ไทย หนึ่งในประเทศทางแถบเอเซีย ที่เปิดกว้างให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ จะเห็นได้ว่าในทุก ๆปีในกทม. จะมีการจัดไพรด์ มันท์ "Pride Month" ขบวนพาเหรดธงสีรุ้ง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของแห่งเสรีภาพของ "LGBTQ+"
กลุ่มคนเหล่านี้ มีทั้งผ่านการตัดแปลงเพศสภาพ ให้เป็นหญิงและชาย และบางส่วนยังไม่ผ่านการแปลงเพศ แต่ทุกคนยังสามารถใช้ชีวิต และประกอบสัมมาชีพได้ตามปกติ มีอิสระเสรีในการแต่งกายข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็น นักร้อง นักแสดง นางงาม นางแบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่กล้าแสดงออกมาขึ้นกว่าในอดีต
ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่เปิดเสรีในการแสดงออก และมีกฎหมายสมรสเท่าเทียว แต่ที่เกาหลีใต้ ที่ยังไม่ได้มีการยอมรับอย่างเต็ม หากแสดงออกผ่านตัวละครที่ชื่อว่า "โช ฮย็อน-จู (Cho Hyun-ju)" หรือ "ออนนี่" ผู้เล่นหมายเลข 120 ชายข้ามเพศจากซีรีย์ Squid Game 2 กล่าวผ่านบทละครว่าอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในประเทศไทย
การยอมรับทั้งในแง่กฏหมายและการแสดงออกอย่างเปิดกว้าง ถือได้ว่าดินแดนขวานทองแห่งนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็น"Soft Power สีรุ้ง" ให้กับประเทศได้อย่างเหลือเชื่อ
"สมรสเท่าเทียม" ไทย "ชาติแรก" ในอาเซียน
วันที่ 23 ม.ค.2568 จะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยเปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย พร้อมให้สิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน ทั้งการจัดการมรดก-ทรัพย์สิน และการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
นับเป็นชาติแรกในอาเซียน และเป็นชาติที่ 3 ของเอเชีย รองจากไต้หวัน และเนปาลที่ล้ำหน้าไปก่อนแล้ว นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดโอกาสให้กลุ่มLGBTQ+ ต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนสมรส โดยมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายสากล ไม่มีปัญหาเรื่องพินัยกรรม การแย่งชิงมรดก
ดังภาพยนตร์ "วิมานหนาม" ที่สะท้อนปัญหาหลังการเสียชีวิตของ คู่รักชาย-ชาย ที่ดินซึ่งเป็นมรดกของพ่อถูกนำไปจำนอง แต่แฟนหนุ่มของผู้ตาย ไปไถ่คืน กลับไม่ได้รับมรดก หากที่ดินผืนนั้นตกเป็นของแม่ผู้ตาย โดยแฟนหนุ่ม ไม่ได้อะไรกลับมาเลย
แต่เหรียญมักมีสองด้านเสมอ แม้จะกฏหมายจะให้การยอมรับและสังคมจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหา "การเหยียดเพศ" ยังคงมีให้เห็นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในโซเชียล เช่น การเกิดขึ้นของเพจ คอนเทนต์คุณภาพ, Conner788 หรือ สภาโรเดเซีย และในชีวิตประจำวัน ขณะที่บางประเทศ ยังคงรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การเหยียดเพศ ไม่ได้มีผลจากนิสัยส่วนตัวและบุคคลิกลักษณะของปัจเจก แต่เพราะ "สิทธิเสรีภาพ" บีบบังคับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความหลากหลายมากจนเกินไป
โลกแห่ง "ความอดทนอดกลั้น" รอวันปะทุ
แม้ในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังเชิดชูคุณค่าตามหลักการ "เสรีนิยม (Liberalism)" ที่ต้องให้ "สิทธิและเสรีภาพ" ระดับสูงสุด บุคคลกระทำการใดได้โดยเสรี ไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน มีความเป็น "พหุนิยม (Pluralism)" เคารพในความหลากหลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ (Ethnic) ศาสนา (Religion) เพศวิถี (Gender) หรือ ชนชั้น (Class)
แต่การเคารพความหลากหลายนี้ สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ คือ "ความอดทนอดกลั้น (Toleration)" เพราะวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ หรือสิ่งที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยึดมั่นถือมั่น เลี่ยงไม่ได้ที่จะขัดแย้งกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ
เช่น หากมีวิถีเป็น LGBTQ+ ย่อมขัดกับ "วิถีมุสลิม" ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ และไม่ยอมรับการแสดงออกอย่างผิดเพศสภาพ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ ต่างๆ นานา การปาหินหรือ การนำตัวไปเฆี่ยนตี หากไม่อดทนอดกลั้นต่อกัน คนสองกลุ่มอาจทำสงครามกันเข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง
คริสเตียน โรสท์โบลล์ (Christian F. Rostbøll) เสนอไว้ใน บทความวิจัย Compromise and Toleration: Responding to Disagreement ความว่า ในเมื่อยึดถือคุณค่าเสรีนิยม ที่เชิดชู "สัมพัทธนิยม (Relativism)" คือ ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวก่ายกัน แม้ไม่ชอบใจ จึงจำเป็นต้องอยู่กันไปแบบอึดอัด เสรีภาพเป็นสิ่งที่ "มีขอบเขต" ใช้พร่ำเพรื่อไม่ได้ ไม่เช่นนั้น สังคมไม่มีทางที่จะอยู่ร่วมกัน
แต่ในนามของเสรีนิยม เมื่อวิถีใดวิถีหนึ่งเข้าครอบครองพื้นที่ของสังคม วิถีนั้นจะทำการ "บังคับ" ให้ผู้อื่นรับเชื่อสิ่งที่ตนเป็นให้ได้ เช่น การอยากให้ทั้งโลกเข้าใจ LGBTQ+ นอกจากให้ความรู้ ยังมีการ "ประนาม" การกระทำที่ไม่อภิรมย์อีกด้วย เช่น การแสดงออกผ่านโซเชียลเพื่อกดดัน หรือที่เรียกว่า "ทัวร์ลง"
แต่ความอดทนอดกลั้นของมนุษย์ "มีขีดจำกัด" เมื่อถึงจุดเดือดจริง ๆ ก็ไม่สามารถใช้อาวุธประหัดประหารกันได้ง่าย ทางเดียวที่จะปลดปล่อยความคับข้องใจ คือ "กวนประสาทสังคม" เช่น การตามแซะในโลกออนไลน์
หรือ "การหาพวกพ้อง" ที่ไม่พอใจกับความอดทนอดกลั้น โดยการสร้าง Community เฉพาะกลุ่มขึ้นเพื่อหวังให้เกิด "แรงผลักดันสวนกลับ" วิถีที่ครอบครองพื้นที่นั้นอยู่ ตัวอย่างจากโลกมุสลิม ที่ออกกฎห้าม LGBTQ+ เข้าประเทศ หรือการปาหินผู้ผิดเพศ ซึ่งหากกลุ่มโลกเสรีมองเข้า อาจรู้สึกคับแค้นใจ แต่สำหรับชาวอาหรับ ถือเป็นปกติของสังคม
สังคมอาจไม่ได้รู้สึกว่า สิ่งรอบตัวเป็นประเด็นที่รับไม่ได้ ตราบเท่าสิ่งที่คิดว่าเป็นประเด็นไม่ได้เขยิบเข้ามาใกล้ และกดดันมากเกินไป เช่น หาก LGBTQ+ อยู่กันอย่างสงบ ๆ ไม่ไป "Educated" โลกมุสลิม แบบนี้อยู่กันได้ แต่หากเสนอแนะความรู้เมื่อใด การปะทะกันที่รุนแรงย่อมมาถึง
ทางออกนี้ คริสเตียน โรสท์โบลล์ เสนอไว้ใน บทความวิจัย Democratic respect: Populism, resentment, and the struggle for recognition ว่า หากจะอยู่ให้ได้ ต้องสร้าง "Compromise" หรือ "การประนีประนอม" หมายถึง สังคมต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะอดทนอดกลั้นได้มากน้อยเพียงใด บางเรื่องอดทนได้ เช่น การที่ LGBTQ+ จะแต่งตัวอย่างไร หรือพูดจาอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร แต่บางเรื่องทนไม่ได้จริง ๆ เช่น การทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรม LGBTQ+ เพียงเพราะไม่ชอบหน้ากัน
ไทย ถือว่าเป็น "Land of Compromise" ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพราะ LGBTQ+ ถือว่าแสดงออกได้อย่างเสรีที่สุดแล้ว บรรดามุสลิมในประเทศมีความอดทนอดกลั้นสูง จากความเข้าใจเรื่องความหลากหลายในพื้นที่ แต่การจะเป็น Global Citizen ได้นั้น LGBTQ+ ในไทย ต้องเรียนรู้ และเข้าใจ "ความเป็นอื่น" ที่ต่างจากไทย
"ทุนนิยมสีรุ้ง" เปิดช่องธุรกิจหากินกับ "LGBTQ+"
การเหยียด "ถูกกดทับไว้" ด้วยโลกของผู้เชิดชูสิทธิและเสรีภาพตามหลักการเสรีนิยม แต่ก็เหมือนภูเขาไฟที่ความเดือดดาลคุกกรุ่นอยู่ใต้พิภพ วันใดวันหนึ่งทนไม่ไหว ก็ปะทุออกมา LGBTQ+ ถือเป็นกลุ่มอัตลักษณ์ที่ขึ้นเป็นกระแสหลักของสังคม มีการรณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ แม้หลายกลุ่มจะไม่อยากรับทราบ เช่น อิสลาม หรือบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ข้อมูลในลักษณะนี้ ด้วยเห็นว่า "ยัดเยียด"เกินไป จึงทำให้เกิดการออกมาเหยียดเพศสภาพ โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
กล่าวคือ การเหยียดไม่เคยจางหายจากสังคมโลก เพียงแต่ซุกไว้ใต้พรมเท่านั้น แต่ในบางประเทศ การเหยียดเพศแบบตรง ๆ มีให้เห็นทั่วไป เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มีลักษณะเป็น "ขงจื่อ (Confucian)" ที่กำหนดบทบาทของเพศชาย-หญิง อย่างชัดเจน การผิดไปจากเพศสภาพ และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ ในเมื่อสากลโลกยอมรับ LGBTQ+ จำนวนหนึ่ง และกำลังเป็นที่นิยม มาแรงแบบหยุดไม่อยู่ ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิต มาสู่ "สินค้า (Commodity)" ที่สามารถทำเงินให้นายทุนได้ ไม่ว่านายทุนจะชอบหรือไม่ชอบ LGBTQ+ ก็ตาม เรียกว่า "Rainbow Capitalism" หรือ "ทุนนิยมสีรุ้ง"
จากรายงานของ LGBT Capital พบว่า มีมูลค่าทั่วโลกสูงถึง 170.7 ล้านล้านบาท สูงกว่า GDP ไทยเกือบ 10 เท่า
วิทยานิพนธ์ Rainbow Capitalism: Disney and Its Effects เขียนโดย เดลิราห์ การ์เลตต์ (Delilah Garrett) เสนอว่า ทุนนิยมสีรุ้ง นอกจากจะทำเพื่อแสวงหากำไรของนายทุนแล้ว ยังทำเพื่อชื่อเสียง (Reputation) และการยอมรับ (Recognition) ของสังคมที่มีต่อแบรนด์นั้น ๆ อีกด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ดิสนีย์ (Disney) ที่ขยันรีเมคภาพยนตร์ที่ใส่ความเป็น LGBTQ+ เข้าไป เช่น ตัวละคร รายา (Raya) จาก Raya and the Last Dragon นั้นเป็น "เควียร์ (Queer)" หรือ ผู้ไม่สนใจเพศวิถีแบบชาย-หญิง
แต่ความนิยม ดิสนีย์ กลับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะหวังเพียงกำไรจากการขายของให้ผู้สมาทานวิถี LGBTQ+ จนกลายเป็นการยัดเยียดให้ผู้ชมเป็นอย่างที่ผู้สร้างอยากให้เป็น
เดลิราห์ การ์เลตต์ อธิบายประเด็นนี้ว่า เป็นความไม่ยั่งยืนของการประกอบธุรกิจ เพราะไม่ได้มีใจกับสีรุ้งจริง ๆ ได้เงินมากมาย แต่ไม่ได้ใจ ผู้รักในภาพยนตร์ที่ต้องการ "เสพคอนเทนต์" มากกว่าอัตลักษณ์ที่อยุ่นอกเหนือจากนั้น
ปัญหาของทุนนิยมสีรุ้ง ยังไม่หมดไป เพราะประเทศที่ไม่ยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ เล็งเห็นประโยชน์ในการกำไร แต่ใช้ได้แนบเนียนกว่า โดยการแอบใส่ฉาก Service ที่ชวนคิดว่าเป็นโมเมนต์ LGBTQ+ ไม่ได้บอกตรง ๆ ว่า ตัวละครนั้นเป็นหรือไม่ เช่น ซีรีย์ Nevertheless ที่เติมฉากกุ๊กกิ๊กของสองสาว "ยุน โซล และ ซอ จี วาน" ให้ชวนจิกหมอนว่าเป็น "เลสเบี้ยน (Lesbian)" หรือหญิงรักหญิง
หากเปรียบไทยที่เป็นแดนสวรรค์ของเหล่า LGBTQ+ แล้ว กลับพบว่า "ซีรีย์วาย" หรือ ชายรักชาย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพียงผลิตจำหน่ายเฉพาะตลาดในประเทศ ที่มีประชากร LGBTQ+ มากกว่า 4 ล้านคน ก็ฟันกำไรมหาศาล ยังไม่นับตลาดเอเชีย ที่มีมากกว่า 300 ล้านคน ประกอบกับ ข้อมูลของ SCB EIC ที่ชี้ว่า การเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ มากกว่าร้อยละ 17 ภายในประเทศ และสูงถึงร้อยละ 479 ทั่วทั้งโลก ทำให้เป็นเรื่องของโอกาส มากกว่าการคิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องการเหยียดเพศสภาพจะดีกว่าหรือไม่
สุภาษิตว่า "การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ" ไม่ว่า ใคร จะเกิดมามีอัตลักษณ์แบบใด ย่อมหนีไม่พ้นการถูกเหยียด ด้อยค่า หรือบั่นทอนเสมอ แต่สิ่งสำคัญ คือ ในโลกของทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน อัตลักษณ์ที่มีอยู่สามารถสร้าง"กำไร" ได้มากน้อยเพียงใด หากคิดเช่นนี้ "คุณค่าที่คุณคู่ควร" จะเพิ่มสูงขึ้น
แหล่งอ้างอิง
- บทความวิจัย Compromise and Toleration: Responding to Disagreement
- บทความวิจัย Democratic respect: Populism, resentment, and the struggle for recognition
- วิทยานิพนธ์ Rainbow Capitalism: Disney and Its Effects
- บทความ ตอบแบบจิตวิเคราะห์: เหตุใดการเหยียดผิวจึงยังคงดำรงอยู่ในวงการฟุตบอล | Main Stand
- https://www.preview.ph/culture/sol-and-ji-wan-from-nevertheless-a2121-20210809-lfrm?s=3aeqivcitq8rf04aasv84bt71g
https://nwlc.org/the-real-costs-of-rainbow-capitalism/