หวัง ซิง (Wang Xing) หรือ ซิง ซิง (Xing Xing) นักแสดงชาวจีน วัย 31 ปี ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามตัวกลับมาได้แล้ว แต่ หยาง เจ๋อฉี (Yang Zeqi) นายแบบชาวจีน ซึ่งหายตัวไปที่ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณเดียวกันเกือบ 20 วันแล้ว ยังไร้วี่แวว
สื่อจีนและสื่อเวียดนาม เริ่มตีข่าวตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยญาตินายแบบได้โพสต์ข้อความ ขอความช่วยเหลือบน เหว่ยป๋อ บอกว่า หยาง เจ๋อฉี (Yang Zeqi) หายไปหลังมาถ่ายภาพยนตร์และขาดการติดต่อ แม้วันที่ 21 ธ.ค.2567 ตามเวลาไทย เขาได้ส่งข้อความหาเพื่อนบอกว่ารู้สึกเศร้า และจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก
หยาง เจ๋อฉี (Yang Zeqi) นายแบบชาวจีน ที่สื่อจีนและเวียดนามระบุว่า ญาติตามหา หลังจากเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และหายตัวไปจากชายแดนไทยด้าน จ.ตาก
ล่าสุด หลังจากญาติของหยาง เจ๋อฉี(Yang Zeqi) เห็นข่าว หวังซิง(Wang Xing) โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกัน และที่ผ่านมาญาติได้เข้าแจ้งความกับตำรวจจีน สถานทูตจีนในประเทศไทยและเมียนมา เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
“ไทย” ทางผ่าน “ค้ามนุษย์” ข้ามพรมแดน
เหตุการณ์ จีน “หลอก” จีน แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประ เทศ เนื่องจากชายแดนด้านตะวันตกของไทย รอยต่อระหวางไทย-เมียนมา ได้ถูกใช้เป็นเส้นทางผ่าน เพื่อส่งออก “เหยื่อ” ที่ถูกหลอกไปยังดินแดนที่กฎ หมายไทยเอื้อมไม่ถึง แม้บางกรณีจะมีข้อยกเว้นโดยการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในระดับพื้นที่เจรจากันได้บ้างก็ตาม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ที่ผ่านมาไม่ได้มีเฉพาะชาวจีนที่ถูกล่อลวง แต่ยังมีคนไทย อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะคนจีนที่สามารถสื่อสารภาษาจีนและภาษาอังกฤษถูกหลอกไปทำงาน มีการติดต่อนัดหมายผ่านช่องทางโซเชียล ทั้ง เฟซบุ๊ก TIK TOK และ we chat รวมถึงช่องทางอื่นๆ
เหยื่อที่ถูกล่อลวงมีหลากหลายวัย ทั้งวัยทำงาน ที่อยู่ในช่วงตกงาน นักศึกษาจบใหม่ และเด็กที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยผู้ว่าจ้างหลอกว่า เป็นงานสบายและมีรายได้ดี ไม่ต้องแบกหาม ซึ่งรูปแบบลักษณะการหลอกลวงจะมีวิธีแตกต่างกันไป
หากเป็นเหยื่อชาวจีน ในกลุ่มโมเดลลิ่ง ดารา กลุ่มจีนเทาจะติดต่อผ่านทางระบบ We chat ว่า มีงานแสดงของบริษัทที่เกี่ยวกับการจัดหานักแสดง โดยผู้ติดต่อจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวก หลังออกจากสนามบินแล้ว จะมีวิธีการต่างๆ เพื่อส่งตัวข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน
พื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) และกองทัพกะเหรี่ยงเพื่อประชาธิปไตย (DKBA)
ปลายเดือน ต.ค. 2567 เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์(Civil Society Network for Victim Assistance in Human Trafficking) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่ตกค้างอยู่ในฐานอาชญากรรมข้ามชาติ ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ในเมียนมา พื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย
มีข้อมูลระบุว่า มีชาวต่างชาติ จำนวน 110 คน จาก 9 ประเทศ เป็น ชาวฟิลิปปินส์ 55 คน ชาวลาว 19 คน ชาวบังกลาเทศ 13 คน ชาวเอธิโอเปีย 10 คน ชาวปากีสถาน 7 คน ชาวเคนยา 3 คน ชาวคาซัคสถาน 1 คน ชาวอุซเบกิสถาน 1 คน และชาวโมร็อกโก 1 คน และมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือ ฐานะที่ไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วาระปี พ.ศ. 2568-2570
ชายแดนไทย-เมียนมา ใต้เงา“ทุนจีนเทา-ชนกลุ่มน้อย”
ข้อมูลจากหน่วยความมั่นคง ระบุว่า หลังการล่มสลายของกลุ่มจีนเทาที่เข้าไปลงทุนที่สีหนุวิลล์จากกัมพูชา และเมืองเล่าก๋ายที่ถูกทางการเมียนมาเข้าไปกวาดล้างในช่วงปลายปี 2565-2566 พบ มีผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จาก 21 ประเทศ จำนวนกว่า 6,000 คน บางส่วนถูกกักขัง เดินทางกลับประเทศไม่ได้ และถูกตัดขาดความช่วยเหลือ ประเมินว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวจีน 3,900 คน
พื้นที่ชายแดนด้านอ.แม่สอด จ.ตาก อยู่ตรงข้ามกับเมืองเมียวดี ฝั่งเมียนมา เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีอาคาร ตึกใหญ่ เป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มแก๊งสแกมเมอร์ คอนเซนเตอร์ มีกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA เป็นผู้ดูแล
โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวมีการขยายตัว กลุ่มค้ามนุษย์ ทุนจีนเทา ที่หลอกเหยื่อมาทำงาน จะทำในรูปบริษัท มีเงินเดือน หากใครทำยอดหลอกเหยื่อได้ จะหักเปอร์เซ็นต์ให้ แต่ถ้าใครทำยอดไม่ได้จะถูกขายออกไป หรือหากจะกลับบ้าน ก็ต้องหาเงินมาไถ่ตัวเองออกไป
“เชื่อว่า มีทั้งผู้ที่สมัครใจมา ถูกบังคับและถูกหลอกให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์(scammer)ให้เล่นพนันออนไลน์ และคอลเซ็นเตอร์ เฉพาะชายแดนด้าน จ.ตาก ซึ่งพบข้อมูลว่ามีถึง 30 บริษัท ... เมื่อก่อนทางเหนือจะมีลักลอบเข้าทางด้าน จ.เชียง ราย อ.เชียงแสน เชียงของ และอ.เวียงแก่น ซึ่งมีหมู่บ้านติดชายแดนไทย-ลาว ข้ามไปพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาด้าน อ. แม่สอด จ.ตาก เพราะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนกัน” แหล่งข่าวระบุ
และย้ำว่า การกระทำผิดกฎหมายข้ามแดน มีเจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าไปเกี่ยวข้องและบางคนอยู่เบื้องหลัง ร่วมมือกับชนกลุ่มน้อย หากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจริง ๆ ทำได้ไม่ยาก แค่ตัดสัญญาณโทรศัพท์ หรือตัดกระแสไฟฟ้า เพราะกลุ่มจีนเทาจะขยายตัวไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่ไม่ถูกบั่นทอนในทุกด้าน
“ถามว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ถูกหลอกมา ไม่ว่าจะเป็นคนจีน หรือคนชาติไหน ๆ มันจะมีคนเอารถไปรับทั้งนั้น ถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า คนเมียนมารับได้หรือ โดยเฉพาะเวลากลางคืน หรือตามจุดพักชั่วคราวในบริเวณหมู่บ้านริมชายแดน ถามว่า ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้าน ไม่รู้จะเป็นไปได้อย่างไร” แหล่งข่าวระบุ
แจกทุนนักเรียน"คัดตัว"ทำงานเศรษฐกิจพิเศษจีน
ในรายงานการวิจัยเรื่อง สถานการณ์และแนวโน้ม การล่อลวงคนไทยไปแสวง หาผลประโยชน์ เพื่อธุรกิจผิดกฎหมาย และค้ามนุษย์ ใน 3 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2567 ( World Vision Foundation of Thailand) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่ง ว่า
นอกจากจัดหาคนไปทำงานแล้ว...กลุ่มนายทุนเศรษฐกิจพิเศษจีนยังมีวิธีการหาคนไปทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ผ่านการจัดการกองทุนการศึกษา
ผ่านโรงเรียนภาษาจีนในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย โดยจะมอบทุนการศึกษาในช่วงตรุษจีนของทุกปี นักเรียนไทยส่วนหนึ่ง ที่เรียนโนโรงเรียนเหล่านี้ จะได้รับการเตรียมความพร้อมและผ่านการคัดตัวเพื่อไปทำงานให้กับนายทุนจีน ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าว ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันพบกลุ่มคนไทยที่เป็นผู้เสียหาย หรือ เหยื่อ ถูกนำออกนอกประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถูกหลอกเข้าไปทำงานในพื้นที่ในเศรษฐกิจพิเศษทั้งฝั่ง กัมพูชาและลาว เพื่อไปทำงานคาสิโนคิงส์โรมัน (King Roman Casino) มีทั้ง สมัครใจ ถูกบังคับและถูกล่อลวงให้เป็นสแกมเมอร์ (scammer) และคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่เดินทางมาจาก จ.ชียงราย และจ.ตาก เป็นกล่มชาติพันธุ์สามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารได้
ผู้เสียหายบางรายถูกหลอกให้เดินทางข้ามลำน้ำแม่สายและใช้เส้นทางเดินเข้าป่า จุดหมายปลายทางเล่าก๋าย รัฐฉาน เชียงตุง และอีกหลายๆ เมืองในประเทศเมียนมา
ส่วนฝั่งลาวจะมีการนำเหยื่อเข้ามา โดยลักลอบเดินทางข้ามแม่น้ำโขง และใช้เรือหาปลาของชาวบ้านนำกลุ่มคนพวกนี้เข้ามาในพื้นที่ มีจุดพัก เหยื่อที่ถูกเป็นการค้ามนุษย์ หากเป็นผู้หญิจะถูกใช้แสวงหาประโยชน์ทางเพศ โดยมีกลุ่มคนจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยมีคนไทยและคนในพื้นที่เข้าไปมีสวนร่วมอยูู่ในกระบวนการค้ามนุษย์
หยาง เจ๋อฉี (Yang Zeqi) ยังตามตัวไม่พบ แต่เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2568 อู๋ชางฉิง (WU CHANGQING) และ จู เชา (ZHU CHAO) คือ สองหนุ่มรายล่าสุดที่มีเส้นทางการเดินทาง ไม่ต่างจาก ซิง ซิง นักแสดงที่ทางการไทยช่วยเหลือกลับมาได้
พวกเขาที่เดินทางจีนมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และเดินทางต่อไปยัง จ.ตาก ในขณะที่รอผู้มารับอยู่บริเวณจุดนัดพบ ใกล้ช่องทางธรรมชาติบ้านเงาไผ่ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ หากทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู (ฉก.ราชมนู)ไม่ลาดตระเวนไปพบเข้า เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
ชะตากรรมของ "อู๋ชางฉิง" และ "จู เชา" อาจหนีไม่พ้นที่อยู่วังวนของสแกมเมอร์หรือคอลเซ็นเตอร์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะตกอยู่ในเงื้อมมือของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามพรมแดน
อ่านข่าว : ปธ.กกต.ยังไม่เตือน "ทักษิณ" ปราศรัย อบจ. ชี้ยังไม่ได้ทำอะไรผิด
ส่องบัตร ปชช. "เด็กหญิงหมูเด้ง ส.เขาเขียว" เปิดประมูลรอยตีน
ทำเนียบ! พร้อมรับวันเด็กนั่งเก้าอี้นายกฯ-โชว์รถโบราณ-หมูเด้ง