ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง อบจ. 2568 "ผู้แทน - ผู้นำ" แบบไหน ที่คุณอยากเห็น

การเมือง
16 ม.ค. 68
11:23
2
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง อบจ. 2568 "ผู้แทน - ผู้นำ" แบบไหน ที่คุณอยากเห็น

เสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 วันเลือกตั้งใหญ่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ขยับใกล้เข้ามาทุกที ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ "เสียงคนในท้องถิ่น" มีพลังสามารถกำหนดอนาคตของท้องถิ่นของเราเอง  

วันเลือกตั้ง ส.อบจ. และ นายก อบจ. 2568 มีเวลา 9 ชั่วโมงเต็ม เริ่มเปิดหีบตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 17.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารงบประมาณ กำหนดทิศทางพัฒนาและแก้ปัญหาของจังหวัด ซึ่งอนาคตของจังหวัดจะเดินไปทิศทางไหน อยู่ที่คนในจังหวัดเป็นคนกำหนดและเลือกเอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 6,815 คน ไม่รับสมัคร (ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม) จำนวน 92 คน ยื่นคำร้องให้รับสมัคร จำนวน 17 คน 

และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 192 คน ไม่รับสมัคร (ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม) จำนวน 3 คน ยื่นคำร้องให้รับสมัคร จำนวน 2 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค.2568)

อ่านข่าว : เปิดรายชื่อผู้สมัครนายก อบจ. 47 จังหวัด เลือกตั้งพร้อมกัน 1 ก.พ.2568

ความสำคัญ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 

อบจ. หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาท้องถิ่นและการบริหารจัดการในระดับจังหวัด เพราะเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่และอำนาจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัด ซึ่ง  โครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" เป็น "ฝ่ายบริหาร" และ "สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด" เป็น "ฝ่ายนิติบัญญัติ"

องค์การบริหารส่วนจังหวัด "อำนาจ" และ "หน้าที่"  

องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริการส่วนจังหวัด

  • ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
  • จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริการส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
  • บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
  • จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
  • ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในการดูแลการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อย

สำหรับการกำกับดูแล "ผู้ว่าราชการจังหวัด" มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

วาระการดำรงตำแหน่ง ส.อบจ. และ นายก อบจ.

  • นายก อบจ. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง
  • ส.อบจ. อายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง 

ลักษณะของคนที่ควรเลือกเป็นผู้แทน 

ภาพจาก : กกต. ลักษณะของคนที่ควรเลือกเป็นผู้แทน

ภาพจาก : กกต. ลักษณะของคนที่ควรเลือกเป็นผู้แทน

ภาพจาก : กกต. ลักษณะของคนที่ควรเลือกเป็นผู้แทน

เห็นถึงอำนาจและหน้าที่ของ อบจ. แล้ว ฉะนั้น ในปี 2568 การเลือกผู้แทนจึงควรพิจารณาคนที่ "คุณสมบัติ" ที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถบริหารงานท้องถิ่นได้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และควรมีลักษณะอย่างไร 

1. ความซื่อสัตย์และโปร่งใส เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และปราศจากพฤติกรรมที่ส่อถึงการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน

2. มีความรู้ความสามารถ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ อบจ. และมีความรู้เรื่องการบริหารงานท้องถิ่น เช่น การจัดสรรงบประมาณ และการพัฒนาชุมชน มีทักษะในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

3. มีวิสัยทัศน์และความคิดสร้างสรรค์ สามารถมองการณ์ไกล และมีแผนการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน เปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่

4. ใกล้ชิดและเข้าใจประชาชน เป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ มีความสามารถในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม

5. มีภาวะผู้นำและทำงานเป็นทีมได้ มีความสามารถในการตัดสินใจและนำพาทีมงานให้บรรลุเป้าหมายสามารถประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

6. มีความมุ่งมั่นและเสียสละ มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน พร้อมเสียสละเวลาและแรงกายแรงใจเพื่อประชาชน

สุดท้าย ผู้นำ อบจ. ควรเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพร้อมที่จะทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยการเลือกผู้แทนควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "คุณสมบัติ" และ "ความเหมาะสม" ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อเสียงหรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า

อ่านข่าว :  "วันครู" หยุดไหม ? เปิดปฏิทินวันสำคัญที่ไม่นับว่าเป็นวันหยุด

ไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด "ลูกจ้าง" รัฐ-เอกชนเลือกอบจ.1 ก.พ.

มติเอกฉันท์ ศร.ชี้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่น ห้ามผู้สมัครจูงใจให้ลงคะแนน ไม่ขัด รธน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง