วันนี้ (18 ก.พ.2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จ.สงขลา เห็นขอความเห็นชอบกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ.2567-2571) มติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับอนุมัติกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปีแรก วงเงิน 402.818 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นลำดับแรก
หากไม่เพียงพอ มอบหมายให้หน่วยงานผู้ดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมประมงเสนอขอรับจัดสรรจากงบรายจ่ายประจำปี หรือแหล่งเงินอื่นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานที่รับผิดชอบ
อ่านข่าว น่าห่วง 14 ตัวสุดท้าย "โลมาอิรวดี" ทะเลสาบสงขลา
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังนำขอบเขตงาน ตัวชี้วัด และกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในระยะ 5 ปีแรกเจรจาเงินกู้กับธนาคารโลก รวมทั้งให้หน่วยงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี สามารถทำควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง (โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา) ของกรมทางหลวงชนบท
สาระสำคัญของแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ประกอบไปด้วย 6 แผนงาน 15 โครง การ จำนวน 36 กิจกรรม เช่น การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การจัดทำแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีที่ชัดเจน การประกาศเขตพื้นที่ห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่เป็นอันตราย
การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณที่รับผิดชอบของชุมชน ประมงท้องถิ่น การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
การสำรวจการแพร่กระจาย และจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา

โลมาอิรวดีในกัมพูชา 1 ใน 5 แหล่งที่ยังมีประชากรแต่เหลือน้อย
โลมาอิรวดีในกัมพูชา 1 ใน 5 แหล่งที่ยังมีประชากรแต่เหลือน้อย
เล็งเพิ่มประชากร-ศึกษาดีเอ็นเอ
นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเล สาบสงขลา เช่น การศึกษาพันธุกรรมของโลมาอิรวดี และการศึกษาดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการอนุรักษ์ที่เหมาะสม
การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน เช่น การติดตามผลกระทบต่อโลมาอิรวดีจากการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอาชีพชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา
ทั้งนี้ แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี จะช่วยลดสาเหตุการตายและภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดี ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรโลมาอิรวดีผ่านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน
สำหรับโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และกรม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เคยเสนอให้อนุรักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัวฝูงสุดท้ายของทะเลสาบสงขลา ซึ่งโลมาน้ำจืดที่หายากของไทย
หลังจากการสำรวจเมื่อ 30 ปี ก่อนพบว่ามีโลมาอิรวดีมากว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยพบเหลือเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น และเป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตแล้วในทะเลสาบสงขลา
ขณะที่พบว่าโลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนิเซีย 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว ไทย 14 ตัว
สำหรับโลมาอิรวดี จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ