เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2568 จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Wasunan Phaochuad โพสต์ข้อความ ใจความระบุ วันที่ 29 พ.ย.2567 หลานชายวัยอนุบาล 3 ขวบ ถูกเพื่อนเป็นเด็กชายและเด็กหญิงที่โรงเรียนแกล้ง โดยช่วยกันดึงตัวหลานไปที่พัดลม ก่อนจะจงใจปล่อยมือให้หลานล้มกระแทกกับพัดลม เป็นเหตุให้นิ้วขาด แม้จะต่อกลับคืนได้แต่ก็ใช้งานไม่เหมือนเดิม

หลังเกิดเหตุ เด็กชายที่แกล้งไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ผู้ปกครองของเด็กทั้ง 2 ก็ปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเด็กเล่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลานเคยถูกเพื่อนคนนี้แกล้งอยู่เป็นประจำและได้บอกครูประจำชั้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากทางโรงเรียน และย้ำว่าให้ทางครอบครัวเด็ก 3 ขวบไปฟ้องดำเนินคดีเอาเอง
ส่วนทางโรงเรียนก็รับปากว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล แต่จนถึงปัจจุบันหลานจะเรียนจบและปิดเทอมแล้ว เมื่อส่งใบเสร็จค่าใช้จ่าย ก็ได้รับการแจ้งกลับเพียงว่าจะขอผ่อนจ่าย แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ

หลังจากนั้น มีชาวเน็ตจำนวนมากแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น ในเมื่อต้องการให้ฟ้องก็ฟ้องเลย ถามหาความรับผิดชอบและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลี้ยงดูของ 2 ครอบครัวผู้ก่อเหตุ และแสดงความเป็นห่วงรวมถึงให้กำลังใจแก่ครอบครัวและน้องวัย 3 ขวบ


เมื่อเกิดอุบัติเหตุอวัยวะขาด ต้องทำอย่างไร ?
อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่ทำให้อวัยวะขาด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและนำอวัยวะกลับคืนมาให้ได้มากที่สุด มีขั้นตอนและสิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดเหตุการณ์อวัยวะขาดดังนี้
1.ตั้งสติและโทรขอความช่วยเหลือทันที
โทรเรียกรถพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเบอร์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน แจ้งรายละเอียดของอุบัติเหตุและอวัยวะที่ขาด เพื่อให้ทีมแพทย์เตรียมพร้อมสำหรับการรักษา
2.ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ห้ามเลือด - ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้ากอซ กดบริเวณบาดแผลเพื่อห้ามเลือด หากมีเลือดไหลออกมามาก ให้กดจุดที่เหนือกว่าบาดแผลขึ้นไป เพื่อลดปริมาณเลือดที่ไหลออกมา
- ดูแลส่วนของอวัยวะที่ขาด
- ล้างอวัยวะที่ขาดด้วยน้ำสะอาด หากมีสิ่งสกปรกติดอยู่ให้ล้างออกเบา ๆ
- ห่ออวัยวะที่ขาดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ แล้วใส่ในถุงพลาสติกที่ปิดสนิท
- แช่ถุงพลาสติกในน้ำแข็ง โดยให้ถุงสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง
- นำอวัยวะที่ขาดพร้อมผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

3.สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่าล้างอวัยวะที่ขาดด้วยแอลกอฮอล์ อาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย
- อย่านำอวัยวะที่ขาดแช่ในน้ำแข็งโดยตรง ความเย็นจัดอาจทำให้เซลล์ตายได้
- อย่าพยายามต่ออวัยวะที่ขาดเอง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
4.สิ่งที่ควรทราบ
- ระยะเวลาที่อวัยวะที่ขาดและยังสามารถนำกลับมาต่อได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของอวัยวะและวิธีการเก็บรักษา โดยทั่วไปแล้ว อวัยวะขนาดใหญ่ เช่น มือ แขน ขา จะมีเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ส่วนนิ้วมือจะมีเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง
- ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีศูนย์อุบัติเหตุและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดต่ออวัยวะ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ่านข่าวอื่น :
สตม.เร่งรวบรวมข้อมูล ก่อนแจงปม "ไบโอเมตริกซ์" ไทยใช้ไม่ได้ 3 ปี
"ปธน.ทรัมป์" อ้าง BRICS ล่มสลายหลังถูกขู่เก็บภาษีนำเข้า 150%
"วิโรจน์" รับทราบข้อกล่าวหาคดีแก้ ม.112 มั่นใจสะดุดแค่ช่วงรอยต่อ