วันนี้ ( 8 ม.ค.2568) จากกรณีที่บริษัท สิงห์โตทองไร้ซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 99/1 หมู่ 2 ต.ธำมรงค์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร นำเอกสารออกมาเปิดเผยว่า ได้รับความเสียหายจากการรับฝากข้าวที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าไว้เมื่อปี 2557 จนมีปัญหายืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 10 จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของภาครัฐบางคนที่มีอำนาจในขณะนั้น สร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
ล่าสุดนายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกมาชี้แจงว่า กรณีที่คลังข้าวสิงโตทองไรซ์ เกิดไฟไหม้และมีการยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกจนเกิดการร้องเรียน ว่า กรณีที่ข้าวเกิดไฟไหม้อคส.ได้ดำเนินการคัดแยกข้าวสารมาไว้ที่หน้าคลังสินค้าและคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ชุดที่ 101/2557 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2558 ได้ตรวจสอบ พบว่า เป็นข้าวผิดชนิด ดังนั้น จึงเกิดข้อพิพาทและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
นอกจากนี้อคส.ได้ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยได้นำค่าสินไหมทดแทนมาชำระให้กับ อคส. ชนิดข้าวขาว 5% จำนวน 50 กระสอบ เป็นเงิน 82,600.00 บาท และชนิดข้าวเหนียว 10% จำนวน 4,187กระสอบ เป็นเงิน 10,894,574.00 บาท ซึ่ง อคส. ได้ออกเอกสารให้บริษัทประกันภัยเพื่อไปรับซากทรัพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปรับซากทรัพย์ได้ เนื่องจากเจ้าของคลังยึดหน่วงซากทรัพย์
หลังจากนั้น อคส.ได้ออกประกาศการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2563 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2563 ซึ่งผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อขายเลขที่ คชก.ซข.(อต.)4/2563 ลงวันที่ 9 ก.ย. 2563 จำนวน 38,592.481329 ตัน มูลค่า 319,488,888.03 บาท ผู้ซื้อรับมอบได้ จำนวน 30,348.600 ตัน มูลค่า 251,251,692.12 บาท คงค้างการรับมอบ 8,243.881329 ตัน มูลค่า 68,247,192.18 บาท
ต่อมา ฝ่ายกฎหมายของอคส.ให้ความเห็นว่า การซื้อขายตามกรณีนี้เป็นการรับมอบสินค้าที่ บจก.สิงห์โตทองฯ หลัง A1 เมื่อกองข้าวที่มีสภาพไฟไหม้อยู่ภายนอกคลังสินค้า A1 และไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นข้าวจากกองใดจึงเป็นข้อเท็จจริงที่พ้นวิสัยอันจะบังคับเอาได้ตามสัญญาให้ ผู้ซื้อ ต้องรับข้าวซึ่งมีสภาพไฟไหม้ไปตามสัญญา ประกอบกับ ผู้ซื้อ รับข้าวจากคลังสินค้า A1 แล้วคงเหลือเพียงข้าวบางส่วนซึ่งนำออกมาไว้นอกคลังโดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นข้าวของคลังสินค้า A1 ซึ่งระบุตามสัญญาซื้อขายแล้วหรือไม่ ทั้งความรับผิดในการส่งมอบข้าวนั้น อคส. ในฐานะผู้ขายไม่ต้องรับผิดในจำนวนขายที่ไม่สามารถส่งมอบได้ครบตามสัญญา
ดังนั้น หาก ผู้ซื้อ รับข้าวตามสัญญาในคลังสินค้า A1 แล้ว คงมีเพียงปริมาณข้าวที่อยู่นอกคลังและมีสภาพไฟไหม้ มีการรับมอบตามสัญญาแล้ว ผู้ซื้อ พ้นภาระตามสัญญาซื้อขายแล้ว จึงได้รับหลักประกันที่ใช้ในการค้ำประกันสัญญาคืน
โดยเวันที่ 1 เม.ย. 2567 อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ได้อนุมัติให้ยกเลิกการชำระเงินและรับมอบข้าวสารและคืนหลักประกันสัญญาให้กับผู้ซื้อ ทั้งนี้ อคส.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนด้วยความรอบคอบ ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล
อ่านข่าว:
ขึ้นค่าแรง 400 บาท สนค.ชี้กระทบเงินเฟ้อเพียง0.15-0.30%
นาทีทองคนตัวเล็ก คต.ปลดล็อกขั้นตอนส่งออกข้าวเริ่มแล้ว 3 ม.ค.
TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยปี68 “ไม่ตายแต่ไม่โต” มรสุมการค้า-สงครามทำโลกปั่นป่วน