กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งโพสต์ ตั้งคำถามในกลุ่มพวกเราคือผู้บริโภค พบว่าเป็นภาพตัวประหลาดในปูม้า พร้อมตั้งคำถามว่าปูตัวนี้ยังกินได้หรือไม่ ซึ่งสร้างความกังวลให้ผู้บริโภค
วันนี้ (21 ก.พ.2568) ศูนย์วิจัยโรคปรสิต-parasitic disease research center ได้มีคำตอบดังกล่าว โดยระบุว่าภาพที่ปรากฏคือ "เพรียงถั่วงอกในปู"
พร้อมข้อมูลระบุว่า มีเพื่อนส่งมาสอบถามทางข้อความเพจว่าใช่พยาธิหรือไม่ หลังจากมีท่านนึงโพสต์ถามในพวกเราคือผู้บริโภค โดยคุณ Praem mii หลังจากแกะปูที่ซื้อมาจากห้างแห่งหนึ่ง
พบดังรูปที่เห็นนั้นไม่ใช่พยาธิ แต่เป็นเพรียงถั่วงอก เป็นปรสิตที่พบได้ในปูแต่ไม่เป็นอันตรายต่อคนเรา
เขาจะคอยดูดกินเลือดและสารอาหารจากปู จะเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น นมปู ตามขา หากทำความสะอาดล้างออกไปก็กินปูได้ ท่านใดเผลอกินเข้าไปก็ไม่อันตราย
แต่แนะนำทำให้สุกเพื่อป้องกันพวกแบคทีเรีย เชื้อโรคอื่น ๆ ส่วนในปูที่อาจจะพบพยาธิได้คือพวกระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ปอด พยาปอดหนู เป็นต้น

แนะวิธีจัดการเพรียงถั่วงอก ปรสิตในปู
สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้เลี้ยงปู เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ปูไข่วัง จังหวัดตรัง ระบุว่า เพรียงถั่วงอก ศัตรูตัวร้ายของปูทะเล ปรสิตที่คอยดูดกินเลือด และสารอาหารจากปู ทำให้ปูอยู่ในสภาวะไม่โต ไม่เต็ม เหมือนคนที่มีพยาธิคอยแย่งสารอาหารจากร่างกายของเรา สำหรับปู มันจะเกาะอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ปอดปู (นมปู) ตามขา ตามตัว ถ้าเลี้ยงในระบบปิด จะแพร่กระจายไปทั้งระบบ
ปกติวิธีจัดการปรสิตชนิดนี้ จะใช้น้ำผสมด่างทับทิมเล็กน้อย แช่ปูก่อนเอาเข้าระบบประมาณ 5-10 นาที หรือถ้าเจออยู่ในระบบแล้ว จะเอาปูมาแช่น้ำจืดซักครึ่งวัน เพราะปรสิตชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม เมื่อถูกน้ำจืด ก็จะดิ้นรนหนีออกจากตัวปู
ทั้งนี้เวลานึ่งปูกิน ถ้าเปิดกระดองปูออกมาแล้วเจอเพรียงถั่วงอก ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นปรสิตภายนอก ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเนื้อปู