ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิทธิ-เสรีภาพ ของครอบครัวในยุคสมรสเท่าเทียม

สังคม
23 ม.ค. 68
06:23
10
Logo Thai PBS
สิทธิ-เสรีภาพ ของครอบครัวในยุคสมรสเท่าเทียม

23 ม.ค.2568 วันที่คู่รักหลายคู่จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสวันแรก อย่างจุดใหญ่ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน มีผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้ามามากกว่า 200 คู่แล้ว เพื่อที่จะสร้างประวัติศาสตร์ เพราะกว่าที่จะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายที่ภาคประชาชนอยากจะเห็น

จริงๆ ก็เหมือนคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป ที่การสมรส อาจจะหมายถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวเท่านั้น แต่หลังจากนั้นการถือครองทรัพย์สินร่วมกันก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่กฎหมายได้แก้ไขให้แล้ว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกหากจะสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวไทย ที่กำลังเปลี่ยนไปหลังจากนี้

หากถามถึงสิ่งที่คู่รักเพศหลากหลาย จะทำหรือต้องการเป็นสิ่งแรกๆ หลังจดทะเบียนสมรสกัน คำตอบส่วนใหญ่จาก 300 คู่ ก็คือความมั่นใจว่าคู่รักของเขา และเธอเหล่านั้น จะไม่ต้องจากไปเพราะไม่สามารถตัดสินใจทางการแพทย์ได้ รองลงมาก็คือการจัดการทรัพย์สิน และประกันชีวิตที่หลายคู่จะไปเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นอีกฝ่าย จากที่เคย ทำไม่ได้

อ่านข่าว : 878 อำเภอพร้อมเป็นนายทะเบียนให้ทุกความรัก "สมรสเท่าเทียม"

นอกจากนี้สิทธิ และหน้าที่ ที่จะมีผลทันที บุคคลสองคนอายุ 18 ปี ขึ้นไปสมรสกันได้ จากเดิมกำหนดไว้ 17 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิเด็ก เปลี่ยนคำเรียก จาก "สามี" และ "ภริยา" เป็น "คู่สมรส" จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทย สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม ร่วมกัน สิทธิในการรับมรดก การตัดสินใจทางการแพทย์แทนคู่สมรส และการได้รับสวัสดิการจากรัฐ

แต่ก็ยังมีกฎหมายอยู่อีกประมาณ 50 ฉบับ ที่ต้องแก้ไขเพื่อปรับให้สอดคล้องกับความเป็นกลางทางเพศ ที่คู่รักอีกจำนวนมาก หลายคนก็กังวลและหวังว่าการแก้ไขตามกรอบระยะเวลา 180 วันนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หรืออีก 60 วัน หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ จะแก้ไขจนแล้วเสร็จ เช่น

การได้สัญชาติไทยตามคู่สมรสยังมีเงื่อนไขที่ยังไม่สามารถทำได้ทันที เพราะตาม พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 ระบุ เฉพาะกรณีของภรรยาต่างชาติที่จะขอสัญชาติตามสามีไทย แต่สมรสเท่าเทียมได้ตัดคำว่าสามีภรรยาออกไปเป็นคู่สมรสแทน จึงอาจเกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่

เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ยังระบุให้ทำได้เฉพาะสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายอุ้มบุญ ที่บางครอบครัวบอกว่าตัวเองมีความพร้อมในการมีบุตร แต่ไม่ประสงค์รับบุตรบุญธรรม

ซึ่งถ้าดูตั้งแต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีกฎหมายรองหรือกฎหมายลูกไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่คลอดออกมา

อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว รองรับการสมรสของบุคคลทุกเพศ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 24 ปรับคำเรียก "ชาย-หญิง" เป็น "บุคคล" และ "สามี-ภริยา" เป็น "คู่สมรส" พร้อมเพิ่มความสะดวกในกระบวนการจดทะเบียนครอบครัวและการหย่า

แต่ในมุมมองของอรรณว์ ชุมาพร ภาคประชาสังคม และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมสัดส่วนภาคประชาชน มองว่า การแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปด้วยความล่าช้า ทั้งที่เป็นแนวปฏิบัติสำคัญของภาครัฐที่ต้องให้บริการในวันพรุ่งนี้ แต่กลับออกมาเมื่อ 2 วันก่อน

จึงกังวลว่าการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ต้องมีข้อถกเถียง หารือ ร่วมกันอย่างกว้างขวาง อาจจะไม่ทันกรอบระยะเวลา 180 วัน ตามที่กำหนดไว้

อ่านข่าว :

เปิด 3 มิติ "สมรสเท่าเทียม" เปลี่ยนชีวิตเด็ก-ครอบครัวไทยให้ดีขึ้น

เปิดกำหนดการ งานสมรสเท่าเทียม ครั้งแรกของไทย

ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงระเบียบจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

ก้าวสำคัญ "สมรสเท่าเทียม" ก้าวต่อไปความท้าทายแก้กฎหมายเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง