ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การแข่งขันพรีเมียร์ลีกจะเต็มไปด้วยการขับเคี่ยวกันของบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ เช่น ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อาร์เซนอล ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส เชลซี หรือกระทั่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สำหรับปี 2025 ไม่ใช่แบบนั้น เพราะมีตัวละครลับที่ทะยานขึ้นสู่ "รองจ่าฝูง" ได้อย่างเหลือเชื่อ นามว่า "น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ (Nottingham Forest)"
พลพรรค "เจ้าป่า" แข่ง 19 แมทช์ ชนะ 11 เสมอ 4 แพ้ 4 ยิงได้ 26 เสียประตู 19 ผลต่าง +7 เก็บได้ 37 คะแนน เป็นการผงาดขึ้นตารางคะแนนพรีเมียร์ลีกอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากฤดูกาลที่แล้วยังต้อง "หนีตกชั้น" อย่างแทบเอาตัวไม่รอด รูปแบบการเล่นแย่เสียจนแฟนบอลยังเอือมระอา เครดิตทั้งหมดคงต้องยกให้ "นูโน เอสปิริโต ซานโต (Nuno Espírito Santo)" กุนซือที่เข้ามายกระดับจนฟอเรสต์สามารถต่อกรกับ เสือ สิงห์ กระทิง แรด บนลีกสูงสุดได้อย่างไม่เคอะเขิน
นูโนทำอย่างไร สามารถ "พลิกเกม" ทีมร่อแร่ใกล้ตาย ให้กลับมาอยู่ในฟอร์มการเล่นสุดโหด พร้อมที่จะแย่งชิงถ้วยพรีเมียร์ลีก เป็นของขวัญปีใหม่แก่แฟนบอล ทั้งที่นักเตะแทบจะยกชุดมาจากการหนีตกชั้นเมื่อปีก่อนแท้ ๆ
ตามรอย "เป็ป" ผสาน "เพรสซิ่ง" และ "สวนกลับ"
หากวิเคราะห์แท็คติกของอดีตกุนซือที่เคยพา "วูล์ฟแฮมป์ตัน (Wolverhampton Wanderers)" ผงาดในพรีเมียร์ลีกมาแล้วเมื่อกว่า 5-6 ปีก่อน จะพบว่า นูโนแทบจะคัดลอกวิธีการทำทีมมาจาก "เป็ป กวาดิโอลาร์ (Pep Guardiola)" บรมกุนซือแห่งยุค มาทั้งกระบิ หรืออาจจะเรียกได้ว่า นูโนนั้นเป็น "เบียวเป็ป (Guardiolista)" หรือ "ผู้ที่คลั่งไคล้เป็ปอย่างสุดขั้ว" เลยทีเดียว
โจนาธาน วิลสัน (Jonathan Wilson) คอลัมนิสต์ฟุตบอลชื่อดัง วิเคราะห์ไว้ในบทความ Age of tactical ideologues is over as Spain dominates new era of pragmatism ของ The Guardian Football ความว่า กุนซือยุคนี้เบียวเป็ปกันทั้งนั้น ทำให้ฟุตบอลออกมาเหมือน ๆ กันหมด คือ เน้นเพรสซิ่ง (Pressing) วิ่งบีบคู่แข่งให้เสียบอล พร้อมการเข้าทำแต้มแบบสายฟ้าฟาด ปิดสกอร์ด้วยความรวดเร็ว แน่นอน วิธีการนี้ใช้พลังงานของนักเตะมหาศาล
แต่แท็คติกในลักษณะนี้มีความเป็น "อุดมคติ" หรือมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก คือ ใช่ว่านักเตะทุกคนจะสามารถทำตามได้อย่างไม่มีที่ติ และใช่ว่าโค้ชทุกคนจะสามารถถ่ายทอดวิธีการเล่นเช่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบเฉกเช่นเป็ป เพราะการเพรสซิ่งใช้พลังงานมาก เหนื่อยง่าย และใช่ว่าจะสามารถทำเกม ต่อบอล เข้าทำ จบสกอร์ ได้ง่าย ๆ หากสกิลไม่มากพอ ดังนั้น จึงได้มีกุนซือบางคนต่อยอดจากความเป็นอุดมคติสุดเข้มข้น มาสู่ "ภาคปฏิบัติ (Pragmatic)" ที่สามารถใช้งานได้จริง หนึ่งในนั้นคือกุนซือฟอเรสต์ผู้นี้
นูโนยังคงสั่งให้ลูกทีมเพรสซิ่ง แต่ไม่ได้ไล่เพรสในแดนของคู่แข่ง กลับกัน เขาเปิดโอกาสให้คู่แข่งบุกมาได้ตามชอบ และค่อย ๆ "ไล่เพรสในแดนหลัง (Defensive Pressing)" เพื่อหลอกล่อให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเติมเกมขึ้นมาจำนวนหลายตำแหน่ง และเมื่อสามารถตัดบอลได้ ฟอเรสต์จะทำการ "สวนกลับ (Counter-attack)" อย่างรวดเร็ว และจบสกอร์ให้ได้ ห้ามปล่อยให้คู่ต่อสู้ได้โอกาสสวนกลับเด็ดขาด
สังเกตได้ว่า วิธีการของนูโน ผสมผสานระหว่าง "แท็คติกทีมใหญ่ และ แท็คติกทีมเล็ก" คือ แม้จะไล่กวดคู่แข่งด้วยการเพรสซิ่ง แต่ไม่ได้บุกกดดันทั้งแมทช์ แบบทีมใหญ่ กลับเน้นในแดนตนเอง หาโอกาสเข้าทำแบบเปรี้ยงเดียวจบ ซึ่งทีมเล็ก ๆ นิยมใช้กัน ตรงนี้ เป็นภาคปฏิบัติของวิถีแห่งเป็ป สำหรับทีมที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง หรือผู้เล่นที่ตรงสเป็คแท็คติก
วิธีการเช่นนี้ ในลีกใหญ่ ๆ ทั่วทั้งยุโรปนิยมไม่แตกต่างกัน และได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด ไม่ว่าจะเป็น "ยาน ปิเอโร กาสเปรินี (Gian Piero Gasperini)" กุนซือของ "อตาลันตา (Atalanta)" ที่นำมาปรับใช้จนพายอดทีมจากเมืองแบร์กาโม (Bergamo) ทะยานคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2023-24 และกำลังเป็นจ่าฝูง กัลโช ซีเรีย อา อิตาลี ในตอนนี้ รวมไปถึง "อันโดนี อิราโอลา (Andoni Iraola)" กุนซือ "บอร์นมัธ (A.F.C. Bournemouth)" ที่ปรับใช้จนสามารถปราบทีมของเป็ปมาแล้ว
เมื่อกุนซือทุกคนเป็นเบียวกวาดิโอลาร์ แต่เท่านี้ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะกวาร์ดิโอลาร์เองก็ไม่ได้ยึดตามปรัชญาดั้งเดิมของเขาที่พาบาร์เซโลนายิ่งใหญ่ คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้นส์ ลีก ปี 2009 และ 2011 แบบเป๊ะ ๆ
วิลสัน ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเป็ป ที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ปรับเปลี่ยนแท็คติกไปตามยุคสมัยเสมอ ดังนั้น บรรดากุนซือที่คัดลอกระบบของเป็ป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาสไตล์เป็นของตัวเองอยู่ดี
"หัวหอก" ตรงใจ "ปีก" อย่างได้ "แผงหลัง" ใช่เลย
แม้การปรับเปลี่ยนแท็คติกให้เป็นเชิงปฏิบัติมากยิ่งขึ้นของนูโน จะทำให้พลพรรค "เดอะ เรด" พุ่งทะยานหัวตารางพรีเมียร์ลีก แต่หากขาด "ขุมกำลังหลัก" อย่างนักเตะที่ตรงกับสเป็กที่เขาต้องการ ย่อมเป็นการยากที่จะได้ผลลัพธ์อย่างที่เห็น
หนึ่งในคีย์แมนสำคัญของนูโน คือ "คริส วูด (Chris Wood)" ศูนย์หน้าร่างยักษ์ เจ้าของความสูง 191 ซม. สัญชาตินิวซีแลนด์ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ผู้เล่นในฝัน เข้าระบบแท็คติกเพรสซิ่ง ที่ต้องใช้พลังมหาศาล รวมไปถึงความเร็วในการไล่บีบพื้นที่ วูดเป็นผู้เล่นที่เชื่องช้า เก้งก้าง แต่มีดีที่ลูกกลางอากาศ แต่นั่นกลับทำให้แผนการของนูโนสำเร็จได้โดยง่าย
เนื่องจาก ในระบบนี้ เน้นการสวนกลับด้วยความรวดเร็ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งศูนย์หน้าไว้ "พักบอล" เพื่อที่จะกระจายออกปีก หรือบังบอลไว้ยิงประตูเอง แน่นอน หัวหอกเจ้าของความสูงเกิน 190 ซม. ผู้นี้ทำได้อย่างไม่มีที่ติ
สถิติความแม่นยำในการทำประตู (Shooting Accuracy) ของวูด อยู่ที่ร้อยละ 81.25 เป็นอันดับที่ 1 ของพรีเมียร์ลีก โดยทำไป 11 ประตู จากการลงสนาม 19 แมทช์ และคิดเป็นอัตราร้อยละ 42.30 จากจำนวนที่ฟอเรสต์ยิงได้ในพรีเมียร์ลีก (26 ประตู) อีกด้วย
"ท้ายที่สุด เราต้องแสวงหาที่ที่ทำให้เราเป็นเรา กุนซือจะใช้งานเราอย่างที่เราเป็น และให้เราได้เล่นอย่างที่เราอยากจะเล่น … ผมไม่ได้เล่นในสไตล์เลี้ยงแหวก 3-4 ตำแหน่ง หรือเลี้ยงกินตัวสุดเส้น หากดันทุรัง ไม่สนับสนุนผม ไม่มีทางเลยที่จะผลิตสกอร์ได้" วูดกล่าวกลับ BBC Sport
ไม่เพียงเท่านั้น นูโนยังได้ค้นพบตำแหน่ง "ปีก" หรือจริง ๆ ต้องเป็น "ศูนย์หน้ากึ่งปีก (Inside Forward)" ที่เข้ากับตำราลูกหนังของเขา คือ "คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย (Callum Hudson-Odoi)" และ "แอนโทนี เอลังกา (Anthony Elanga)" ที่ไม่เพียงแต่เลี้ยงกินตัวดี ยังมีทักษะ "เล่นเกมรับ" ที่ไม่เป็นสองรองใคร โดยในเกมรับ พวกเขาจะลงมาเป็นกองกลางริมเส้น คอยไล่บีบแดนหลัง และหากตัดบอลได้ พวกเขาจะรีบขึ้นแดนหน้าอย่างไว เพื่อทำเกมรุกทางด้านข้าง โดยเน้น "เปิดบอล (Cross)" ไปให้วูดโหม่งทำประตู
และที่สำคัญไม่แพ้กัน "กองหลัง" ของนูโน โดยเฉพาะ "มูริณโญ (Murillo)" ที่มีทักษะ "การทำเกมจากแดนหลัง (Build-up)" ซึ่งจำเป็นอย่างมากหากต้องการเล่นเกมสวนกลับ โดยเน้นเพรสซิ่งแดนหลัง เพราะแดนกลางที่ปกติต้องทำเกม มีหน้าที่เป็นเพียง "ลูกหาบ" คอยไล่บอล ดังนั้น กองหลังจึงต้องรับภาระ "เพลย์เมคเกอร์ (Playmaker)" ไปตามระเบียบ ซึ่งมูริณโญ ถึงกับได้รับการขนานนามว่า มีสไตล์คล้าย "ฟรานซ์ เบคเคนเบาเออร์ (Franz Beckenbauer)" ตำนานกองหลังเยอรมนีเลยทีเดียว
ผมเคยได้ยินเรื่องราวของ ฟรานซ์ มาบ้าง ว่าเป็นสุดยอดกองหลังที่สามารถทำเกมได้ และครองบอลดี ผมไม่ได้อยากจะลอกสไตล์เขามาทั้งดุ้น ผมทำได้เพียงเอาบางอย่างมาปรับใช้ให้การเล่นของผมเพิ่มประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งมากขึ้นเพียงเท่านั้น ใครเลยจะรู้ ผมอาจจะเป็นนักเตะที่ดีกว่าเดิมก็ได้
ส่วนคู่หูของมูริณโญ คือ "นิโคลา มิเลนโควิช (Nikola Milenković)" เป็นกองหลังคนละแนว โดยมิเลนโควิชเป็นสาย "ปะทะ (Tackle Duel)" ซึ่งต้องทำให้เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นกองหลังสายทำเกมจะเล่นลำบาก ซึ่งมิเลนโควิช เจ้าของความสูงเกือบ 2 เมตร ไม่มีความผิดพลาดแม้แต่เล็กน้อย โดยมีอัตราการดวล 1-1 ชนะ 3.57 ครั้งต่อเกม เป็นอันดับ 2 ของพรีเมียร์ลีก เป็นรองเพียง เวอร์จิล ฟาน ไดค์ (Virgil Van Dijk) ยอดเซ็นเตอร์แบ็คของลิเวอร์พูล (3.88 ครั้งแต่เกม) เพียงเท่านั้น
พรีเมียร์ลีกมีความเข้มข้น เล่นเกมเร็วมาก ร่างกายต้องแข็งแกร่ง ผู้ตัดสินไม่นกหวีดหวานง่าย ๆ … ร่างกายแข็งแกร่งอย่างเดียวไม่เพียงพอ ผมต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งด้วย … และผมต้องการที่จะเป็นปีศาจร้ายในกรอบเขตโทษคู่แข่ง ช่วยทีมทำประตูให้ได้ เป็นสิ่งที่ผมต้องเพิ่มการฝึกอย่างมาก
"ปาฏิหาริย์" เกิดขึ้นได้ในโลกฟุตบอลเสมอ
ดังจะเห็นได้ว่า นูโนรังสรรฟอเรสต์ให้โหดสุด ๆ ได้ ด้วยการติดตั้งแท็คติกที่พัฒนามาจากปรัชญาการเพรสซิ่งและเข้าทำรวดเร็วของเป็ป แต่ไม่ได้ลอกมาทั้งดุ้น เขาได้ปรับให้เข้ากับยทรัพยากรบุคคลที่มี โดยการเน้นเพรสซิ่งเพียงแดนหลัง และรอสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทำให้ คริส วูด, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย, แอนโทนี เอลังกา, มูริณโญ และ นิโคลา มิเลนโควิช นักเตะสุดโนเนมเหล่านี้ เฉิดฉายอย่างสง่างาม
แน่นอน ฟุตบอลเป็นเรื่องของ "ปาฏิหาริย์" ไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องบวก "เฮง" คือ โชคชะตาฟ้าลิขิต เข้าไปด้วย พลพรรคเจ้าป่ามาได้ขนาดนี้ นับว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ทำให้หลายคนคิดไปถึงกรณี "เลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City)" ทีมเล็ก ๆ ที่คนไทยเป็นเจ้าของ สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015-16 แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยมาแล้ว
แต่อย่าลืมว่า มีทีมเล็ก ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่เป็น "ไม้ซีกงัดไม้ซุง" อาจหาญมากพอที่จะต่อกรกับทีมใหญ่ ๆ ในลีก แต่สุดท้ายกลับพังไม่เป็นท่า เช่น "ฮอฟเฟ่นไฮม์ (TSG 1899 Hoffenheim)" ในบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2008-09 ที่นำจ่าฝูงมายาว ๆ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะแหกโค้ง ไม่ชนะใคร 11 แมทช์ติด (เสมอ 6 แพ้ 5) จบฤดูกาลด้วยอันดับ 7 ไปแบบชอกช้ำ
อย่างไรเสีย นูโนยังสงวนท่าที ย้ำว่าฟอเรสต์ยังพัฒนาได้อีก ไม่หวังถึงแชมป์ แต่ตอนนี้ทีมอยู่ในบรรยากาศที่ดี และแสดงเจตจำนงว่า ในตลาดซื้อขายนักเตะหน้าหนาว กลางฤดูกาลนี้ เจ้าตัวจะเสริมทัพ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งอย่างแน่นอน ต้องติดตามชมต่อว่า ยอดทีมจาก "East Midlands" เมืองแห่งป่าไม้เขียวขจีนี้ จะไปได้ไกลเพียงไร
บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- https://www.theguardian.com/football/2024/dec/28/football-ideologues-spain-pragmatism-arteta-iraola-emery-guardiola
- https://the-footballanalyst.com/nuno-espirito-santo-nottingham-forest-tactical-analysis/
- https://www.skysports.com/football/news/11727/13243513/nuno-espirito-santo-s-nottingham-forest-are-a-tactical-anomaly-but-it-works-how-they-bucked-the-premier-league-trend
- https://totalfootballanalysis.com/head-coach-analysis/nuno-espirito-santo-nottingham-forest-tactical-analysis-tactics-202425#:~:text=Nottingham%20Forest%20employs%20two%20different,the%20opponent's%20midfield%20defensive%20press.
- https://www.premierleague.com/news/4146784
- http://footballcoin.io/blog/nuno-espirito-santo-tactics-nottingham-forest-2024/
- https://www.bbc.com/sport/football/articles/c748p33gz12o
อ่านข่าว
JAS ชิง "ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก" แผน "ลุยสตรีมมิ่ง-ล้มยักษ์ถาวร"
"มิคาอิล คาเวลาชวิลี" อดีตศูนย์หน้า "แมนฯ ซิตี้" สู่ปธน. จอร์เจีย