ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนวกันไฟ "ดอยช้างป่าแป๋" นวัตกรรมใหม่นักสื่อสาร "ปกาเกอะญอ"

สิ่งแวดล้อม
20 มี.ค. 68
12:11
155
Logo Thai PBS
แนวกันไฟ "ดอยช้างป่าแป๋" นวัตกรรมใหม่นักสื่อสาร "ปกาเกอะญอ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ซ้อนมอเตอร์ไซค์คันเก่า สำรวจ "แนวกันไฟนวัตกรรมใหม่" ฝีมือจากมันสมองของนักสื่อสารชาวกะเหรี่ยงนาม "ดีปุ๊นุ"

กันป่าเป็นพื้นที่ทำประโยชน์แบบไร่หมุนเวียน 2,300 ไร่ ... ทำไร่จริงในแต่ละปีประมาณ 100 ไร่ .... ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ป่า 21,000 ไร่ ... ดูแลแนวกันไฟยาว 30 กิโลเมตร รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์

แนวกันไฟของหมู่บ้านนี้ ใช้ระบบวางท่อฉีดน้ำ สามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันจากที่ไหนก็ได้ พื้นที่กว่า 21,000 ไร่ ที่อยู่ในความดูแลของชุมชนนี้ จึงแทบไม่เคยได้รับผลกระทบจากไฟป่าอีกเลย

ทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมใจของคนในชุมชน โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นบัณฑิตหนุ่มชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่มีชื่อว่า "ดีปุ๊นุ" หรือ "บัญชา มุแฮ" จากบ้านดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

"ดีปุ๊นุ" นักล่าหาฝัน "ดารา-นักดนตรี" คืนถิ่น"ดอยป่าแป๋"

"พอจบ ม.ปลาย ก็เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในเมือง ผมมีความฝันอยากเป็นดารา ชอบการแสดง เลยเลือกเรียนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ที่ ม.ราชภัฎเชียงราย"

ชายชาวกะเหรี่ยง เล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังระหว่างที่จับพลัดจับผลูมาเป็นคู่หูของการเดินทางเข้าไปดูแนวกันไฟในป่าดอยช้างด้วยรถมอเตอร์ไซค์คันสุดท้ายที่เหลืออยู่ในวันนั้น รถเก่า ไร้ดอกยาง ... ผมคงต้องฝากความหวังไว้กับความชำนาญพื้นที่ของชายคนนี้เท่านั้น

ผมเคยสนทนากับ ดีปุ๊นุ มาก่อนเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่กำลังติดตามหาข้อมูลและแหล่งข่าวเพื่อเขียนข่าวคดีการถูกอุ้มหายที่ป่าแก่งกระจานของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงนักสู้อีกคนหนึ่งแห่งบ้านบางกลอย จากป่าแก่งกระจาน

เราเจอกันในงานประชุมของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังพูดคุยกันถึงเรื่องของบิลลี่ ซึ่งในช่วงนั้น "ดีปุ๊นุ" น่าจะกำลังเดินตามความฝันอีกอย่างของเขาด้วยการเป็นนักดนตรี ... อาวุธในมือของเขาในวันนั้นคือ เครื่องดนตรีท้องถิ่นที่เรียกว่า "เตหน่า" ซึ่งเปล่งเสียงบรรเลงเพลงที่แต่งขึ้นมาเองถึงวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าและใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมาดูแลรักษาป่า ... นั่นอาจเป็นความพยายามของเขาที่จะสื่อสารกับสังคมในฐานะนักนิเทศศาสตร์คนหนึ่ง

"ตอนเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ ในระหว่างที่เรียนอาจารย์บอกให้เราตามหาตัวตน พอถึงเวลาต้องฝึกงาน ก็ต้องเลือกว่าจะไปฝึกสายข่าว สายงานประชาสัมพันธ์ และจะไปทางวิทยุโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ก็แล้วแต่ ผมก็เลือกไปฝึกงานสายวิทยุโทรทัศน์ที่โครงการบ้านนอกทีวีของมูลนิธิกระจกเงา"

"พอไปอยู่ได้พักหนึ่งก็เริ่มทำดนตรี ก็ทำกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยง ตอนนั้นกำลังรุ่งเลย มีคนมาติดตามเยอะมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน"

บทสนทนาระหว่างทางของเราดำเนินไปตลอดเส้นทางเล็ก ๆ ในป่าใหญ่ที่เป็นรอยต่อระหว่าง 3 อำเภอ ของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แต่การคุยของเราก็ถูกขัดจังหวะเป็นระยะเมื่อชายชาวกะเหรี่ยงคอยเตือนให้ผมขยับตัวขึ้นมาด้านหน้ามากขึ้นในช่วงที่มอเตอร์ไซค์เก่าๆคันนี้ต้องไต่ขึ้นเนิน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักของผมที่อยู่ท้ายรถไปกดให้ล้อหน้าถูกยกขึ้น

จับใจความได้ว่า เส้นทางสายนักดนตรีของดีปุ๊นุ ยุติลงจากการตัดสินใจของเขา เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากบ้านเกิดให้บัณฑิตหนุ่มกลับมาช่วยแก้ไขสถานการณ์

"ทำดนตรีได้ 2-3 ปี ที่บ้านเราก็เริ่มมีปัญหากับนโยบายป่าไม้ที่ดินของรัฐ จริงๆ ก็มีมาตลอด ช่วงนั้นเริ่มมีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐรุนแรงขึ้น และชาวบ้านไม่มีช่องทางในการพูดคุยต่อรอง ไม่มีเวทีให้เจรจาแบบปัจจุบันนี้เลย ก็เลยตัดสินใจกลับมาช่วยที่บ้าน หลังจากออกไปผจญภัยไล่ตามความฝันอยู่ 9 ปี"

การกลับมาประจำการที่บ้านเกิดของดีปุ๊นุ บวกกับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก และพลังของคนในชุมชนดอยช้างป่าแป๋ที่พยายามแสดงให้เห็นศักยภาพของชาวปกาเกอะญอในการดูแลรักษาป่า ชุมชนจึงได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประกาศเป็น "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" แห่งที่ 12 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 และมันตามมาด้วยพันธะสัญญาของชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ ว่าพวกเขาจะเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ป่าโดยรอบชุมชนกว่า 21,000 ไร่ ด้วยวิถีและองค์ความรู้ของพวกเขาให้เป็นที่ประจักษ์

"มาถึงขั้นนี้ก็เปลี่ยนไปใช้แนวกันไฟ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคมแทนเสียงเพลง แม้วิธีการสื่อสารจะเปลี่ยนไป แต่ผมก็เชื่อว่า "ข้อความ" ที่เราต้อง การสื่อสารยังเหมือนเดิม นั่นคือ เราอยู่กับป่า เพื่อดูแลรักษาป่า" ดีปุ๊นุ บอกเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิต จากความฝันที่เคยอยากเป็นนักแสดง นักดนตรี แต่กลายมาเป็น คนดูแลแนวกันไฟในป่าที่บ้านเกิด

ทุกคนที่ได้ไปเยือนชุมชนดอยช้างป่าแป๋ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทันทีที่เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงแห่งนี้ ก็จะสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นและอากาศที่เย็นลงกว่าพื้นที่ราบด้านล่างอย่างชัดเจน

พื้นที่ 21,000 ไร่ ที่พวกเขาดูแลอยู่ ถูกทำเป็นแนวกันไฟยาว 30 กิโลเมตร เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) และเขตป่าสงวนแห่งชาติ (กรมป่าไม้) ในขณะที่พื้นที่ที่ถูกกันไว้เป็นเขตสำหรับทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน แม้จะครอบคลุมพื้นที่ 2,300 ไร่ แต่ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ทำให้ในแต่ละปีพวกเขาจะใช้พื้นที่หมุนเวียนทำไร่เพียงประมาณ 100 ไร่ เพื่อดำรงชีพตามวิถีดั้งเดิมเท่านั้น เพื่อปล่อยให้ไร่เดิมที่ทำไปในปีก่อนๆได้พักและฟื้นคืนสภาพเป็นป่า ซึ่งเป็นองค์ความรู้การทำเกษตรแบบโบราณที่ช่วยรักษาหน้าดิน ดูดซับคาร์บอน และ

แน่นอนว่า ไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ เป็นการทำเกษตรที่ทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย โดยไม่เคยต้องใส่ปุ๋ยเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์

ใช้ปีละ 100 ไร่ และหมุนเวียนให้ป่าพักฟื้น แต่ดูแลป่ากว่า 2 หมื่นไร่ ดูแลแนวกันไฟที่จะปกป้องผืนป่าที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน ... ภายใต้ปรัชญาที่ทุกคนเข้าตรงกัน นั่นคือ "ใช้ประโยชน์ส่วนน้อย ดูแลรักษาส่วนใหญ่" ซึ่งตรงกับปรัชญาของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมาทุกชุมชนว่า "ได้อยู่กับป่าต้องรักษาป่า ได้กินน้ำต้องรักษาน้ำ"

บทสนทนาบนเบาะมอเตอร์ไซค์เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของชายชาวกะเหรี่ยงวัย 39 ปี สิ้นสุดลง เมื่อมาถึงพื้นที่เป้าหมายที่เป็น "แนวกันไฟสำคัญ" จุดที่ช่วยรักษาป่าผืนนี้จากเปลวเพลิงขนาดใหญ่ไว้ได้มาตลอด 3-4 ปี ที่ผ่านมา

วิถีปกาเกอะญอ "คนกับป่า" ตั้ง "สปริงเกอร์" แนวกันไฟ

ท่อ PVC สีฟ้า ที่ลากยาวมาจากบนยอดเขา ติดตั้งด้วยหัวสปริงเกอร์ฉีดน้ำแบบรอบทิศทาง ปรากฎต่อสายตา ... แน่นอนว่า ต้องมีเหตุผลที่มันมาอยู่ตรงนี้

นี่เป็นหนึ่งในหลายจุดที่ชุมชนดอยช้างป่าแป๋เลือกติดตั้ง "สปริงเกอร์" ไว้ที่แนวกันไฟ เพราะหากมองลงไปที่แนวด้านล่างของสปริงเกอร์ที่เราเห็น จะพบว่า มีลักษณะลาดชันคล้ายเป็นเหวลงไปด้านล่าง ซึ่งพื้นที่ข้างล่างนี่เองเป็นจุดที่ชาวบ้านบอกได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดไฟไหม้ ไฟจะลามขึ้นมาตามความลาดชันของเนินอย่างรวดเร็ว และจะถูกกระแสลมพัดให้เปลวไฟปลิวข้ามมาถึงป่าด้านบนจนทำให้ไฟลามไปได้อีกเป็นระยะทางไกลมาก จนอาจลามไปถึงพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน ที่สำคัญ บริเวณนี้ยังเป็นจุดที่มี "ตาน้ำ" ซึ่งพวกเขาต้องพยายามปกป้องไม่ให้ถูกไฟไหม้อย่างเด็ดขาด

"เราอยู่ที่ระดับความสูง 1,300 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ... ขึ้นไปข้างบนอีกหน่อย จะเป็นจุดที่เราขุดเป็นสระน้ำไว้ เพื่อเก็บน้ำ 400,000 ลิตร (น้ำฝน) และเราใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตร มาติดตั้งไว้เพื่อเก็บน้ำสำรองอีก 16,400 ลิตร พร้อมทำเป็นห้องสำหรับเก็บอุปกรณ์ดับไฟป่าที่จำเป็น"

ดีปุ๊นุ อธิบายวิธีการสู้กับไฟป่าที่เขาคิดค้นขึ้น พร้อมอธิบายถึงวิธีการทำงานของระบบที่ถูกติดตั้งจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับองค์ความรู้ดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

กระบวนการทำงานของระบบระบบสปริงเกอร์ที่จุดนี้ คือ ความโดดเด่นของการดับไฟป่าที่ไม่มีมาก่อนในประเทศไทย เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจมาตลอดว่า การใช้น้ำเข้ามาช่วยดับไฟป่า เป็นเรื่องยาก หากต้องให้เหล่าอาสาสมัครแบกถังน้ำเดินขึ้นเขาที่ลาดชันมาหาไฟป่า หรือแม้แต่วิธีการโปรยน้ำจากเฮลิคอปเตอร์ก็ไม่ใช่วิธีที่ช่วยได้มากนัก ดังนั้นเมื่อชุมชนชาวกะเหรี่ยง สามารถคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมาได้ จึงเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนควรหันมามอง

"เดิมที่มีแต่แนวกันไฟแห้ง คือการถางทางให้โล่งไว้กันไปลาม เวลาจะดับไฟ ก็ทำได้แต่เอาไม้มาตบมัน"

"พอเรามีน้ำอยู่บนภูเขาแล้ว มันก็สามารถทำเป็น "แนวกันไฟเปียก" ได้ เราก็ออกแบบวิธีการที่จะทำให้น้ำที่เราเก็บไว้ถูกใช้งานได้ ซึ่งทำได้ทั้งระบบ offline และ online ... ถ้าเป็นระบบ offline แบบเดิม เราเรียกว่า timer springer คือ การคาดการณ์ว่าไฟจะมาในช่วงหน้าแล้งและตั้งเวลาให้สปริงเกอร์ฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นของแนวกันไฟไว้รอเลย ... แต่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือระบบ online ครับ เพราะมันทำให้เราสามารถสั่งการให้น้ำถูกฉีดได้ในเวลาที่เหมาะสม"

"นอกจากการไปสร้างแหล่งน้ำไว้บนภูเขาทั้งจากการขุดสระและวางถัง 200 ลิตรเพื่อเก็บน้ำสำรองไว้แล้ว ที่เราทำอีกอย่างหนึ่งคือการไปติดตั้งกล้อง IP Camera ไว้บนจุดที่สูงที่สุดของดอยช้าง อธิบายง่ายๆคือ จุดที่เป็น หัวช้างกับก้นช้าง กล้องนี้จะ online ตลอดเวลา ทำให้เรามองเห็นจุดที่เกิดไฟได้อย่างแม่นยำ ส่วนตัวสปริงเกอร์ เราก็เชื่อต่อกับระบบ IoT (Internet of Things) และติดตั้งแอพพลิเคชันที่ทำให้เราสั่งการสปริงเกอร์ให้ทำงานได้ทันที ขอแค่เราอยู่ในจุดที่มีสัญญาณ Internet ไม่ว่าจะจากส่วนไหนของโลกก็ตาม"

ไม่นานหลังสิ้นเสียงคำอธิบายของดีปุ๊นุ สปริงเกอร์กลางป่าก็แสดงศักยภาพของมันออกมา ผ่านการสั่งการของเครือข่ายเยาวชนที่กดเปิดน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือในมือในระยะห่างไปไม่กี่สิบเมตร ... และตั้งแต่ระบบนี้ถูกนำมาใช้งาน ผืนป่าบริเวณนี้ ก็ไม่ถูกไฟลามขึ้นมาอีกเลย

"จะดับไฟป่า ยังจำเป็นต้องใช้น้ำ ถ้ามีน้ำ เราก็จัดการไฟป่าได้ง่ายขึ้น" ระหว่างที่กลับไปซ้อนมอเตอร์ไซค์กลับหมู่บ้าน อดีตนักดนตรีปกาเกอะญอ หันมาตอบคำถามที่ทิ้งไว้ว่า ทำไมถึงเริ่มวางแนวทางสู้กับไฟป่าด้วยการสร้างแหล่งน้ำ ซึ่งต่างจากที่หน่วยงานรัฐทำอยู่

"จริงๆแล้ว เรื่องนี้มันมีความเกี่ยวข้องกับการที่ผมเล่นดนตรีด้วยนะ"

"ช่วงแรกๆที่ผมออกไปเป็นอาสาดับไฟป่ากับชาวบ้าน เห็นชาวบ้านเอาน้ำดื่มที่พกไปด้วย ไปรดใส่ต้นไม้หรือขอนไม้ที่กำลังถูกไฟไหม้อยู่ และมันไม่ใช่แค่การดับไฟ แต่มันเห็นได้ว่า น้ำดื่มที่เขาพกมาเพื่อประทังชีวิตกลับไม่ได้ดื่มเลย แต่ยอมเอาไปรดใส่ต้นไม้ เหมือนเขารักต้นไม้มากกว่ารักชีวิตของตัวเองอีก ผมก็เลยเข้าใจว่า การมีน้ำไปช่วยดับไฟป่า ยังเป็นโจทย์ที่สำคัญ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาน้ำขึ้นมาบนพื้นที่สูงแบบนี้ได้ยังไง"

"มาอีกวันหนึ่ง ในระหว่างผมกำลังนั่งซ่อมเตหน่าอยู่ที่ในตัวเมือง ผมต้องการใช้ส่วนประกอบของปี๊ปสังกะสีมาทำเป็นอุปกรณ์ของเตหน่า ก็เลยไปที่ร้านขายถังขยะเพื่อจะซื้อปี๊ปน้ำมันเก่า บังเอิญเห็นถังโลหะขนาด 200 ลิตรวางอยู่เต็มไปหมด ก็เกิดเป็นไอเดียว่า ถังพวกนี้ต้องเอาไปรองน้ำฝนมาดับไฟป่าได้ เพราะทนไฟได้ ไม่ผุง่าย น้ำหนักเบา จะขนเข้าไปในป่าก็ไม่น่าจะยาก คุยกับพี่ที่เป็นคนทำกาแฟในชุมชน เขาก็ไปแจ้งกับลูกค้าที่เป็นคนข้างนอก และเอาถังมาให้ฟรี ๆประมาณ 10 ใบ จึงปรึกษาชาวบ้านว่า วางถังที่จุดไหนดีจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็ชวนเยาวชนในหมู่บ้านเข้าไปวางถังในป่า...เมื่อเกิดไฟไหม้ ปรากฎว่ามันได้ผลดี ... เลยตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนอาสาดับไฟป่าขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันพวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการดูแลแนวกันไฟ 30 กิโลเมตร ให้กับชุมชนเรา"

"จริงๆ คือ การทดลองไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ทำไป ก็เกิดคำถามมากมายว่า ต้องทำยังไงให้มันมีประสิทธิภาพ ไปค้นหาใน Google หรือ Youtube ว่า ต่างประเทศทำกันยังไง มีเครื่องมือแบบไหนที่เหมาะกับบ้านเราบ้าง ก็ต้องลงทุนลองทำและเรียนรู้ดู เครื่องมือหลายตัวก็ทำงานเฉพาะด้าน ก็เอามาประสานกันให้ลงตัว"

แต่มีโจทย์ว่า ต้องทำให้ระบบมันเรียบง่ายด้วย ไม่ใช่ว่า ต้องมานั่นเขียนโค้ด ใส่รหัสให้ยุ่งยาก ต้องออกแบบให้ชาวบ้านธรรมดาที่มีความรู้นิดหน่อย สามารถเข้าใจและใช้งานมันได้ ทีมงานของเราจะได้ทำงาน เพื่อให้ถูกขยายผลออกไปให้ชุมชนอื่นสามารถนำไปใช้ได้ด้วย

ประเด็นสำคัญที่ต้องยอมรับก็คือ ระบบดับไฟป่าของชุมชนดอยช้างป่าแป๋ เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็น "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" ซึ่งมีผลทำให้ชุมชนสามารถวางแนวทางและกำหนดกติกา การบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ชุมชนปกาเกอะญออยู่กับป่าผืนนี้มานานกว่าร้อยปีแห่งนี้ จึงสามารถใช้ภูมิปัญญา วิถี และวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพชน ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ต่อสู้กับภัยจากไฟป่าได้อย่างเหลือเชื่อ

"เรากำลังพัฒนาระบบต่อไปอีกขั้นหนึ่ง โดยทำเป็นระบบ smoke detector หรือ ระบบจับควัน คือ จะติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่แนวท่อเลย ถ้ามีควันไฟเกิดขึ้นในระยะที่อาจจะลามมาถึง ระบบก็จะจับควันได้และทำให้สปริงเกอร์ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสั่งเปิดน้ำจากมือถือแล้ว" ดีปุ๊นุ อธิบายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้

ตลอดเส้นทางที่ผมซ้อนรถของดีปุ๊นุไปที่แนวกันไฟจนถึงเวลากลับไปที่ชุมชน การพูดคุยเรื่องการจัดการแนวกันไฟกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงคนนี้อย่างจริงจัง เกือบจะทำให้ผมลืมภาพเดิมๆที่เคยจดจำเขาได้ในฐานะนักสื่อสารด้วยเสียงดนตรีไปจนหมดสิ้น จึงตัดสินใจถามเขาเป็นคำถามสุดท้ายว่า ...

ผม ... "มีคนที่ยังไม่เข้าใจการสื่อสารผ่านแนวกันไฟของคุณอีกมากนะ พวกเขายังมองว่า คนที่อยู่ในป่า คือ คนที่ทำลายป่า"

ดีปุ๊นุ ... "คนที่ไม่เข้าใจ คนที่ไม่ยอมเข้าใจ คนที่ยังมีอคติกับพวกเราก็ปล่อยเขาไป แต่เราก็มีเป้าหมายชัดเจน คือ เราอยากเป็นต้นแบบการสู้ไฟป่าให้พื้นที่อื่นๆมาศึกษาและนำไปปรับใช้ ... ส่วนหน่วยงานของรัฐ ถ้าระดับกระทรวงมาเห็นแล้วยังเอาไปทำไม่ได้ ก็หมายความว่ามันยังมีปัญหาที่ระดับนโยบาย เพราะเท่าที่ทำงานกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ส่วนใหญ่เขามีความตั้งใจที่อยากจะทำ เราก็ต้องให้ประชาชนเขาตัดสินเอง แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายครับ"

ผม ... คุณทิ้งดนตรีมาทำแนวกันไฟ แล้วทุกวันนี้คุณมีรายได้จากไหน

ดีปุ๊นุ ... ไม่มีเลย ผมก็อยู่บ้าน อาศัยทำไร่หมุนเวียน กินอยู่กับชาวบ้าน

ผม ... มีเพลงที่คุณอยากจะสื่อสารไปถึงคนอื่นๆบ้างมั้ย

ดีปุ๊นุ ... เดี่ยวเราแวะไปหยิบเตหน่าที่บ้านผมกันก่อนครับ

บทเพลงปกาเกอะญอเสียงเล็กๆ คนทำแนวกันไฟ ถูกบรรเลงขึ้นอีกครั้ง

"ผู้เฒ่ายังรอ ยังคอยเฝ้าหวัง สังคมเข้าใจ
วิถีบ้านไกล วิถีพอเพียงดั่งคำพ่อสอน
อ่อนน้อมต่อดินน้ำป่า พึ่งพาอย่างเอื้ออาทร
บ้านเกิดเมืองนอน บรรพชนฉันเกิดตรงนี้
ผู้เฒ่าฝากหวัง พลังลูกหลาน สื่อสารเรื่องราว
จากคนปลูกข้าว จากคนต้นน้ำ ถึงคนปลายน้ำ
ภาษาเขาฉันพูดไม่เป็น สิ่งที่เห็นคือใจฉันบอบช้ำ
จากการกระทำของกลุ่มผู้มีอำนาจ ...
เธอจ๋าเธอ โปรดจงรับฟัง เสียงฉันไม่ดัง โปรดฟังเหตุผลฉันบ้าง
เธอจ๋าเธอ โปรดจงเข้าใจ ฉันคนบ้านไกล วิถีฉันอยู่กับป่า ...
ฉันคนบ้านไกล วิถีฉันทำไร่หมุนเวียน"

ในระหว่างที่ท่านอ่านบทความชิ้นนี้ กำลังมีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะผลักดันให้คำว่า "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์"ยกระดับจาก MOU กลายเป็นส่วนหนึ่งที่บรรจุอยู่ในพ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ยืนยันว่า การประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษใด ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และมีขั้นตอนมากมายที่ต้องผ่านการอนุมัติให้ได้รับการประกาศตามกฎหมาย

แต่นี่เป็นเพียงการคืนสิทธิอันชอบธรรมให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ และการจะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองฯได้ก็จะต้องเป็นชุมชนที่มีความพร้อมแบบเดียวกับดอยช้างป่าแป๋ จึงจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาป่าร่วมกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถาพร พงษ์พิพัฒน์พัฒนา : รายงาน

อ่านข่าว

ไหม้ซ้ำซาก 4 ผืนป่าอนุรักษ์ วาระชาติแก้จุดเกิด “ควันไฟ-PM 2.5”

เปิดลายแทงฉบับ "ลุงตู่" แก้พิษฝุ่นเมือง-ข้ามแดน ต้องเสี่ยงขัดแย้ง

มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง