"ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้ อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น"
"พระคุณที่สาม" เพลงเก่าในอดีตกว่า 60 ปี ที่มักได้ยินกันในพิธีไหว้ครู เนื้อร้องและทำนอง โดย ครูสุเทพ โชคสกุล พรรณาถึงความเคารพในคุณครู เทียบเคียงได้เป็น "พระคุณที่ 3" นอกเหนือจาก พระคุณที่ 1 พระรัตนตรัย และ พระคุณที่ 2 บิดามารดา เนื้อเพลงสะท้อนถึงการ "เคารพพระคุณครู" อย่างลึกซึ้ง ในฐานะผู้ "เป็นศูนย์กลาง (Wisdom-centric)" ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ อบรมสั่งสอนศิษย์ด้วยความรัก ความเมตตา
แต่ในยุคสมัย Disruptive Technology ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ในโลกอินเทอร์เน็ต หรือกระทั่งสอบถาม AI เช่น ChatGPT, Gemini หรือ Claude แสดงให้เห็นว่า AI ปลดล็อกศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์ชาติ ทำให้การศึกษาไม่ได้อยู่ภายใต้รั้วโรงเรียนอีกต่อไป การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เริ่มมีมากขึ้น หรือกระทั่งการนำ AI เข้ามาช่วยเหลือในทางการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งครูในการแสวงหาความรู้อีกต่อไป
ราวกับว่า อาชีพครู กำลังจะสูญสลายไปในอนาคตอันใกล้
แต่หากยึดมั่นในหลักการของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ว่าด้วย "วิวัฒนาการ" เพื่อหนีให้พ้นวิกฤต ความหวังที่สดใสรออยู่เสมอ แต่ข้อสงสัย คือ ครูจะมีวิธีการอย่างไรในการปรับตัวเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มรูปแบบที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ และที่สำคัญ ครูจะพร้อมปรับตัวหรือไม่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยเทคโนโลยีเช่นนี้
"พัฒนาครู พัฒนาทั้งกระบิ" ผู้สอนเทพ ผู้เรียนโหด
การนำ AI มาใช้สำหรับยกระดับการเรียนการสอน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ จากผลสำรวจของ Kasikorn Business Technology Group หรือ KBTG ระบุว่า ทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 ในสถานศึกษา ใช้ AI ในฐานะเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด หากปราศจากซึ่ง "ผู้สอน" ที่มีศักยภาพมากพอที่จะใช้ AI ได้อย่างมีวิจารณญาณและประสิทธิภาพ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิตผู้เรียนออกมาให้ใช้ AI ได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การจะเอา AI ให้อยู่หมัด ไม่สามารถเป็นผู้ใช้งาน (User) อย่างเดียวได้ แต่ต้องทำให้เกิดผู้สร้างสรรค์ (Creator) เพื่อที่จะพัฒนาการทำงานของ AI ไม่ให้เกิดอาการหลอน (Hallucination) เวลา Prompting และเมื่อการพัฒนา AI มาจากบุคลากรด้านการศึกษาที่มีหลากหลายองค์ความรู้ ย่อมทำให้ AI เหมาะสำหรับช่วยเหลือด้านการแสวงหาปัญญาเป็นอย่างยิ่ง
AI สร้างขึ้นมาจากโลกทั้งใบ เราเป็นส่วนหนึ่งได้ … จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้สอนระดับชั้นนำมากมาย ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนา AI ด้วยตนเอง ไม่รีรอหรือใช้งานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างอนาคตทางการศึกษาให้ประเทศไทย
เป้าหมายหลักของอธิการบดี จุฬาฯ ต้องการให้ผู้สอนนั้น "ใช้เครื่องมือเป็น" ก่อนที่จะสอนให้ผู้เรียนใช้เครื่องมือเป็น ในโลกยุคใหม่ อุดมศึกษา (Higher Education) จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จุฬาลงกรณ์จึงต้องมีบทบาทในการ "ชี้นำสังคม" มากยิ่งขึ้น ตลาดงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI หรือ Data Analysis ย่อมผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ หากผู้สอนไม่พร้อมถ่ายทอดความรู้ AI บัณฑิตจะลำบากในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
การเรียนต้องรักในการแสวงหาความรู้ จึงจะสามารถเอาชนะ AI ได้ เรียนเพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงจะเข้าใจ AI … ต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นตายกันหมด … จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงแบรนดิ้งตนเองเป็น The University of AI หมายถึง ต้องรังสรรค์ AI ได้ด้วยตนเอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญ AI อยู่ในทุกสาขาวิชา
สอดคล้องกับ เรืองโรจน์ พูนผล หรือ "กระทิง" ประธาน KBTG กล่าวว่า เราต้อง Revolutionised ความรู้ หมายถึง เปลี่ยนจากการถ่ายทอดด้วยครูเพียงอย่างเดียว ที่มีข้อจำกัดเรื่องความเชี่ยวชาญ มาสู่ ครู+AI ที่ทวีความรู้มากยิ่งขึ้น ชีวิตนี้ เราอยู่กับ AI มากกว่าตนเองเสียอีก ดังนั้น หากไม่สร้างเสริมบุคลากรทางการศึกษาให้ใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ย่อมมาสู่สังคมอย่างมหาศาล
ตรงนี้ เป็นจุดเลี้ยวแรกของการเปลี่ยนแปลง และจะพลิกผันได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต … AI เป็นยิ่งกว่าอากาศ ขาดไม่ได้ … โดยเฉพาะ วงการศึกษา อาจารย์งานเยอะมาก AI มาช่วยได้ โดยเฉพาะ Research … หากครูใช้ถูก เด็กจะฉลาดหลักแหลม หากใช้ผิด เช่น ผิดจริยธรรม ผลเสียก็กลับมาสู่การศึกษา
สร้าง AI เป็นให้ "ครู" Simulation วินิจฉัยโรค-ส่ง AI เรียนบัญชี
ในภาคปฏิบัติ อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า ได้ริเริ่มสร้าง "AI ให้เป็นครู" ไปใน 2 หลักวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ แพทยศาสตร์ และ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี
รศ.ดร.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ได้มีการนำ AI มาสร้าง Simulation จำลองการผ่าตัดหรือวินิจฉัยโรค แทนการให้นิสิตแพทย์ลงมือกับเคสจริง ๆ ที่อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ด้วยการขาดประสบการณ์ ความประหม่า หรือความไม่รอบคอบ
แพทย์ที่ดีต้องมีประสบการณ์โชกโชน บางทีกว่าจะเก่งก็หัวหงอกแล้ว สำนวนกล่าวว่า ผิดเป็นครู แต่ผิดบ่อย ๆ สำหรับแพทย์ อันตรายถึงชีวิต … AI ทำให้แพทย์คิดรอบคอบมากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพการรักษา และทำงานเอกสารอื่น ๆ ลดลง
รศ.ดร.พญ.โสฬพัทธ์ ยังเสริมว่า ไม่เพียงแต่การผ่าตัดและวินิจฉัยโรค "ทางกาย" เท่านั้น แต่ AI ยังช่วยให้แพทย์รักษาโรค "ทางใจ" เช่น โรคซึมเศร้า ได้อีกด้วย เพราะ AI สามารถที่จะ "อ่านพฤติกรรมและสัญญะ" ที่แสดงออกถึงโรคซึมเศร้าได้ดีกว่าสายตาของแพทย์ กระนั้น เหล่าแพทย์เองต้อง Prompt ดี ๆ ไม่อย่างนั้น AI อาจเกิดความผิดพลาด ซึ่งกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือ อาจารย์แพทย์ต้องไม่หลอน ต้องเข้าใจ AI ก่อนที่จะมาสอนนิสิตได้
ส่วน รศ.ศรัณย์ ชูเกียรติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า แทนที่จะสอนให้ครูใช้ AI เป็น นำ "AI มาเรียนหนังสือ เพื่อไปเป็นครู" เป็นทางออกที่น่าสนใจกว่ามาก โดยได้คิดค้น LUCA ซึ่งเป็น AI ของคณะฯ ร่วมเรียนหลักสูตรปริญญาตรี และคาดว่าจะจบการศึกษาใน 2-3 ปีนี้ เพื่อจะได้เป็นครูสอนหลักวิชาบัญชีฯ ในเขตชนบทที่ห่างไกล ด้อยโอกาสทางการศึกษา
เวลาเห็นครูในชนบทสอนหลักวิชาบัญชีฯ ผิด เราจะวิพากษ์ว่าบกพร่องหรือ คณะเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงมุ่งสร้าง Cyborg Accountant เพื่อกระจายองค์ความรู้ไปยังดินแดนด้อยโอกาสทั้งหลาย
เมื่อถามถึง LUCA ยังรักษามาตรฐานของหลักวิชาได้อย่างครบถ้วน เหมือนอาจารย์ด้านบัญชี จุฬาฯ หรือไม่ รศ.ศรัณย์ ยกตัวอย่าง เครื่องคิดเลข CASIO เกิดขึ้นมา เพราะ ทำให้นักบัญชีใช้สมองน้อยลงมาก AI ที่มีศักยภาพมากกว่านักบัญชีหลายเท่า มีปัญหาแน่นอน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า บรรดาอาจารย์บัญชีฯ จะยกระดับ AI ให้กลายเป็นครู ด้วยสติปัญญาของตนเอง ได้มากน้อยเพียงใดมากกว่า
ลดจำนวน "ไม้ตายซาก" ส่งเสริมใช้ AI นอกเหนือวิชาการ
เห็นได้ว่า การใช้ AI เพื่อการเรียนการศึกษา พัฒนาไปไกลมากกว่าที่คาดคิด โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ได้ทดลองสร้างโลกจำลองการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค รวมถึงพัฒนา AI ให้เป็นครูมาแล้ว
ทั้งหมดนี้ เป็นการลงนามความร่วมมือกับ KBTG ในฐานะ "ลมใต้ปีก" ที่คอยสนับสนุนความคิดสุดสร้างสรรค์ของจุฬาฯ ด้าน AI เพื่อทำให้ปณิธานของอธิการบดี ไม่ได้เป็นเพียง "ฝันเฟื่อง" แต่ทำได้อย่างแท้จริง ในฐานะผู้ชี้นำและหาทางออกให้กับสังคมไทย
กระนั้น การสร้างให้ครูเข้าใจ และรู้เท่าทัน AI เป็นความคิดที่ดีมาก แต่ในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย มีระบบที่เรียกว่า "Tenure" หมายถึง การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในระยะยาว มีความมั่นคงสูง ไม่ทำผิดร้ายแรงจริง ๆ ไม่มีทางเชิญให้ออกจากตำแหน่งง่าย ๆ ซึ่งเป็นระดับ "รองศาสตราจารย์" ขึ้นไป
ด้วยระบบนี้ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยู่ในระดับ รศ. จำนวนไม่น้อยเป็น "ไม้ตายซาก (Dead Wood)" หมายถึง ไม่เอาอะไรเลย ไม่มี Passion ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ผลิตผลงานทางวิชาการ ไม่พัฒนาคุณภาพการสอน ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ แทบจะอยู่ไปวัน ๆ จึงเกิดคำถามว่า การหมายให้บุคลกรเหล่านี้รู้เท่าทัน AI และคุม AI ให้อยู่มือ เพื่อสร้างนิสิตที่มีคุณภาพความเข้าใจ AI ในระดับสูง จะเป็นปัญหาระยะยาวหรือไม่
ศ.ดร.วิเลิศ ชวนคิดว่า การสร้างเสริมความเข้าใจใน AI ต่อครูบาอาจารย์ มีประเด็นที่นอกเหนือจากการศึกษา คือ การใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องข้องเกี่ยวกับ AI โดยสมบูรณ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างน้อย หากมีความเข้าใจ AI จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์เป็นผู้เสียหายจาก Scammer หรือ Malware ได้
"ประโยชน์ที่ได้มาจากการเปิดใจเรียนรู้ AI มีมหาศาลกว่านั้น … อยู่ที่การประยุกต์ใช้ของครูอาจารย์ด้วยตนเอง … ไม่แน่ว่า อาจจะได้ไอเดียเขียนเปเปอรืหรือวิจัยใหม่ ๆ ก็เป็นได้" ศ.ดร.วิเลิศ ทิ้งท้าย
อ่านข่าว
ทักษะ "AI" ไม่พอทำงาน “แรงงานยุคใหม่” ต้องผสาน "Critical Thinking"
"จิตวิทยา AI" อัจฉริยะเทคโนโลยี จำลองตัวเอง "ที่ปรึกษา" วัยชรา