบุว่า แม้สถานการณ์น้ำในขณะนี้จะถือว่า เป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดจากสถิติที่ผ่านมา แต่การระบายน้ำมายังพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ยังถือว่าสามารถควบคุมได้

ซึ่งเป็นผลมาจากพนังกั้นน้ำของชาวบ้านเกือบทั้งประเทศที่จะมีน้ำไหลมารวมกันที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ไม่แข็งแรงเพียงพอ ทำให้น้ำหลากเข้าท่วมทุ่งเกือบทั้งหมด ซึ่งนับเป็นโชคดีของกรุงเทพมหานคร ที่รองรับน้ำน้อยลงกว่าเดิม ประกอบกับในกรุงเทพมหานครขณะนี้ไม่มีฝนตกหนัก ทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่หากมีการผันน้ำในปริมาณที่มากขึ้นยังเชื่อว่า กรุงเทพฯจะยังรองรับน้ำได้เนื่องจากมีพนังกั้นน้ำที่สูงถึง 2.5 เมตร ซึ่งหากจะให้ล้นพนังกั้นน้ำจะต้องมีการผันน้ำในปริมาณที่มากกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าเป็นไปได้ยาก แต่ยอมรับว่า ในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ และ ชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างแน่นอน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง