วันนี้ ( 21 ม.ค.2568) นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนังด้วย ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรูเปิดของผมหรือขนได้โดยตรง หรือสามารถเข้าสู่ผิวหนังที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ (barrier-disrupted skin)
เช่น ผิวหนังที่เป็นโรคภูมิแพ้ (atopic dermatitis) นอกจากนี้ PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของ เซลล์ผิวหนังผิดปกติ ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง
นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การสัมผัสกับฝุ่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้า เกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย
เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาจเกิดผื่นคัน ผื่นกำเริบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
แพทย์หญิงจันทร์จิรา สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติม PM 2.5 ไม่เพียงแค่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจแต่ยังเป็นภัยเงียบที่ทำร้ายผิวหนัง เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถแทรกซึมสู่ผิว ก่อให้เกิดการอักเสบ ผื่นคัน รวมทั้งอาจกระตุ้นให้โรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมกำเริบได้ การปกป้องผิวและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 โดยตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในส่วนของการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีมีผื่นคันหลังการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการแกะเกา การเสียดสี และการระคายเคืองต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นมากยิ่งขึ้น ควรใช้สบู่อ่อนๆ ในการ ทำความสะอาดร่างกาย ทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ
หากมีอาการคันสามารถทานยาแก้แพ้ที่เป็นสารต้านฮิสตามีน เพื่อลดอาการได้ การซื้อยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดผื่นหรือการอักเสบของผิวหนังควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อย่างไรก็ตามถ้าผื่นเป็นมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
อ่านข่าว:
จะเกิดอะไร? เมื่อร่างกายเจอ "ฝุ่น PM 2.5"