วันนี้ (19 ก.พ.2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษากองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.ช.) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปรับตัวดีขึ้น โดยวันนี้ในภาคใต้ดีขึ้น และอยู่ในค่ามาตรฐานทุกจังหวัด แต่ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่อีสานตอนล่าง ภาคตะวันตก ที่จ.กาญจนบุรี
ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีจุดความร้อนมากที่สุด ปริมาณฝุ่นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา ลำปาง แพร่ น่าน
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ราย งานสถานการณ์ วันนี้พบจุดความร้อน (Hotspot) 2,021 จุด โดยพื้นที่จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 10 ลำดับแรก คือ ลำปาง ตาก กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ แพร่ อุทัยธานี กำแพง พะเยา เชียงใหม่ และลำพูน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า
อ่านข่าว ทวงถามเพื่อไทยจะแก้ฝุ่นกี่โมง? "แพทองธาร"บอกดีดนิ้วฝุ่นไม่หาย
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศวันนี้ มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีฝนในพื้นที่ กทม. โดยช่วงเช้าพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด ได้แก่ เขตราษฎร์บูรณะ วัดได้ 70 มิลลิเมตร รองลงมา เขตบางคอแหลม 53.5 มิลลิเมตร
อ่านข่าว เช็กคิวครม.สัญจรนัดแรกลุยสงขลา-พัทลุง 17-18 ก.พ.

สภาพฝุ่นในหลายจังหวัดที่เกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
สภาพฝุ่นในหลายจังหวัดที่เกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
โต้กลับฝ่ายค้านฝุ่น PM 2.5
นายจิรายุ ยังกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านออกมากล่าวว่า มาตรการห้ามเผาในพื้นที่การเกษตรเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 และมาตรการจัดการฝุ่นของนั้นไม่มีแผนรองรับ ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสนับสนุนวิธีการทำนาแบบไม่เผาอย่างเป็นระบบ โดยขอความร่วมมือเกษตรกรงดเผาให้หันมาเลือกใช้วิธีไถกลบ และสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าวและเศษวัสดุการเกษตร
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องฝุ่นกระทบทุกบ้านทุกคน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง พร้อมรับฟังปัญหาที่สะท้อนมา ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับในนโยบายทั้งการสนับสนุนเงินชดเชยและรูปแบบต่าง ๆ จากเกษตรกรอย่างเต็มที่
อ่านข่าว ภาคประชาชน ร้องทบทวน "ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้"

งบสู้ฝุ่น 620 ล้านบาทมาถูกทางหรือไม่
ส่วนกรณีที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางจำนวน 620 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองปี 2568 วงเงิน 620 ล้านบาท ซึ่งงบบางส่วนถูกนำไปจ้างชาวบ้าน
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การนำงบไปจัดจ้างชาวบ้านในการช่วยดูแลพื้นที่เสี่ยงไฟป่าเคยทำมาแล้วในปี 2567 ซึ่งช่วยได้ในการเป็นทัพหน้าในการเฝ้าระวัง แต่หน่วยที่เข้าไปดับเป็นชาวบ้านในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า
ชาวบ้านที่มารับจ้างเรียกว่าเป็นแมวเซา มีจุดเฝ้าระวังคอยแจ้งเหตุ ส่งต่อและประสานให้ชุดดับไฟป่าเข้ามา
อ่านข่าว ครม.สัญจรอนุมัติงบฯ ฟื้นน้ำท่วมใต้-แก้ปัญหาทะเลน้อย-หนุนท่องเที่ยว

นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เมื่อถามว่าเป็นการทิ้งงบแต่ละปีแบบสูญเปล่าหรือไม่ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า แต่มองในแง่ดีการจ้างชาวบ้านจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมช่วย แต่ถ้าให้มองระยะยาวยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า และเป็นการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า และกระตุ้นให้ดูแลไฟป่าในพื้นที่
แต่ที่ไม่ตรงจุด เพราะชุดปฏิบัติงานดับไฟป่าต้องมีความรู้ และมีทักษะเรื่องการดับไฟ และรู้จักพื้นที่
อีกทั้งกระบวนการแก้ปัญหาไม่ควรแก้ในเฉพาะหน้า แต่ควรมีกระบวนการจัดการไฟในป่า มีข้อมูลในการบริหารจัดการ วางแผนการเผา และควบคุม ซึ่งจำเป็นต้องมีคนในพื้นที่ช่วยกันออกแบบให้เหมาะสมสอดคล่องกับสถานการณ์ในภาพรวม ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าเกิดไฟไม่ได้
อ่านข่าว รัฐบาลเพื่อไทย โปรยเงินฉุกเฉิน 620 ล้านสู้ฝุ่น ทส.ลั่นไม่เทงบทิ้ง

ยังตั้งตัวไม่ติด-คนเมืองเกาะติด
ส่วนการรับมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยมีนโยบายแก้ปัญหาPM 2.5 ตั้งแต่ช่วงหาเสียง นายภานุเดช ระบุว่า ยังตั้งตัวไม่ติด เพราะปัญหาฝุ่นและปัญหาไฟป่า มีความสำคัญกับพรรคเพื่อไทย เพราะพื้นที่ของพรรคส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหรือ หากพรรคไม่มีแอคชันที่ทันเพียงพอ จะทำให้มีผลต่อคะแนนเสียง ขณะที่คนเมืองก็ติดตามการแก้ปัญหาฝุ่นเพราะเป็นบอกคุณภาพของครม.การเมืองได้ว่ามีความสามารถในการจัดการปัญหานี้ได้ดีหรือไม่
ยังไม่เห็นว่ามีกลไกวางแผน การจัดการปัญหาฝุ่น-ไฟป่าเชิงรุกมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ซึ่งอาจจะมาจากที่หลายพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาล ทำให้แต่ละพรรคไม่จัดการได้เบ็ดเสร็จ ขึ้นกับแอคชันของแต่ละพรรค มองว่ายังน้อยไม่ผ่าน
อ่านข่าว ตรงจากดาวอส! นายกฯ สั่งแก้ปัญหาฝุ่นด่วน กทม.พื้นที่สีแดง 30 เขต

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ตรึงพื้นที่เสี่ยง 1,330 จุด-ส่งทหารเข้าพื้นที่
ส่วนนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า งบก้อน 620 ล้านบาท แบ่งเป็นกรมป่าไม้ 187 ล้านบาท กรมอุทยานฯ 433 ล้านบาท ซึ่งความจำเป็นต้องจ้างชาวบ้านในพื้นที่ เป็นชุดดับไฟป่าให้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่กำหนด ซึ่งเบื้องต้นมีพื้นที่เสี่ยง 1,330 จุดจะจ้างชาวบ้านจุดละ3 คนให้อยู่ประจำจุดให้เงินเดือน 4 เดือน และจ้างชุดดับไฟป่าอีก 400 คน
ขณะนี้กรมอุทยานฯ ปรับแผนพื้นที่ตรงไหนยังไม่ไหม้ก็ให้เข้าไปฝังตัว และสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไฟป่าในเขตอนุรักษ์ โดยมีการตั้งงบกลางจำนวน 51 ล้านบาท เพื่อร่วมมือกับกองทัพในการส่งทหาร 1,070 นายเข้าร่วมลาดตระเวนและควบคุมไฟป่าและอากาศยานใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันตก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตั้งงบให้กับทหารมาทำงานร่วมกัน

โดยตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เริ่มเข้าพื้นที่กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชุดละ 10-15 คนในจุดเสี่ยงไฟป่าเขตอนุรักษ์ เพื่อบล็อกไม่ให้เกิดการลอบเผาพื้นที่ก่อน ถือเป็นครั้งแรกที่สนับนุนเฉพาะงบทหาร เดิมแค่ขอความร่วมมือ แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้งบกลาง 51 ล้านบาท สำหรับใช้ค่าเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์เฮลิคอปเตอร์ในการดับไฟป่า และงบอีกส่วนหนึ่ง ยังนำไปใช้ทำพื้นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว 76 พื้นที่บนภูเขา ไว้ส่งเสบียงและกำลังเจ้าหน้าที่
เบื้องต้นโฟกัสกลุ่มป่าเขื่อนสิริกิติ์ เวียงโกศัย แม่มอก แม่วะ และฝั่งตะวันตกกลุ่มป่าเขื่อนศรีนครินทร์ ที่กำลังหนักมาก พยายามวางคนให้กระจายในป่าทั้งหมด เพราะไฟกำลังเข้าขยับในพื้นที่ภาคเหนือต้องบล็อกให้ได้ เพราะถ้าเกิดขึ้นพร้อมกันจะทำงานยากมาก เอาคนเข้าไปในป่า
อ่านข่าว อุทยานฯ จับมือทหาร 1,070 นายร่วมตรึงจุดเสี่ยงไฟป่า

พื้นที่ไหนเกิดไฟป่า-ห้ามเก็บหาของป่า
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า รวบรวมสถิติพื้นที่เกิดไฟป่า โดยพื้นที่ใดที่เกิดไฟไหม้ป่ามากให้ออกประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปเก็บหาของป่าในพื้นที่ป่าโดยเด็ดขาดตลอดทั้งปี หากผู้ใดฝ่าฝืนเข้าไปเก็บหาของป่าในพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
ยกเว้นเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นรายกรณีเท่านั้น โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและมีส่วนร่วมในการช่วยงานดับไฟป่าในพื้นที่ และจะต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรายบุคคลไป