ระยะเวลาเพียง 10 วัน หลังจาก "โดนัล ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้ระงับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา หรือ USAID (U.S. Agency for International Development) ที่มอบให้ต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ยกเว้นการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหาร และความช่วยเหลือทางการทหารแก่อิสราเอลและอียิปต์ จนเกิดความระส่ำระสาย ทั่วโลก
ในปี 2023 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่นานาชาติรายใหญ่ของโลก มีการใช้จ่ายเงินส่วนนี้มากถึง 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.28 ล้านล้านบาท หรือ งบประมาณเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2024 ดังนั้น คำประกาศของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบต่อทุกองค์กรช่วยเหลือทั่วโลก ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วย
Stop work order "ภาวะชะงักงัน" ในศูนย์ผู้ลี้ภัยฯ
ทันทีที่มีคำสั่ง STOP WORK ORDER จากสหรัฐฯ ความช่วยเหลือทุกอย่างก็หยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าใช้จ่าย เงินสนับสนุนที่เป็นค่าใช้จ่ายขององค์การระหว่างประเทศ และองค์กรการกุศลเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยงานในค่ายอพยพ หรือแม้แต่คลินิก ในค่ายผู้ลี้ภัย ต้องปิดตัวลงโดยปริยาย เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้การรักษาและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้
"ศูนย์อพยพ 9 แห่ง บางแห่งเป็นศูนย์เล็กที่อยู่ระหว่างใกล้จะปิดแคมป์ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด เพราะการช่วยเหลือมาจากอเมริกาและ EU เป็นหลัก แม้จะยังความช่วยเหลือค่าอาหารและสาธารณสุข ตามหลักมนุษยธรรม ... ตอนนี้ให้ทุกองค์กรหยุดทำงานไปก่อน แม้ยังไม่ได้หยุดตลอดชีวิต แต่ก็มีผล เพราะส่วนอื่น ๆ ทั้ง การศึกษา สาธารณสุข ซึ่งเกินครึ่งเป็นเงินสนับสนุนของสหรัฐ ฯ" เจ้าหน้าที่ประจำองค์กรช่วยเหลือแห่งหนึ่ง ชี้แจง
การประกาศอย่างกะทันหัน ทำให้หลายองค์กร ฯ ตั้งตัวไม่ทัน เนื่องจากไม่ได้มีการสำรองประงบประมาณ และไม่มั่นใจว่า การเบิก-จ่าย การจ้างงานของเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายในสำนักงานก่อนหน้านี้ จะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้น คงต้องรอความชัดเจนจากสหรัฐฯ หลังจากครบกำหนดการตัดความช่วยเหลือแล้ว สหรัฐฯจะมีมาตรการอื่นใดออกมาอีกหรือไม่
"ปัญหาหลัก ๆ ขณะนี้ คือ เรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยในศูนย์อพยพ ฯ องค์กรถูกสั่งให้หยุดทำงาน Staff ก็ทำงานต่อไม่ได้ จริง ๆ รพ.ในแคมป์สำคัญมาก เพราะเป็นต้นทางการป้องกัน ไม่ให้มีโรคระบาดแพร่ออกจากพื้นที่ จะแก้ปัญหาอย่างไร หากมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกิดขึ้น ใครจะเป็นคนออก รัฐบาลไทยมีนโยบายชั่วคราว เพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ ตอนนี้ยังทำอะไร ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากผู้ที่ให้งบอุดหนุน" เจ้าหน้าที่คนเดิมระบุ
ไทย "ม้าอารี" ไร้ทางออก ส่งผู้อพยพคืนมาตุภูมิ
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นับจากรัฐบาลเมียนมา เปิดปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหนักหน่วง ทำให้มีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบทะลักเข้ามาบริเวณพื้นที่รอบแนวชายแดนไทย และรัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องผ่อนปรนให้กลุ่มคนดังกล่าว อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยมีการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน พื้นที่ 4 จังหวัด คือ ตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี และกาญจนบุรี
จากปี 2527-2568 ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบกว่า 1 แสนคน ก็ยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับมาตุภูมิ แม้สถานการณ์ในเมียนมาจะคลี่ คลายลงตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2553 และปี 2558 มีการเลือกตั้งหลายครั้งหลายครา แต่การเจรจาส่งตัวผู้ลี้ภัยทั้งหมด กลับประเทศต้นทางยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขเรื่องการ "พิสูจน์สัญชาติ" และจำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมียนมา จึงทำให้ไทย จำต้องรับบทเป็น "ม้าอารี" ต่อไป
ขณะเดียวกัน เหตุผลหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยฯไม่อยากกลับประเทศ เนื่องจากการมีอาหารที่ดี มีที่พักอาศัยที่มั่นคงแข็งแรง และยังมีความหวังที่จะได้รับการคัดเลือกไปประเทศที่สาม และเกรงว่าหากกลับไปแล้วจะเกิดอันตราย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องให้ UNHCR เข้ามาช่วย ในการจัดทำทะเบียนผู้ลี้ภัย ฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการส่งกลับในอนาคต
ข้อมูลจากส่วนกิจการชายแดนและผู้อพยพ กรมการปกครอง กระทรวงมหาด ไทย ระบุเดือน มิ.ย. 2567 มีผู้ลี้ภัย อยู่ในศูนย์อพยพจำนวน 100,000 ราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า เดือนพ.ย. 2567 ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจำนวน 86,539 คน
ผู้ลี้ภัย ส่วนมากเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง หรือกะยาห์ อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พึ่งพิงชั่ว คราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย โดยแคมป์ผู้ลี้ภัย หรือ "พื้นที่พักพิงชั่วคราว" กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด มีจำนวน 9 แคมป์
"ศูนย์ลี้ภัยสู้รบ" ผลประโยชน์แหล่งใหญ่ ของใคร?
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา งบประมาณที่เคยได้รับจาก ยูเอ็น หรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ลดลงต่อเนื่อง แม้ข้อตกลงเดิม คือ ผู้อพยพลี้ภัยจากการสู้รบจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฯ เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง คือ สามารถขอออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ หากมีการจ่ายเงินให้หัวหน้าหรือผู้คุม จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบางกลุ่ม
และบางศูนย์ฯยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับแหล่งค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด การบุกรุกทำลายป่าไม้ และเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง แนวทางการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ในประเทศไทยของรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2557-2563 ของ อัญชลี ดวงแก้ว หลักสูตรนักบริหารการทูต รุ่น 13 ปี 2564 สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโนปการ กระทรวงการตางประเทศ ระบุ ตอนหนึ่งว่า การมีผู้ลี้ภัยฯกว่าแสนคนอาศัยอยูในพื้นทีพักพิงที่รัฐบาลจัดให้กว่า 30 ปี ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายด้าน
ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การควบคุมดูแล การลักลอบขายแรงงานปัญหายาเสพติด การคุกคามชีวิตและทรัพย์สินราษฎรไทย การละเมิดอธิปไตยและความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการเตรียมความพร้อมให้ผู้ลี้ภัย และมีการจัดทำแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัย ขณะที่รัฐบาลเมียนมาก็จัดทำแผนรองรับให้ผู้ลี้ภัยกลับไปดำรงชีพในเมียนมาด้วยเช่นกัน มีการอำนวยความสะดวกจาก UNHCR และ IOM ส่งผู้ลี้ภัยฯกลับเมื่อเดือนก.ค.2562 แต่ภายหลังมีผู้เปลี่ยนใจ อาจเพราะขาดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย
ต่อมาปี 2564 เกิดรัฐประหารในเมียนมา ทำให้ชาวเมียนมาหนีการปราบปรามของรัฐบาลรักษาการ และอพยพข้ามแดนมาอาศัยอยู่ชายแดนจ.แม่ฮ่องสอน จึงส่งผลกระทบต่อการส่งกลับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย
ดังนั้นไทย จึงจำต้องแบกภาระนี้ไปเต็มๆ ในขณะที่การเจรจาขอส่งผู้ลี้ภัย 9 แคมป์ไม่เคยมีความคืบหน้า อีกทั้งยังต้องแบกรับปัญหาที่เกิดขึ้น หลังสหรัฐฯระงับการให้เงินทุนแก่คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (International Rescue Committee - IRC) 90 วัน
มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งหมดที่อยู่ในโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย ต้องออกจากโรงพยาบาล ยกเว้นเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน และจะไม่มีการรับผู้ป่วยนอกอีกต่อไป
แม้อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย จะบอกว่า ไทยจัดอยู่ในลำดับ 5 ของโลกเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ และเรื่องมนุษยธรรมก็ไม่มีใครใส่ใจในการดูแลผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากเหมือนไทย ดังนั้น สหรัฐฯจะประกาศอะไร ก็เป็นเรื่องของนโยบายเขา
"แต่ระบบสาธารณสุขไทยจะไม่มีการปล่อยให้ใครต้องมาเสียชีวิตในประเทศของเรา โดยที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้"
ขณะที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข บอกสั้นๆ ว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มรอพิสูจน์สัญชาติ มีอยู่ 7 แสนคน ส่วนผู้ลี้ภัยจาการสู้รบ คงทอดทิ้งไม่ได้ เมื่อมาอยู่ตรงนี้แต่ต้นจะจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องเข้าประเทศผิดกฎหมาย และต้องหารือครม.เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ภายในเดือนก.พ.นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อสรุปว่า โรงพยาบาลใน 5 อำเภอชายแดน จะแบ่งกันดูแลศูนย์พักพิงชั่วคราว คือ รพ.อุ้มผาง ดูแลศูนย์พักพิงนุโพ , รพ.พบพระ ดูแลศูนย์พักพิงอุ้มเปี้ยม รพ.ท่าสองยาง รพ.แม่ระมาด, และรพ.แม่สอด ดูแลศูนย์พักพิงแม่หละ
โดย รพ.แม่สอดจะเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับทุกโรงพยาบาลส่วนงบประมาณ ทรัพยากรใช้ของ รพ.ในพื้นที่ดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน และในอนาคตอาจมีการขอตั้งกองทุนขอบริจาคระดับประเทศต่อไป
และนี่คือ บทสรุปของไทย "ม้าอารี" ที่ต้องรับหน้าเสื่อ ท่ามกลางสภาวะที่โลกปั่นป่วนจากฝีมือของ "ทรัมป์"
อ่านข่าว
"ไทย" รับมือสงครามการค้าโลกเดือด “ทรัมป์” กลับมาเอาคืน
บิ๊กเอกชน เตรียมหารือ นายกฯ รับมือ ผลกระทบทรัมป์2.0
รับมือ "ทรัมป์ 2.0" ป่วนโลก ไทยตั้งวอร์รูมป้อง "สงครามการค้า"