ความคืบหน้ากรณีแอปพลิเคชัน Jagat เปิดกิจกรรมให้ผู้ใช้งานแอปร่วมค้นหาเหรียญในสถานที่ต่าง ๆ ตามพิกัดที่ปรากฏในแอปพลิเคชันเพื่อแลกเงินรางวัล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างจับตาในกิจกรรมและการบริการของแอปฯดังกล่าว
ล่าสุด วันนี้ (22 ม.ค.2568) นายเอกพงษ์ พริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ให้สัมภาษณ์ในรายการสถานีประชาชน ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีดังกล่าว
นายเอกพงษ์ ระบุว่า เมื่อเปิดใช้แอปพลิเคชันและผู้ใช้ได้อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลของโทรศัพท์ เช่น ตำแหน่งหรือข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งเมื่ออนุญาตจะเป็นการเปิดให้ผู้พัฒนาแอปฯสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
นายเอกพงษ์ พริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แรกเริ่มแอปฯนี้ ทางอินโดนีเซีย เปิดให้บริการในรูปแบบของการให้ผู้ใช้สามารถดูตำแหน่งระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน จากนั้นจึงมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อเพิ่มมูลค่าเช่น กิจกรรมค้นหาเหรียญ ทั้งนี้ การใช้งานแอปฯและผู้ให้อนุญาตให้เข้าถึงตำแหน่งจากจีพีเอส จุดหนึ่งอาจเป็นการนำข้อมูลนำมาวิเคราะห์ เช่น กรณีของประเทศจีนมีการเก็บข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้งานและนำมาใช้ในการปรับปรุงบริการ เช่น ใช้รวบรวมข้อมูลเพื่อดูจุดที่ประชาชนใช้จักรยานหนาแน่น และจัดตั้งจุดจอดจักรยานเพื่อให้บริการประชาชน
แต่ข้อควรระวัง เมื่อข้อมูลรั่วไหลแล้วนั้นไหลไปที่ใคร ใช้ทำประโยชน์อะไร ส่วนเรื่องอื่น ๆ คือการบุกรุก ก็สามารถแจ้งตำรวจได้ ซึ่งเรื่องนี้มี 2 มุม
นายเอกพงษ์ ยังระบุว่า การใช้งานแอปฯดังกล่าว หากพบว่ามีเรื่องผิดกฎหมายที่ชัดเจน ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA โดย ก.ดีอี ซึ่งรับผิดชอบดูแลแอปฯ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะรวบรวมหลักฐาน และร่วมกับตำรวจเพื่อให้ทางแอปสโตร์ถอนการใช้งานแอปฯดังกล่าวได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งผิดกฎหมายที่ชัดเจน โดยกรณีที่หากกระทบกับบุคคลอื่นหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ตำรวจได้เฝ้าระวังอยู่แล้ว ขณะนี้กฎหมายมีอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่า มีความผิดและหลักฐานชัดเจนหรือมีความผิดหรือหรือไม่
เรื่องนี้ต้องมีภูมิคุ้มกัน เช่น คนที่เล่นเกมอยู่แล้ว อยากเล่นเร็วก็อาจจะไปจ่ายเงินเพิ่มส่วนหนึ่งเป็นการตลาด หากอยู่ในรูปถูกต้องก็เป็นอีคอมเมิร์ซประเภทหนึ่งซึ่งยังสามารถไปต่อได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือเป็นช่องทางของมิจฉาชีพ ไม่กระทบสิทธิบุคคลอื่น ยังไปได้อยู่ในโลกดิจิทัล ในโลกสมัยใหม่นี้
ตร.ไซเบอร์ จับตา แอปฯเข้าข่ายพนันหรือไม่
ขณะที่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผย การเล่นกิจกรรมตามล่าหาเหรียญ Jagat ว่า ทางตำรวจไซเบอร์ได้แจ้งเตือนภัยผู้เข้าเล่นเกมผ่านแอปฯว่า มีความเสี่ยง เนื่องจากการสมัครเข้าเล่นต้องอนุญาตให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการติดตาม พิกัด GPS ซึ่งมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหล และอาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลมาก่อเหตุร้ายได้
รวมถึงแอปพลิเคชันนี้การเข้าไปหาเหรียญในพื้นที่ส่วนพื้นที่ อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก ถ้าเป็นเวลากลางวันจำคุกไม่เกิน 3 ปี และถ้าเป็นเวลากลางคืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 - 100,000 บ.ในกรณีที่เข้าไปในเวลากลางคืน
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท.
จากการตรวจสอบแอปพลิเคชัน ดังกล่าว พบว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย จุดเด่นคือเปิดให้ผู้เล่น ได้เล่นเกมเหมือนล่าสมบัติในโลกเหมือนจริง โดยการนำเหรียญไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมเล่นกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทยตรวจสอบพบว่า เปิดให้เล่นในพื้นที่สาธารณะใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และชลบุรีในพื้นที่เขตเมืองพัทยา
เบื้องต้นเกี่ยวกับบัญชีที่มีการโอนเงินกลับคืนมาให้กับผู้เล่น ทราบชื่อเจ้าของบัญชีแล้ว 3 คน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบ
ผบช.สอท.ยังระบุถึงการเล่นเกมตามล่าหาเหรียญ Jagat ว่าในเรื่องของ พ.ร.บ.การพนันต้องดูรายละเอียดว่าเป็นลักษณะการเสี่ยงโชคหรือไม่ ส่วนจะเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่ ต้องดูความการกระทำผิดมูลฐานการฟอกเงินมาก่อนหรือไม่
ปัจจุบันทางตำรวจยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความ ถ้าผู้เสียหายที่เล่มเกม และทำตามกติกาแล้วและไม่สามารถได้เงินตามที่ตกลงไว้ สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และการโพสต์คลิปโลกออนไลน์นั้นถ้าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.การพนัน การโฆษณาชักชวนก็ไม่มีความผิด และขณะนี้ยังสามารถใช้งานแอปฯได้ปกติ ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปทำการทดลองร่วมกิจกรรมหาเหรียญเพื่อดูพฤติการณ์แล้ว
อ่านข่าว : รู้จัก Jagat โซเชียลแอปฯ จากอินโดฯ กับฟีเจอร์ฮิต ล่าเหรียญแลกเงิน
กระแสล่าเหรียญ "Jagat" แลกเงิน - ตร.เฝ้าระวังอาชญากรรม
อินโดฯ เผชิญปัญหาล่าเหรียญ Jagat กระทบปชช.-พื้นที่สาธารณะเสียหาย