วันนี้ (3 ก.พ.2568) จากกรณีเรื่องโทษของฟลูออไรด์ เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ จากข้อมูลที่เชื่อมโยงเรื่องนี้มาจากงานวิจัยในบางพื้นที่ของจีนที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ในน้ำดื่มจากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณสูงมากถึง 3-5 มก./ลิตรขึ้นไป และยังมีปัจจัยอื่น เช่น โลหะหนักในน้ำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสมองร่วมด้วย ซึ่งงานวิจัยนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฟลูออไรด์ที่ใช้ในยาสีฟันหรือปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำประปาทั่วไป
ล่าสุดสมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำอยู่ที่ไม่เกิน 0.7 มก./ลิตร ซึ่งต่ำมากจนไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง อีกทั้งไทยไม่มีนโยบายการเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาเหมือนบางประเทศ
ฟลูออไรด์ที่ใช้ในยาสีฟันมีปริมาณเพียงเล็กน้อยและปลอดภัย โดยยาสีฟันเด็กที่มี 1,000 ppm ในปริมาณที่ใช้แปรงฟัน (แตะแปรงพอเปียกหรือขนาดเมล็ดข้าวสาร) จะมีฟลูออไรด์เพียง 0.1 มก./ครั้ง การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก็ยังคงน้อยกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฟันตกกระได้ และเมื่อผู้ปกครองเช็ดยาสีฟันหลังแปรงฟัน ก็ยิ่งเหลือในช่องปากลูก น้อยมากๆ ที่ไม่ทำให้เกิดโทษ แต่ยังได้ประโยชน์จากฟลูออไรด์ เด็กโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ยิ่งปลอดภัยขึ้น เพราะปริมาณที่เริ่มทำให้เกิดโทษ ก็มากขึ้นตามน้ำหนักเมื่อเด็กควบคุมไม่กลืนยาสีฟันได้ ก็ใช้ปริมาณยาสีฟันเพิ่มขึ้นได้ และยังปลอดภัย
ซึ่งห่างไกลจากระดับที่เป็นอันตราย การใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ตามคำแนะนำช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลเสียต่อสมอง
ดังนั้นพ่อแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องฟลูออไรด์ทำให้เด็กไอคิวต่ำลง แต่หากไม่ใช้ฟลูออไรด์เลย อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กฟันผุได้
โทษของฟลูออไรด์ มี 2 แบบ
- แบบฉับพลันทันที เมื่อได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมาก คือ 5mg/kg ขึ้นไป จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง
5 mg/kg คือ ปริมาณเท่าไร สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg (คิดจากเด็กเล็กสุด น้ำหนักน้อย เพื่อคำนวณปริมาณต่ำสุด ที่จะเกิดโทษนะคะ) ปริมาณที่ทำให้เด็กน้ำหนัก 8 kg คลื่นไส้อาเจียน = 40 mg Fluoride
ยาสีฟัน 1000 ppm แปลว่า ใน 1 g. ของยาสีฟัน มี ฟลูออไรด์ 1 mg. นั่นคือ เด็กเล็กต้องบีบยาสีฟันออกมา 40 กรัม และทานเข้าไปทั้งหมดในคราวเดียว ถ้าเป็นหลอดขนาด 40 g คือบีบกินทั้งหลอด (ยาสีฟันเด็ก 1 หลอดมีขนาด 40,60,80 กรัม ยาสีฟันผู้ใหญ่ หลอดใหญ่ 1 หลอดมี 160 กรัม)
- โทษจากการได้รับสะสม หากได้รับฟลูออไรด์เกิน 0.05-0.07 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลาหนึ่งจะทำให้ฟันตกกระ ที่เรียกว่า fluorosis
สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg (คิดจากเด็กเล็กสุดเช่นเดิม ถ้าเป็นเด็กโตขึ้น ปริมาณก็เพิ่มขึ้นตามน้ำหนัก)
ปริมาณที่ทำให้เกิด fluorosis ได้ = 0.4 mg Fluoride ทานเข้าไปทุกวัน
ฟลูออไรด์เท่าไหร่ที่จะมีผลต่อสมอง
มีการวิจัยในส่วนของฟลูออไรด์ว่า ปริมาณเท่าใดที่จะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง พบว่า สำหรับเด็กอายุ 7 เดือน – 4 ปี ต้องได้รับในปริมาณที่เกิน 1.6 - 3.2 มก. / วัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง (เด็กโตขึ้นปริมาณที่ทำให้เกิดโทษได้ก็เพิ่มขึ้น) ซึ่งหากเด็กดื่มน้ำวันละ 1 ลิตร ก็อาจจะได้รับถึง 3-5 มก.มีผลต่อสมองได้
แต่ประเทศไทยไม่มีแร่ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงขนาดนั้น ยิ่งกรุงเทพฯและปริมณฑล มีน้อยกว่า 0.3 มก./ลิตร เด็กน้อยต้องดื่มน้ำวันละ 5-10 ลิตรทุกวันซึ่งเป็นไปไม่ได้
อ่านข่าว :
ฉวยขึ้นราคา! ชงครม.เครื่องฟอกอากาศ-ดูดฝุ่น "สินค้าควบคุม"
อย่าตกใจ! LINE ยังใช้ฟรี ไม่ได้ปิด-ไม่ได้เสียเงิน
เดดไลน์ 30 เม.ย. ผู้ใช้ "เบอร์โทร" ไม่ตรง "แบงค์กิ้ง" รีบติดต่อด่วน