วันนี้ (13 ม.ค.2568) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Realme มาสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงิน ในเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟังด้วย
เบื้องต้น ทั้งสองแบรนด์ยอมรับว่า บริษัทได้ติดตั้งแอปฯ มากับตัวเครื่องตั้งแต่เครื่องออกจากโรงงาน โดยผู้บริหารของ OPPO อ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปฯ ต่างๆ ซึ่งใช้แนวคิดเดียวกันกับการติดตั้งแอปฯ ทรูวอลเลต และยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทต้องการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง
อ่านข่าว : กสทช.เรียกผู้นำเข้าโทรศัพท์ติดตั้งแอปฯ กู้เงิน ให้ข้อมูล 13 ม.ค.
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอส" ว่า อำนาจของ กสทช.ในการตรวจอุปกรณ์ จะตรวจการแพร่สัญญาณของคลื่นความถี่ กับการใช้งานอย่างกระแสไฟในระบบของโทรศัพท์ว่าเป็นอันตรายต่อประชาชนหรือไม่ และเป็นไปตามที่กลไกกำหนดไว้หรือไม่
ส่วนแอปฯ กสทช.ไม่ใช่ผู้ดูแล แต่ได้เชิญตัวแทนของทั้ง 2 ค่ายมาพูดคุยเรื่องแอปฯ ที่ปรากฏในเครื่องว่ามีการโหลดเข้าไปก่อนจะให้ กสทช.ตรวจสอบ หรือมีการนำเครื่องมาตรวจก่อนที่จะไปขายและเมื่อตรวจผ่านจึงมีการโหลดแอปฯ เข้าไปเพื่อขายให้ประชาชนหรือไม่
รวมถึงวัตถุประสงของการติดตั้งแอปฯ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย เพราะตามปกติ เครื่องโทรศัพท์ทั่วไปจะมีแอปฯ พื้นฐาน เช่น เครื่องคิดเลข ซาฟารี เป็นต้น แต่การมีแอปฯ กู้เงิน ซึ่งไม่ใช่แอปฯ พื้นฐาน ต้องตรวจสอบว่าได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ เกิดความเสียหายหรือไม่ รวมถึงมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ เรื่องที่จะดำเนินการเร่งด่วนคือ ให้ 2 ค่ายมือถือนำแอปฯ นี้ออกจากอุกรณ์ทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าน่าจะสามารถระงับหรือถอดแอปฯ ออกได้จากศูนย์ โดยไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนไปที่ศูนย์ OPPO หรือ RealMe ซึ่งต้องสอบถามอีกครั้ง
จะขอความร่วมมือให้ 2 ค่ายมือถือรีบถอดแอปฯ หรือระงับการใช้แอปฯ จากประชาชทุกคนที่ซื้อโทรศัพท์ไปหรือทุกเครื่องที่มี และต้องส่งผลการดำเนินงานมาให้ กสทช.
ส่วนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการติดตั้งแอปลักษณะนี้ในอนาคต นายไตรรัตน์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการหารือในแนวทางที่ว่า หากมีแอปฯ ที่เกินมาตรฐานการให้บริการพื้นฐาน จะต้องชี้แจงว่าทำมาเพื่ออะไร ซึ่งยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
หากมองในฝั่งของผู้บริโภค การแถลงของสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นมีตั้งแต่การติดตั้งแบบมาพร้อมระบบปฏิบัติการ เหตุใดทางค่ายจึงให้ติดตั้งแอปฯ ในลักษณะติดตั้งอัตโนมัติ แบบที่ลบเองไม่ได้ บังคับยินยอมติดตั้งเมื่ออัปเดตระบบ อีกทั้งยังเป็นแอปฯ กู้เงินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตัวแอปฯ สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของเจ้าของเครื่องได้ มีการแนะนำแอปฯ ใน APP Market ซึ่งเป็นเหมือนโฆษณาขึ้นบนหน้าจอของผู้บริโภคด้วย
อ่านข่าว : OPPO- Realme ขอโทษลูกค้า เร่งถอดติดตั้งแอปฯเงินกู้บนสมาร์ตโฟน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า บริษัทขายมือถือหรือผู้ประกอบการอาจมีส่วนในการเสนอขายสินค้าหรือบริการให้แก่ประชาชน โดยประชาชนไม่ประสงค์จะรับบริการเหล่านั้น และอาจมีการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของประชาชนผ่านทางระบบของมือถือดังกล่าว
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและคาบเกี่ยวในเรื่องการมีแอปฯ หรือบริการที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่ประชาชนจะสูญเสียทรัพย์สินได้ จากกลุ่มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเห็นว่ามีเหตุของความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจโดยตรง
แม้ขณะนี้ทั้ง 2 ค่ายมือถือจะออกมาระบุว่าจะเร่งดูแลเรื่องดังกล่าว แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคก็เรียกร้องให้ตรวจสอบ 5 ข้อ
1. ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สิน หากละเมิดต้องลงโทษและเยียวยา
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) ตรวจสอบการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจริงจัง
3. สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องตรวจสอบค่ายมือถือที่ปล่อยให้แอปฯ อันตรายติดตั้งในสมาร์ทโฟน
4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและเพลย์สโตร์ กำหนดมาตรการคัดกรองและบล็อกแอปฯ ผิดกฎหมาย
5. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อผิดกฎหมายและปราบปรามแอปฯ กู้เงินเถื่อน
ภาพจากเพจคุณลุงไอที
สำหรับเรื่องดังกล่าว เพจ "คุณลุงไอที" เปิดหน้าตั้งคำถามมาตั้งแต่ปี 2567 และพยายามสื่อสารเรื่องนี้มาตลอด กระทั่งสภาองค์กรของผู้บริโภคพบโพสต์ ซึ่งมีการนำไปขยายต่อทาง X และขอข้อมูลเพิ่มเติม นั่นคือโพสต์ที่ว่า แอปฯ สินเชื่อนี้จะปล่อยมากับการอัปเดตเครื่องรุ่นที่เริ่มเก่า ราคาไม่สูง เป็นแอปฯ ระบบที่ทำให้คนลดความระวัง ซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารและผู้มีรายได้น้อย
ขณะเดียวกันมีข้อมูลจาก พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ระบุว่า กรณีนี้เป็นการโปรโมตร่วมกันระหว่างแบรนด์มือถือและผู้พัฒนาแอปฯ โดยแอปฯ ถูกติดตั้งมากับตัวเครื่อง เสมือนกับการทำตลาดร่วมกันและไม่สามารถลบหรือถอนการติดตั้งได้
เลขาธิการ สกมช. กล่าวอีกว่า แอปฯ ทั้ง 2 ยังไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลภายในเครื่องได้โดยตรง เมื่อตรวจสอบทั้ง 2 แอปคือ "สินเชื่อความสุข" เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ส่วน "Fineasy" เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายคูปองส่วนลด ซึ่งการขอเข้าถึงข้อมูลไม่ได้มากกว่าแอปฯ อื่น เพียงแต่เป็นแอปฯ ที่พ่วงมา ทำให้เจ้าของมือถือเลือกไม่ได้ แต่ถูกขายพ่วงมาหรือทำโปรโมชันกับแบรนด์มือถือ เพื่อที่จะได้ฐานผู้ใช้งานมากขึ้น หรือลูกค้าจะได้สมัครได้ง่ายขึ้น แทนที่จะให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดเอง
อ่านข่าว
ร้องเรียนสมาร์ตโฟนพ่วงแอปพลิเคชันกู้เงิน