วันนี้ (12 ก.พ.2568) พ.ท.ทพ.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยว่า จากการสำรวจของกรมอนามัยปี 2566 พบว่าในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ปี มีร้อยละ 55 ที่ฟันไม่ผุ (Caries Free) แต่เมื่ออายุเกิน 5 ปีไปแล้ว พบว่ากลุ่มที่ฟันไม่ผุเลยลดลงเหลือร้อยละ 28
ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี มีร้อยละ 74.5 ที่ได้รับการตรวจฟัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.4 เคยมีอาการปวดฟัน ซ้ำในจำนวนี้ยังมีเด็กที่ได้ทำฟันจริงเพียงร้อยละ 40.9 เท่านั้น ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 61.2 เริ่มมีฟันผุ และร้อยละ 79.5 เริ่มมีโรคเหงือก
ส่วนวัยทำงาน 35-44 ปี ร้อยละ 83.9 มีฟันหลอ และร้อยละ 81 มีโรคเหงือก ขณะที่ร้อยละ 67.1 มีอาการเหงือกร่นและรากฟันโผล่ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60-85 ปี ในกลุ่มอายุ 60-74 ปี มีฟันเหลือประมาณ 20 ซี่ และอายุ 80-85 ปี มีฟันเหลือประมาณ 12 ซี่
หัตถการช่องปากที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด
พ.ท.ทพ.ธนศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของหัตถการช่องปากที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด คือ ขูดหินปูน และ รักษาโรคเหงือก รองลงมาคือ ถอนฟัน ตามด้วยอุดฟัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุแล้ว ส่วนการป้องกัน เช่น ตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบฟลูออไรด์ เป็นหัตถการที่มีผู้รับบริการน้อยอยู่ในลำดับท้ายๆ
และในส่วนของหน่วยบริการยอดนิยม พบว่าเกือบร้อยละ 50 ไปรักษาที่คลินิกเอกชน ส่วนอีกร้อยละ 20 ไปโรงพยาบาลรัฐ และอีกร้อยละ 10 รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สาเหตุที่คนไทยเข้าไม่ถึง เนื่องจากการไปโรงพยาบาลรัฐมีคิวบริการนาน รวมทั้งสิทธิรับบริการบางอย่างไม่ครอบคลุมสิทธิ ทำให้ต้องร่วมจ่าย รวมถึงไม่สะดวกไปรับบริการในเวลาราชการ โดยการรับบริการครั้งสุดท้าย มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 909 บาท
ปัญหาสุขภาพช่องปากคนไทย เน้นรักษามากกว่าป้องกัน
ทั้งนี้ โรคในช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ เช่น หากเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือหากเป็นเบาหวานแล้วคุมน้ำตาลไม่ดีก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรครำมะนาด หรือผู้ป่วยติดเตียงอาจเสี่ยงสำลักเอาเชื้อจากช่องปากเข้าไปในปอด เป็นต้น
และปัญหาสุขภาพช่องปาก มีทั้งที่เกิดที่ฟันและที่เหงือก ที่ฟันคือมีฟันผุจนลึกถึงโพรงประสาทที่นำมาสู่การติดเชื้อเป็นหนอง หรือถ้าเป็นที่เหงือกอาจะเกิดการอักเสบจนไม่สามารถรองรับฟันได้ ฟันก็จะโยกคลอนและหลุดได้ ซึ่งบริการรักษาฟันมีตั้งแต่อุดฟันผุ แต่ก่อนฟันผุเล็กน้อยก็จะจะกรอฟันแล้วอุดไว้ แต่ปัจจุบันถ้าได้รับการเคลือบฟลูออไรด์เพียงพอ แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมอ ฟันก็อาจจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด
สำหรับกรณีที่ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทก็มีจำเป็นต้องรักษารากฟัน ทำความสะอาดเอาส่วนที่ติดเชื้อออกแล้วอุดคลองรากฟัน ก็สามารถเก็บฟันไว้ได้ แต่หากรุนแรงขึ้นมาอีกจำเป็นต้องถอนออก หรือในส่วนของเหงือกที่ทำให้เกิดโรคคือคราบขี้ฟันสีขาวเหลืองที่สะสมตามคอฟันหรือซอกฟัน สามารถป้องกันด้วยตนเองโดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ หรือการดูแลโดยทันตแพทย์ด้วยการขัดทำความสะอาด ขูดหินปูน รวมทั้งการเกลารากฟัน แต่หากรุนแรงจริงๆ ก็อาจต้องถอนฟันอยู่ดี
เช็กเงื่อนไขใช้สิทธิบัตรทอง ดูแลช่องปาก
จากสถิติข้างต้นพบว่าคนไทยยังซ่อมมากกว่าสร้าง ดังนั้นควรจะมีการตรวจสุขภาพฟันหรือป้องกันโรคให้มากขึ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์บัตรทองเดิมทีให้สิทธิรับบริการเฉพาะที่โรงพยาบาลรัฐ ครอบคลุมเกือบทุกอย่างยกเว้นบริการที่เกี่ยวกับความสวยงามและไม่มีข้อบ่งชี้ แต่จากโครงการ "30 บาทรักษาทุกที่" ทำให้ไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมเอกชนร่วมโครงการได้ ครอบคลุมบริการทั้ง การตรวจฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ อุดฟัน ขูดหินปูน และถอนฟัน ได้ปีละ 3 ครั้ง ไม่ต้องร่วมจ่าย แต่หากรับบริการมากกว่า 3 ครั้ง หรือการรักษาที่คลินิกทันตกรรมเอกชนไม่ครอบคลุม สามารถข้อรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลรัฐบาลได้
ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมตามสิทธิประโยชน์บัตรทอง สามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่เว็บไซต์ สปสช. จากนั้นติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ โดยการเข้ารับบริการก็ใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัว
โดยในครั้งที่ 1 จะเริ่มจากการตรวจช่องปากโดยละเอียด ประเมินความเสี่ยงฟันผุ จัดแผนการรักษาตามลำดับความรุนแรงของโรค จากนั้น การรักษาครั้งที่ 2 และ 3 จะการรักษาตามแผน เช่น อุด ขูด ถอน อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนหากยังจำเป็นต้องรักษาครั้งที่ 4 เป็นต้นไป สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐตามสิทธิได้
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองทุกวัน แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาทีด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ ลดแป้งและน้ำตาล ทานอาหารให้เป็นเวลา บอกลาอาหารหวานเหนียวติดฟัน และควรเข้ารับการตรวจฟันจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากอาจมีภาวะช่องปากเรามองเองไม่เห็น จะได้รีบป้องกันหรือรักษาแต่แรกเริ่ม โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงสังเกตคลินิกทันตกรรมที่มีสติ๊กเกอร์ "30 บาทรักษาทุกที่" ติดอยู่ หรือดูรายชื่อคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีสุขภาพช่องปากดีได้
อ่านข่าว : ตร.จ่อแจ้งข้อหาเพิ่ม "พีมสาดนำร้อน" ขายบุหรี่ไฟฟ้า-สอบเส้นเงิน