กรณีที่มีผู้ปกครองโพสต์เรื่องราวของลูกสาวว่า ป่วยมีอาการไข้ต่ำๆ ต่อมามีอาการชักเกร็ง แม่พาไปหาหมอปั๊มหัวใจ ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ต่อมาเสียชีวิต แพทย์ระบุว่า ลูกสาวติดเชื้อไวรัสในอากาศ แล้วลงไปที่หัวใจ จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันและเสียชีวิต
วันนี้ (9 ม.ค.2568) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา อธิบายถึงภาวะและสาเหตุที่ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเกิดจากไวรัสหลายกลุ่ม แต่โอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นมีน้อย ไม่ได้เกิดกับทุกคน เตือนประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก
รู้จักกับภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"
ศ.นพ.ยง ระบุว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจ กรณีการอักเสบที่เยื่อหุ้มหัวใจ จะมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ แต่กรณีการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจจะทำให้แรงบีบของหัวใจสูญเสียไป หัวใจบีบเลือดออกไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ดังนั้นร่างกายที่ปั๊มเลือดออกไม่ได้ เป็นเหตุให้อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"
ศ.นพ.ยง ระบุว่า ส่วนใหญ่มักพบในเด็ก โดยเกิดจากไวรัสหลายกลุ่ม เช่น ไวรัสที่อยู่ในกลุ่มทางเดินอาหาร ไวรัสที่ทำให้เกิดมือเท้าปาก ไวรัสที่ทำให้เกิดแผลในปาก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก แต่มีบางคนเท่านั้นที่เชื้อไวรัสจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยจะเกิดขึ้นเป็นเฉพาะรายบุคคลเท่านั้น โอกาสเกิดมีแต่ค่อนข้างน้อย แต่หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ความรุนแรงจะค่อนข้างเยอะ เพราะหัวใจไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หัวใจก็จะขยายโป่งพ่องออก แรงบีบไม่มี
กรณีที่เกิดนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในพัน หรือ หนึ่งในหมื่น หรือ หนึ่งในแสน ที่อาจจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จริงๆ แล้วไม่ต้องตื่นตกใจเลยว่า ไวรัสตัวนี้ระบาดแล้วจะติด ไม่ใช่
การวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยตั้งแต่ทำดูว่าหัวใจโต การเอกซเรย์ การฟังเสียงหัวใจ การตรวจคลื่นหัวใจก็จะทราบว่าคลื่นไฟฟ้าต่ำหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยที่แน่นอนคือการทำ เอ็มอาร์ไอ หรือ การนำเยื่อบุหัวใจชั้นใน หรือ นำกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีการอักเสบหรือไม่ แต่โดยทั่วไปลักษณะอาการก็จะทราบว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนกรณีการระบุว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือ สาเหตุอะไร จะต้องใช้วิธีการตรวจหาเชื้อตัวนั้น
ไม่ต้องไปตื่นตกใจ ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยอมรับว่าเป็นโรครุนแรง ร้ายแรงสำหรับคนที่เป็น แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องตรวจวินิจฉัยให้ได้ว่าเกิดจากเชื้ออะไร
แนวทางการรักษาอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากรายที่ไม่รุนแรงจะรักษาแบบประคับประคอง ให้การอักเสบลดลง จะหายได้ แต่ในรายที่รุนแรงจนหัวใจวาย คือไปกระทบกระเทือนกระแสไฟฟ้าหัวใจ ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ กลุ่มนี้จะรุนแรง การรักษาจะรักษาตามอาการ ให้ยาประคับประคอง พยุงอาการไว้ และจะกระตุ้นหัวใจ รอเวลาให้การอักเสบทุเลาลง ส่วนโอกาสการเสียชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
แนวทางการป้องกัน
การป้องกันก็เหมือนกับการป้องกันไวรัสเช่นเดียวกับไวรัสทางเดินหายใจ และไวรัสทางเดินอาหาร หลักเดียวกัน คือ การดูแลเรื่องสุขอนามัย คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กรณีที่ไม่สบายควรสวมหน้ากากอนามัย ส่วนเด็กเล็กควรหยุดเรียน
ไวรัสตัวหนึ่งอยู่กับอีกคนอาจจะมีอาการน้อยมาก หรือ ไปติดอีกคนมีอาการรุนแรง ไม่มีใครบอกได้ เช่น ไข้เลือดออก หรือไข้สมองอักเสบ ติดเชื้อ 300 คน มีอาการแค่คนเดียว
เด็กเล็กต้องระวัง
ศ.นพ.ยง ระบุว่า ไวรัสที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะที่ติดจากการกิน จะอันตรายในเด็กเล็ก หากอายุมากขึ้นความรุนแรงหรือความอันตรายจะลดลง เพราะมีภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของร่างกายที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในช่วยปกป้อง
เขาต้องได้รับเชื้อไวรัสตัวนั้นเข้าไป และไวรัสที่รับเข้าไปก็จะทำให้เกิดมีไข้และมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับไวรัสตัวนั้นจะเข้าไปในอวัยวะอะไร ก็จะไปทำอันตรายต่อร่างกาย ถ้าอวัยวะนั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่
ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ แล้ว อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ คือเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ และหรือสมองไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เป็นอาการแทรกซ้อน พบได้เช่น enterovirus ตัวที่พบบ่อยได้แก่ enterovirus-A71 Coxsackie B, Echo virus ไวรัสในกลุ่มอินเทอร์ไวรัสมีเป็นจำนวนมากนับเป็นร้อยชนิด จะจัดรวมไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และอาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง และหัวใจได้ แต่โอกาสที่จะเกิดน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็ก มากกว่าเด็กโต นอกจากนี้ยังมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่เรารู้จักกันดีทั่วไป ก็อาจจะเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมองได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคหัด สุกใส etc. ก็มีโอกาสเกิดได้แต่โอกาสนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในหมื่น ในแสนของผู้ป่วย
ในกลุ่มของ enterovirus ที่มีจำนวนมาก และมีหลายตัวทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบได้ เช่น enterovirus A71, Coxsackie B Echovirus การติดเชื้อ มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะมีอาการแทรกซ้อนดังกล่าว ส่วน EV-A71 การเกิดสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี ถ้าติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดหนึ่งในร้อย แต่ถ้าเด็กต่ำกว่า 3 ปีจะมีโอกาสเกิด 1 ใน 300 และโอกาสจะเกิดน้อยลงไปเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น ส่วนไวรัสอื่นๆโอกาสเกิด จะเป็นหนึ่งในหมื่นหนึ่งในแสนทีเดียวของผู้ติดเชื้อ
อาการเหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป
อาการที่สำคัญจะมีอาการเบื้องต้นเหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่นเป็นไข้ เพลีย ไม่กินอาหาร และต่อมาจะอ่อนแรง หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ เพราะเริ่มมีอาการของหัวใจวาย
โรคนี้มีความรุนแรง แต่ก็พบได้ตั้งแต่มีอาการน้อย อาการมาก จนถึงเสียชีวิตได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ไม่ได้พบบ่อย
การติดเชื้อตัวเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีอาการ การเกิดอาการขึ้นอยู่กับบุคคลซึ่งมีปัจจัยต่างๆ มาเกี่ยวข้อง และมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก
โรคนี้พบได้ทั่วโลก ไม่ได้มีการระบาด พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไปก็ไม่ต้องวิตกกังวลเกินเหตุ ดูแลในมาตรการเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด ให้วัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดในเด็ก ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้ว
อ่านข่าว :
ภัยเงียบออฟฟิศ "Boreout" ความเบื่อหน่ายคุกคามสุขภาพจิตคน
ยันโอมิครอน JN.1 คงอยู่ระบาดในไทย-ไม่พบสายพันธุ์ใหม่
พบผู้ป่วย "ไข้หวัดนก" เสียชีวิตคนแรกในสหรัฐฯ - ไทยเฝ้าระวังเข้ม