วันนี้ (13 ม.ค.2568) พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช.ได้เชิญตัวแทนผู้นำเข้าเครื่องโทรศัพท์ 2 ยี่ห้อที่พบว่ามีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้ยืมเงินไว้ในระบบปฏิบัติการ มาให้ข้อมูลในวันนี้ นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมซักถามและรับฟังคำชี้แจง ก่อนจะมีการขยายผลถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ขณะที่นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการ สคส. ระบุว่า เป็นโอกาสที่จะได้เข้าตรวจสอบกระบวนการขอข้อมูลส่วนบุคคลของแอปฯ กู้เงิน ว่าขอข้อมูลเกินจำเป็นหรือไม่ การเก็บรักษาข้อมูลทำได้ดีเพียงใด มีการนำไปใช้ประโยชน์อื่นหรือขายข้อมูลด้วยหรือไม่ หากมีเจตนาไม่สุจริตจะได้รับโทษตั้งแต่การตักเตือน ปรับและจำคุก ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและเจตนาของผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนดังกล่าว
อ่านข่าว : ร้องเรียนสมาร์ตโฟนพ่วงแอปพลิเคชันกู้เงิน
ก่อนหน้านี้ บริษัทออปโป้ ประเทศไทย และบริษัท Realme ได้ออกแถลงการณ์ขออภัยผู้ใช้งานและชี้แจงว่า แอปพลิเคชัน Fineasy ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินออกแล้วและคงไว้เฉพาะฟังก์ชันอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน บริษัทกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถถอนการติดตั้งแอปฯ ได้โดยเร็วที่สุด แต่หากผู้ใช้งานต้องการถอนการติดตั้งแอปฯ ในทันที สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าได้ทั่วประเทศ
แม้จะมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกมา แต่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบท.) ระบุว่า แถลงการณ์ของมือถือ 2 ยี่ห้อไม่ได้ระบุจุดประสงค์การติดตั้งแอปฯ มาตั้งแต่แรก เพราะการที่แอปฯ ถูกฝังในระบบ ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ และการติดตั้งซอฟต์แวร์ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสี่ยงต่อการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนขั้นตอนการแก้ไขปัญหาที่ให้ผู้ใช้บริการต้องเดินทางไปศูนย์บริการ เป็นการสร้างภาระให้ผู้บริโภค
ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค จะออกหนังสือถึง 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำคู่ขนานกับการเรียกร้องให้บริษัทโทรศัพท์มือถือ 2 บริษัทชี้แจงที่มาที่ไปเรื่องปล่อยให้แอปฯ เงินกู้ อยู่ในระบบปฏิบัติการ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หลายหน่วยงานของภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ทำงานในเชิงตั้งรับมากกว่าและยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อไล่เอาผิดกับการก่อความผิดลักษณะนี้ จึงทำให้มิจฉาชีพหรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบางค่ายมองเห็นช่องทางหาประโยชน์จากผู้ใช้บริการ
อ่านข่าว : OPPO- Realme ขอโทษลูกค้า เร่งถอดติดตั้งแอปฯเงินกู้บนสมาร์ตโฟน
ขณะที่ในโลกออนไลน์เกิดกระแสการติดแฮชแท็ก #OPPOFighting พบว่าเป็นพนักงานของ OPPO จำนวนหนึ่ง โพสต์ข้อความคล้ายกัน ลักษณะเป็นการเชียร์และให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์
โพสต์หนึ่งระบุว่า ผมเข้าทำงานบริษัทออปโป้ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ผมเห็นการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงมาตลอด จากกระแสที่เกิดขึ้นผมมั่นใจมากๆ ว่าแบรนด์ออปโป้จะจัดการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ที่มีการเติบโตสูงมากๆ ก็มักจะถูกบททดสอบจากผู้อื่นอยู่เสมอ และนั่นเป็นสิ่งที่ดีเพื่อพิสูจน์ให้ผู้อื่นได้รู้ว่าการเติบโตอย่างมั่นคงนั้นเป็นอย่างไร #อันดับ1ก็คืออันดับ1 #OPPO #OPPOFighting #ขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ไว้วางใจครับ
ส่วนอีกโพสต์ระบุว่า มาทำงานตั้งแต่ปี 2019 ระยะหกปีไม่ใช่แค่การเป็นพนักงาน แต่รวมถึงเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนของออปโป้มาโดยตลอดและไม่เคยเจอปัญหาอะไร มีความมั่นใจในออโป้และจากกระแสที่เกิดขึ้นมั่นใจเป็นอย่างมากว่าแบรนด์จะจัดการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเจอบททดสอบอะไรเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าการเติบโตอย่างมั่นคงเป็นแบบไหน ซึ่งโพสต์นี้ก็ได้ติดแฮชแท็ก #OPPOFighting ไว้ด้วยเช่นกัน
ต่อมา เพจดังต่างๆ รวมถึงลูกค้าและชาวเน็ต ต่างตั้งคำถามว่าทางแบรนด์ต้องการสู้กับใคร สู้กับลูกค้าหรือไม่ ทั้งยังเกิดกระแสตีกลับและมีคนนำข้อความของพนักงานไปโพสต์ต่อในโลกออนไลน์
อ่านข่าว
หนาวจัด ดื่มสุราทุกวัน คาดสาเหตุทำชายเสียชีวิตในบ้าน
สภาพอากาศวันนี้ อากาศหนาวเย็นทั่วประเทศ "เลย" ต่ำสุด 6 องศาฯ
ดับแล้วไฟป่าเขาเสียดอ้า เสียหายกว่า 1,700 ไร่ เฝ้าระวังปะทุซ้ำ