เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2568 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 36.8 ล้านคน ทำลายสถิติปี 2562 ที่มีจำนวนเกือบ 32 ล้านคน
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวของรัฐบาล ตั้งแต่ภูเขาฟูจิ ศาลเจ้า และร้านซูชิในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างตั้งแต่ราเมนถึงมีดทำครัวญี่ปุ่นมีราคาถูกลง
จำนวนนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นหลังจากช่วงกว่า 10 ปีก่อนที่เริ่มเป็นกระแส ก่อนถูกขัดจังหวะโดยโควิด-19 และตัวเลขปีล่าสุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2555
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการท่องเที่ยวสร้างรายได้เป็นอันดับ 2 รองจากการส่งออกยานยนต์ แต่ญี่ปุ่นที่มีประชากร 124 ล้านคน ยังมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าฝรั่งเศสที่มีประชากร 68 ล้านคนและต้อนรับนักท่องเที่ยว 100 ล้านคนในปี 2023
รัฐบาลญี่ปุ่นยังตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็น 60 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 และต้องการกระจายนักท่องเที่ยวให้ทั่วประเทศ หลีกเลี่ยงการกระจุกตัวช่วงชมซากุระและใบไม้เปลี่ยนสี
เกียวโตเตรียมขึ้นภาษีที่พักสูงสุด 10,000 เยน/คืน
ข้อมูลนี้เผยแพร่หลังจากที่ทางการท้องถิ่นเมืองเกียวโตประกาศจะขึ้นภาษีการเข้าพักตามโรงแรมและที่พักประเภทต่าง ๆ โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค.2569 โดยกำหนดอัตราสูงสุดที่ 10,000 เยน/คน/คืน
อัตราใหม่จะอยู่ระหว่าง 200-10,000 เยน เพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 200-1,000 เยน กระทรวงมหาดไทยระบุว่า อัตราสูงสุดนี้จะเป็นอัตราคงที่ที่สูงที่สุดที่เทศบาลเคยจัดเก็บ
ในปี 2561 เกียวโตเริ่มใช้ระบบภาษีที่พัก 3 ระดับโดยเก็บ 200 เยนสำหรับห้องราคาต่ำกว่า 20,000 เยน/คืน และ 1,000 เยนสำหรับห้องราคา 50,000 เยนขึ้นไป
แต่ระบบใหม่จะแบ่งเป็น 5 ขั้น โดยผู้เข้าพักจะจ่าย 200 เยน/คน สำหรับห้องราคาต่ำกว่า 6,000 เยน และขยับขึ้นไปตามราคาห้อง ซึ่งจะเก็บภาษีตามเพดานอัตราสูงสุด 10,000 เยนสำหรับห้องราคา 100,000 เยนขึ้นไป/คืน การขึ้นภาษีคาดว่าจะเพิ่มรายได้จากภาษีที่พักในเมืองเป็นประมาณ 12,600 ล้านเยน/ปี จาก 5,200 ล้านเยน ในปีงบประมาณ 2566
เทศบาลเกียวโต ระบุว่า จะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและปรับปรุงการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติสำหรับทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชน
อ่านข่าวอื่น :