การเกิดขึ้นของ ChatGPT ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทักษะด้าน "AI" มีความต้องการในตลาดแรงงานเป็นที่สุด จากรายงานของ The Future of Jobs Report 2025 ระบุว่า ตำแหน่งงานแบบเดิม ๆ จะสูญสลายไปมากกว่า 92 ล้านตำแหน่ง โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ พนักงานไปรษณีย์, พนักงานคีย์ข้อมูล, พนักงานธนาคาร, แคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว และงานธุรการ
สังเกตได้ว่า งานที่กำลังจะล้มหายตายจากไปนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหลักวิชาด้าน สังคมศาสตร์ (Social Science) เป็นส่วนใหญ่
รายงานดังกล่าว ระบุอีกว่า ตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 170 ล้านตำแหน่ง เกือบทั้งหมดเกี่ยวพันกับ AI ทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรกของงานที่พุ่งแรงที่สุด ได้แก่ Big Data Specialist, FinTech Engineer, Machine Learning Specialist, Softwar Developer และ Security Manager ตำแหน่งงานเหล่านี้ต้องการผู้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักวิชา "เทคโนโลยีระดับสูงและเฉพาะทาง" เพื่อให้เกิดการจ้างงานในภายภาคหน้า
แม้จะเข้าใจได้ว่าการทำงานต้องใช้ทักษะที่จำเป็น และตอบโจทย์ต่อภาคธุรกิจ แต่แรงงานยุคใหม่มีทักษะ AI อย่างเดียว เพียงพอต่อการอยู่รอดในโลกของการจ้างงานที่แข่งขันกันสูงขึ้นหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้วยังต้องประสานพลังกับความรู้ ทักษะด้านสังคมศาสตร์ ที่มีประเด็น "Critical Thinking" หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ ถี่ถ้วน รอบคอบ ไม่ตกเป็นเหยื่ออะไรง่าย ๆ

ผสาน "ศาสตร์และศิลป์" ให้บัณฑิตเป็น "แรงงานยุคใหม่"
ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ไม่ได้แยกขาดจากการเรียนเพื่อรู้อย่างถาวร แต่สามารถที่จะ "Interplay" หรือ สร้างผลสืบเนื่องต่อกันและกันได้ หากมีเพียงองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์เพียงอย่างเดียว ย่อมตกงาน เตะฝุ่น การจ้างงานไม่เกิด แต่หากมีเพียงทักษะวิชาชีพ เช่น AI ความลุ่มลึก การตัดสินคุณค่า และการคิดเชิงวิเคราะห์ย่อมหายไป เหลือเพียงแต่ "Labour Intensive" หรือ แรงงานที่ลงแรงเฉย ๆ ไม่มีชุดวิธีคิดในการตัดสินใจ หรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
การจะเป็นแรงงานที่สมบูรณ์พร้อมในอนาคต จะต้องผสาน "ศาสตร์และศิลป์" หมายถึง ต้องมีทั้งทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน และมีองค์ความรู้เชิงนามธรรมที่ลุ่มลึกมากพอในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า แรงงานที่อยากจะอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นสายสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ หรือกระทั่งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องพัฒนาตนเองให้ "ยกระดับทักษะถ้วนหน้า (Holistic Upskills)" หมายถึง ไม่เพียงแต่เพิ่มขีดความสามารถในทักษะด้านใดด้านหนึ่ง หรือเลือกเฉพาะทักษะที่ตนสนใจ ชื่นชอบ หรือมี Passion มายกระดับเท่านั้น แต่ต้องยกระดับ "ทั้งกระบิ" เพื่อให้ความสามารถของตนนั้นมีมากพอที่จะประกอบอาชีพที่สอดรับกับตลาดแรงงานในโลกอนาคตได้

ทุกวันนี้ ไม่มีแบ่งแยกศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง อักษรศาสตร์ ต้องเข้าใจเทคโนโลยี จึงจะประยุกต์ใช้ ChatGPT ได้ หากเชี่ยวชาญเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ตลาดแรงงานไม่ต้องการ … ทุกวันนี้ AI สามารถ Generate นิยาย หรืองานโฆษณา อาชีพเหล่านี้เหลืออะไร … เราต้องเข้าใจโลกว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด … เราเน้นสร้าง Future Human เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ศ.ดร.วิเลิศ ยังชี้ว่า อุดมศึกษายุคใหม่ต้องผลิตบัณฑิตที่เปี่ยมล้นไปด้วย "Critical Thinking" หมายถึง ต้องมีทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และสร้างสรรค์ เพื่อใช้ในการกำกับควมคุม AI อีกทอดหนึ่ง ถึงแม้สิ่งนี้จะฉลาดกว่าปัจเจกมาก ทั้งจดจำได้ดีกว่า บรรจุข้อมูลได้มากกว่า และรอบรู้มากกว่าสมองของเรา แต่สติปัญญาของมนุษย์ อย่างไรก็เหนือกว่าในเรื่องของ "การวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ (Analytical and Creative)"

เชื่อมั่นว่า ปัญญาที่ไม่ประดิษฐ์ ที่เกิดขึ้นจากผู้เรียน เอาชนะ AI ได้ … แม้จะใช้งาน AI แต่ท้ายที่สุด ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเองว่า สิ่งที่ได้มาควรนำไปใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร … เช่น ให้ AI สร้างโฆษณา แบบใดที่ลูกค้าจะชอบ หรือซื้องานเรา เหล่านี้ต้องคิดเอง
บทความวิจัย The Neoliberal University as a Space to Learn/Think/Work in Higher Education เขียนโดย อิเกีย ทรัวย็อง (Igea Troian) และ เคลาเดีย ดัทสัน (Claudia Dutson) เสนอว่า มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ไม่ต่างจาก "โรงเลี้ยงแรงงาน" หรือ "Edufactory" ที่ความสำเร็จไม่ได้มาจากการสร้างองค์ความรู้ได้มากเพียงไร แต่มาจากสามารถผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกได้มากน้อยเพียงไร หากป้อนได้มาก เท่ากับว่า มหาวิทยาลัยก็จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคธุรกิจและภาครัฐมากตามไปด้วย
แต่การเป็นเพียงโรงเลี้ยงแรงงาน ที่ผลิตบัณฑิตออกมาเหมือน ๆ กัน เท่ากับว่า การแข่งขันในตลาดก็จะสูงตามไปด้วย และเมื่อใดก็ตามที่ ตลาดแรงงานเปลี่ยนความต้องการทักษะไปอีกขั้นในอนาคต มหาวิทยาลัยที่ตามไม่ทัน ก็จะผลิตบัณฑิตที่ไร้ความสามารถ ผลักภาระให้นายทุนต้องลงแรง "Upskill และ Reskill" แรงงานใหม่แบบยกเครื่อง

ทางออกที่ง่ายที่สุด คือ ยังต้องคงการเรียนแบบ Critical Thinking เอาไว้ ซึ่งสามารถหาได้จากสาขาวิชาสังคมศาสตร์ อย่างน้อย ๆ ก็เป็น "แต้มต่อ" ให้แก่แรงงานสามารถที่จะคิดอะไรนอกกรอบ แสวงหาทักษะใหม่ ๆ รวมถึงการปรับตัวในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเอาตัวรอดของสาขาวิชา "ปรัชญา (Philosophy)" ฟิโอนา เยนกินส์ (Fiona Jenkins) เสนอไว้ในบทความวิจัย Gendered Hierarchies of Knowledge and the Prestige Factor: How Philosophy Survives Market Rationality ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการ "การตัดสินคุณค่า (Value Judge)" ในบางประเด็นที่ยากแก่การตัดสินใจโดยตลอด วิชาปรัชญาก็ไม่มีทางล้มหายตายจากไปไหน แม้จะไม่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากมายอะไร

แก่นของปรัชญา คือ "การถาม" หมายความว่า ต้องเป็นผู้สงสัยในทุกประเด็น ประหนึ่ง "แบบจำลองทางความคิด" ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ๆ ซึ่งตรงข้ามกับการศึกษาในวิชาชีพหรือการแสวงหาทักษะ ที่เน้นปฏิบัติเลย ไม่ต้องคิดอะไรเกี่ยวกับคุณค่ามากมาย คิดเพียงหลักสมการ การออกแบบโครงสร้าง หรือรูปแบบการจัดวางเป็นพอ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ "การทำแท้ง (Abortion)" หากคิดในแง่มุมผลประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ (Utility) อย่างเดียว การทำแท้งเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะว่าไม่พร้อมจริง ๆ และมนุษย์เราพลาดกันได้ แต่หากมีปรัชญาเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำแท้งจะต้องคิดให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น เพราะต้องคำนึงถึง "สิทธิของตัวอ่อนในครรภ์" ที่ไม่สามารถแสดงเจตจำนงตนเองได้
ข้อควรระวังทักษะ AI พัฒนามาก ๆ "ความยั่งยืนไม่เหลือ"
เห็นได้ว่า เมื่อแรงงานมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์ หมายความว่า สังคมศาสตร์ นั้น "อยู่ยงคงกระพัน (Never Die)" ยังมีที่ทางบนโลกการทำงานในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่สูญสลายไปง่าย ๆ
หากมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตด้วยการติดตั้งทักษะ AI เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงว่า การพัฒนาหรือใช้งาน AI ในระดับสูงมากเท่าไร "ทรัพยากรใต้ดิน" หรือ "พลังงาน" จะถูกใช้งานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดสภาวะโลกเดือด หรือการสูญเสียทรัพยากรหายากไปมหาศาล จะกลับกลายเป็นผลเสียที่มากกว่าเพียงประเด็นตลาดแรงงาน

"Green Transition" เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จำเป็นต้องติดตั้งในแรงงานยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้ตระหนักถึง "ความยั่งยืน (Sustainability)" รักษ์โลก เพิ่มพื้นที่สีเขียว อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ หมายความว่า การพัฒนาบุคลากรด้าน AI อย่างไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด เป็นการทำลายหลักการนี้แบบอ้อม ๆ และอาจจะเป็นผลกระทบในระยะยาว หากดันทุรังจะพัฒนาบุคลากรด้าน AI แบบไม่สนใจความยั่งยืนนี้
สำหรับทางแพร่ง (Dilemma) ดังกล่าว ศ.ดร.วิเลิศ เสนอแบบกว้าง ๆ ว่า เราต้องสร้าง "Sustainable AI" หมายถึง ใช้งานเทคโนโลยีให้ยั่งยืน แม้ในระยะสั้นจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในระยะยาว เมื่อองค์ความรู้ถึงขีดสุด มีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ AI บนฐานของการรักษ์โลกได้
"เราต้องสร้างบุคลากรที่สามารถคิดเรื่องการใช้ AI ไปพร้อม ๆ กับ Sustainability … ตรงนี้ เกี่ยวข้องกับ Empathy หรือการทราบว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เพื่อจะลดผลกระทบต่อสังคมให้น้อยที่สุด … เมื่อมีแต่ผลเชิงลบ ไม่มีเชิงบวก เราอยู่ไม่ได้แน่นอน" อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

แหล่งอ้างอิง
บทความวิจัย Three Problems of Interdisciplinarity
บทความวิจัย Gendered Hierarchies of Knowledge and the Prestige Factor: How Philosophy Survives Market Rationality
https://www.chula.ac.th/news/210213/