เดินสายกระชับพื้นที่ 4 จังหวัดริมแม่น้ำโขง รัว ๆ ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค.2568 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง นายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทย มีคิวยาวประเดิม วันที่ 18 ม.ค.2568 เย่าเยือนอาณาจักรเก่าแก่ศรีโคตรบูรณ์ จ.นครพนม ช่วย “เบียร์-อนุชิต หงษาดี” ผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม เด็กปั้นของ “เดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แม่ทัพหญิงคนใหม่ในภาคอีสาน
ศึกริมฝั่งโขงชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ครั้งนี้ “เบียร์-อนุชิต” ชนกับ “ขวัญ” ศุภพาณี โพธิ์สุ อดีต นายก อบจ.นครพนม ลูกสาวของอดีตสหายแสง “ศุภชัย โพธิ์สุ” อดีต รมช.เกษตรฯ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร สายตรง “ครูใหญ่เนวิน บุรีรัมย์” พรรคภูมิใจไทย ในสนามนี้จึงเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง ค่ายสีแดงและสีน้ำเงินที่แท้ทรู
ศุภพานี โพธิ์สุ
ในการเลือกตั้ง นายก อบจ.นครพนม สมัยที่แล้ว “ทักษิณ” ยังไม่ได้กลับบ้าน “ไพจิต ศรีวรขาน” อดีตแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา และอดีต สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย แอบช่วย ทำให้ “ขวัญ-ศุภพาณี” ลอยลำข้ามไปนั่ง นายก อบจ.นครพนม ได้สบาย ๆ
แต่ปีนี้ ไม่ใช่แค่ “ทักษิณ” เท่านั้นที่เข้ากระชับพื้นที่ แต่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีฯในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมลงพื้นที่ตรวจแถว คนเพื่อไทยจึงพร้อมใจกันยืนตรง
อนุชิต หงษาดี
ดังนั้น เมืองศรีโคตรบูรณ์ จึงมีแนวโน้มสูง ที่เก้าอี้นายก อบจ.นครพนม จะกลายเป็นของ “เบียร์-อนุชิต” แห่งค่ายสีแดง
ออกจากเมืองนครพนม มายังบึงที่มีน้ำสีดำ “บึงกาฬ” อีกหนึ่งพื้นที่หนึ่งที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยจะต้องเจอกัน โดยค่ายสีแดงส่ง “โต้ง” ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบึงกาฬ สมัคร นายก อบจ.บึงกาฬ
ขณะที่ค่ายสีน้ำเงิน ส่ง “แว่นฟ้า ทองศรี” อดีตนายก อบจ.บึงกาฬ หวานใจของ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย และ สส.พรรคภูมิใจไทย ลงชิงอีกรอบ
แว่นฟ้า ทองศรี
ในปี 2563 “โต้ง” ภูมิพันธ์ เคยลงสมัคร นายก อบจ.บึงกาฬ ในทีมคณะก้าวหน้า แต่ก็พ่ายกลุ่มนครนาคา ที่มี “แว่นฟ้า” ลงชิง แม้จะเจอสายแข็ง “นิพนธ์ คนขยัน” อดีตนายก อบจ.บึงกาฬ จากกลุ่มไทบึงกาฬ และคนอื่น ๆ แต่ “แว่นฟ้า” สามารถคว้าชัย มาด้วยคะแนน 105,478 คะแนน
ปี 2566 นิพนธ์ ในฐานะ สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย ส่ง “โต้ง ภูมิพันธ์” ลงสมัคร นายก อบจ.อีกรอบ แต่ดูเหมือนการปักหมุดลงพื้นที่มายาวนานของพรรคภูมิใจไทย มีผลต่อฐานคะแนนในครั้งนี้ด้วย และมีแนวโน้มสูงมากที่ “แว่นฟ้า” จะรักษาแชมป์ไว้ได้
ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น
แม้ว่า “ทักษิณ” จะลงมาช่วยหาเสียงในวันที่ 19 ม.ค.นี้ เช่นกัน แต่แนวรบด้านนี้ คาดการณ์ว่า “ภูมิใจไทย” เอาอยู่
เลาะริมแม่น้ำโขง กลับมา จ.หนองคาย เป็นสนามประลองกำลังระหว่าง “เสี่ยแอร์” วุฒิไกร ช่างเหล็ก อดีตรองนายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.หนองคาย และอดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหนองคาย เจ้าของสโกน “มั่นใจวุฒิไกร เพื่อไทยทำได้จริง”
วุฒิไกร ช่างเหล็ก
และ “ยุทธนา ศรีตะบุตร” อดีต นายก อบจ.หนองคาย 5 สมัย ที่ประกาศชิงชัยอีกรอบในนาม กลุ่มรักหนองคาย
สำหรับ “ยุทธนา” เป็นบุตรชายของ “พิทักษ์ ศรีตะบุตร” อดีต สส.หนองคาย พรรคความหวังใหม่ บ้านใหญ่โพนพิสัย แม้จะลงในนามอิสระ แต่คนหนองคาย ต่างทราบดีว่า กลุ่มรักหนองคาย อยู่ภายใต้ร่มเงาบ้านป่ารอยต่อฯ ของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งให้การสนับสนุน “กระแสร์ ตระกูลพรพงษ์” จนได้เป็นสส.หนองคาย พรรคพลังประชารัฐ
ยุทธนา ศรีตะบุตร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “อุรุยศ เอียสกุล” นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย ได้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย พรรคประชาชน ทั้ง ๆ ที่เตรียมการไว้แล้ว ว่ากันว่าอาจมี “ตัวเชื่อม” ร้องขอให้กลับมาช่วยกลุ่มรักหนองคาย ดังนั้นสนามนี้ เป็นไปได้สูงที่ “ยุทธนา” จะคว้าชัยขึ้นแท่นเป็นนายก อบจ.หนองคาย สมัยที่ 5
ตัดมาที่ “มุกดาหาร” จังหวัดริมโขง ซึ่ง “ทักษิณ” วางคิวจะมาช่วย “บุญฐิณ ประทุมลี” ผู้สมัคร นายก อบจ.มุกดาหาร อดีตสส.เพื่อไทย 2 สมัย ในวันที่ 20 ม.ค.2568 นี้
เมื่อครั้งที่แล้ว “บุญฐิน” สอบตก จึงเบนเข็มมาสมัคร นายก อบจ. เจอกับบ้านใหญ่ ตระกูลทองผา “วีระพงษ์ ทองผา” อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมุกดาหาร
บุณฐิน ประทุมลี
วีระชัย เป็นพี่ชาย “วิริยะ ทองผา” สส.มุกดาหาร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ โดยสมัยที่แล้ว พรรคเพื่อไทยส่ง “พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์” ลงสมัคร นายก อบจ.มุกดาหาร ในนามเพื่อไทย เอาชนะ “วิริยะ” ได้เพียง 178 คะแนน
วีระพงษ์ ทองผา
ปี 2568 พ.ต.ท.จิตต์ ลงสมัครในนามอิสระ ไร้แรงสนับสนุน มีโอกาสแพ้สูง
อย่างไรก็ตาม ในอดีตตระกูลทองผา เคยยึดเก้าอี้นายก อบจ.มุกดาหาร 3 สมัย โดยปี 2547 วิริยะ ทองผา, ปี 2551 มลัยรัก ทองผา และปี 2556 มลัยรัก ทองผา
สำรวจแล้ว แนวรบชิงสนามนายก อบจ. 4 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง ไล่ตั้งแต่ จ.นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย และมุกดาหาร แม้ “ทักษิณ” เพื่อไทย จะให้ “มนพร” แม้ทัพหญิงคนใหม่เปิดศึกลุยเต็มสตรีมหวังปูทางสร้างฐานเลือก ตั้งครั้งหน้า
แต่คอการเมืองในพื้นที่คาดการณ์กันว่า ค่ายสีแดงไม่สามารถกินรวบได้ แต่ต้องกระจายแบ่งให้ค่ายสีน้ำเงินและค่ายลุงบ้านป่า พปชร.แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็ไร้ทางเลือก เพราะอย่างไร "บ้านใหญ่" ก็ยังเป็น "บ้านใหญ่"อยู่เสมอ
อ่านข่าว : "กฤษฎีกา" ปัดเห็นแย้งร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
หนาวกระทบสุขภาพ "โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ" อันตรายที่ต้องระวัง
รู้สิทธิ รู้หน้าที่ ง่ายนิดเดียว ข้อควรรู้ก่อนเลือกตั้ง อบจ. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- เลือกตั้งนายกอบจ.
- เลือกตั้งนายกอบจ.1 ก.พ.68
- ข่าวเลือกตั้งนายกอบจ.ภาคอีสาน
- ทักษิณหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.
- บ้านใหญ่การเมือง
- ตระกูลบ้านใหญ่สายอีสาน
- นายก อบจ.พรรคเพื่อไทย
- ผู้สมัครนายกอบจ.พรรคเพื่อไทย
- ผู่สมัตรนายก อบจ.พรรคภูมิใจไทย
- ผู้สมัครนายกอบจ.พรรคพปชร.
- ทักษิณ ชินวัตร ล่าสุด
- ทักษิณเดินสายหาเสียงนายก อบจ.
- ข่าวการเมือง
- ข่าวการเมืองล่าสุด
- ข่าวการเมืองวันนี้
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส