ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สงครามการค้าทรัมป์ 2.0 ใครได้-ใครเสีย ? จากนโยบายตั้งกำแพงภาษี

Logo Thai PBS
สงครามการค้าทรัมป์ 2.0 ใครได้-ใครเสีย ? จากนโยบายตั้งกำแพงภาษี
การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เคยสร้างความกังวลทั่วโลกเมื่อ "ทรัมป์" นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก มาถึงยุคทรัมป์ 2.0 ความกังวลนี้ยิ่งกระพือมากขึ้น ต้องจับตาว่ามาตรการภาษีรอบนี้จะบังคับใช้นานแค่ไหน ผู้นำแต่ละประเทศยอมคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมหรือไม่

เป็นไปตามการคาดการณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะยิ่งรุนแรงและเข้มข้นมากกว่าในสมัยแรก เพราะผ่านมายังไม่ถึง 2 สัปดาห์เต็ม นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ผู้นำคนนี้ก็ประกาศคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโกไปแล้ว

ทรัมป์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย International Emergency Economic Powers เพื่อตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ก่อภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ จากผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติด ซึ่งรวมถึงยาเฟนทานิล

ทำเนียบขาว ระบุว่า มาตรการนี้ตั้งเป้าลงโทษทั้งแคนาดา เม็กซิโก และ จีน ซึ่งต้องรับผิดชอบในการหยุดยั้งผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดไม่ให้ไหลทะลักเข้าไปในสหรัฐฯ

โดยสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 และจากจีนเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากกำแพงภาษีที่มีการกำหนดอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันอังคารนี้เป็นต้นไป (4 ก.พ.2568)

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังทรัมป์ประกาศคำสั่งนี้ จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดา ก็ออกมาประกาศมาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 25 ในวันที่ 4 ก.พ.เช่นกัน พร้อมทั้งเตือนด้วยว่า มาตรการนี้จะกระทบกับความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่าง 2 ประเทศ และชาวอเมริกัน คือ คนที่จะต้องรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

การขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ไม่จำเป็นว่า สหรัฐฯ และชาวอเมริกันจะต้องได้ประโยชน์เสมอไป โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกผูกโยงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะใช้หลักการแบ่งงานกันทำ ซึ่งตัวอย่างนี้มาจากเว็บไซต์ของ Bank of Canada

"รถยนต์" คือสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดามากเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมัน แต่การผลิตรถ 1 คัน ต้องส่งสินค้าข้ามพรมแดนหลายรอบ โดยเริ่มจากเหล็กที่ใช้ในการผลิตรถมาจากโรงงานในแคนาดา ซึ่งการส่งเหล็กไปผลิตเป็นชิ้นส่วนรถในสหรัฐฯ จะโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 1 และเมื่อส่งชิ้นส่วนกลับไปประกอบที่แคนาดา ก็จะโดนแคนาดาเก็บภาษีอีกรอบ ดังนั้นชาวแคนาดาจะซื้อรถแพงขึ้น เพราะโดนเก็บภาษีนำเข้า 2 เด้ง แต่ชาวอเมริกันจะเจอภาษีนำเข้าถึง 3 เด้ง

ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับสินค้าที่นำเข้าจากเม็กซิโกด้วย โดยรถยนต์ ชิ้นส่วนรถและคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกสูงสุด 3 อันดับแรก แต่ประเด็นที่หลายคนกังวลมากกว่าราคารถยนต์ นั่นคือ การนำเข้าสินค้าเกษตรและน้ำมัน

กำแพงภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาข้าวของเครื่องใช้ในสหรัฐฯ แพงขึ้นและอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยนักวิเคราะห์ มองว่า เมื่อเริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในวันที่ 4 ก.พ. ทั้งสหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโกจะเจอกับผลกระทบรุนแรงทันที แต่ผลกระทบนั้นจะมากหรือน้อยหลังจากนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว

แม้ทรัมป์จะระบุว่า การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจะช่วยปกป้องธุรกิจอเมริกันและทำให้บริษัทต่าง ๆ กลับมาเปิดโรงงานในประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น

ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 ที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีรายรับเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ โดยนับตั้งแต่สงครามกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเปิดฉากขึ้นในปี 2561 จนถึงช่วงปลายรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก พบว่า สหรัฐฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีสินค้าจีนประมาณ 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่มาตรการตอบโต้ทางการค้าของจีน ส่งผลให้เกษตรกรอเมริกันสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ จนทำให้ทรัมป์ต้องอนุมัติเงินช่วยเหลือ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2561-2562 ขณะที่ในปี 2563 ทรัมป์ต้องอุ้มภาคเกษตรกรรมในประเทศถึง 2 รอบ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมสงครามการค้า ดังนั้นรวมมูลค่าเงินช่วยเหลือทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ได้จากจีน เทียบแล้วแทบไม่ได้เม็ดเงินอะไรกลับมาเลย

รัฐบาลจีนพูดมาโดยตลอดว่า สงครามการค้าและภาษีไม่เป็นผลดีกับใคร และจะไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามนี้ โดยจีนเตรียมยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO กรณีการตั้งกำแพงภาษีแต่เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการละเมิดระเบียบของ WTO อย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ มีเหตุผลและแก้ปัญหาของตัวเอง แทนที่จะไปขู่ประเทศอื่น เพราะกำแพงภาษี นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาในสหรัฐฯ แล้ว ยังบั่นทอนความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์ของประเทศ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ทรัมป์ออกมายอมรับว่า ชาวอเมริกันอาจได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลักของประเทศ แต่ยืนยันว่าความเจ็บปวดนั้นจะคุ้มค่า เพราะจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งและช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศ หลังจากนี้ต้องรอดูว่าฐานเสียงของทรัมป์และรีพับลิกันจะมีท่าทีอย่างไร เพราะต้องแบกความเจ็บปวดเอาไว้ไม่มากก็น้อย

อ่านข่าวอื่น :

อังกฤษนำร่องโลก! เตรียมออก กม.ห้ามใช้ AI สร้างสื่อลามกเด็ก

"กาตาร์" ตัวกลางเร่งเจรจา อิสราเอล-ฮามาส หยุดยิงระยะ 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง