วันนี้ (30 มี.ค.2568) เวลา 09.05 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า ประเด็นแรกที่ต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ คือเรื่องการกู้ภัยอาคารถล่มเขตจตุจักร ซึ่งกระบวนการยังเป็นการค้นหาผู้รอดชีวิต วันนี้ครบวันที่ 2 หรือ 48 ชั่วโมงแล้ว
โดยเมื่อเช้านี้มีสัญญาณชีพบริเวณโซน A จะเร่งดำเนินการค้นหาผู้ที่ยังมีสัญญาณชีพต่อไป ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนโดยผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอยู่ในพื้นที่ และเมื่อเช้ามีการพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตคงต้องรอยืนยัน
"สถานการณ์ คือ เราเดินหน้าเต็มที่และเต็มกำลัง และยังมีความช่วยเหลือจากหลายประเทศเข้ามา อาทิ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอิสราเอล ที่จะส่งเครื่องมือมาช่วยเหลือเพิ่มเติม กทม. ได้ประสานหน้างานเพื่อแบ่งพื้นที่ในการช่วยเหลือค้นหาผู้รอดชีวิต กู้ชีพ กู้ภัย ซึ่งยังไม่หมดหวังและขอยืนยันว่าทำเต็มที่ เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเจอผู้รอดชีวิตอยู่ด้านใน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เน้นย้ำ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า อุปสรรคที่อาจจะเจอวันนี้ คือ มีโอกาสที่ฝนจะตก 60% จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้พูดคุยกับผู้อำนวยการเหตุการณ์ที่อยู่หน้างานแล้ว ว่าไม่ได้มีผลกระทบกับการกู้ภัย เพราะอาคารต่าง ๆ ยังยึดโยงกันอยู่ด้วยเหล็ก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของการระบายน้ำตามธนาคารซึ่งได้รับผลกระทบจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจายตอนถล่มลงมาสู่ท่อระบายน้ำอาจทำให้ท่ออุดตัน ก็ต้องเร่งดำเนินการให้น้ำสามารถระบายได้ ขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการเต็มที่ และมีอุปกรณ์ครบถ้วน
ในส่วนเรื่องการเดินทางและการสัญจรบริเวณทางด่วนดินแดงยังมีเครนห้อยอยู่ ซึ่งได้บัญชาการให้มีการรื้อย้ายสำเร็จไปแล้ว 80% โดยวันนี้จะมีการประชุมอีกครั้งในเวลา 10.00 น. ว่าพรุ่งนี้จะสามารถเปิดการจราจรได้ปกติหรือไม่และจะยืนยันในเวลาประมาณ 12.00 น. ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการได้วันนี้ประมาณ 12.00 น. แต่สายสีชมพูที่อยู่แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา คงต้องเปิดให้บริการพรุ่งนี้ เนื่องจากต้องตรวจเรื่องสัญญาณต่าง ๆ ให้แน่ใจอีกที ซึ่งไม่กังวลมากเพราะว่าสายสีชมพูเป็นเหมือน Feeder ที่ยังมีการสัญจรอื่นทดแทนได้ เช่น รถตู้ วินมอเตอร์ไซต์
ส่วนแผนรองรับหากทางด่วนดินแดงไม่สามารถเปิดใช้งานได้ในวันจันทร์นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งหากเปิดใช้งานไม่ได้จริง ๆ อาจจะขอความร่วมมือและแนะนำให้บริษัทต่าง ๆ ประกาศให้ Work From Home เนื่องจากทางด่วนดินแดงเหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คนกรุงเทพฯ ใช้สัญจรไปทางด้านเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบกับถนนวิภาวดีรังสิตด้วย
ประเด็นเรื่องความมั่นคงของตัวอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้มีประชาชนแจ้งเข้ามาผ่าน Traffy Fondue ประมาณ 9,500 เรื่อง โดยทีมงานได้ประเมินสถานการณ์กันทั้งคืนว่าตึกใดมีความเสียหายหนักบ้าง โดยวันนี้จะส่งทีมวิศวกรอาสาเข้าไปตรวจกว่า 100 อาคาร แบ่งเป็น 20 ทีม
โดยเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารด้วยที่ต้องร่วมตรวจสอบเนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว โดยเมื่อวานได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนอีกครั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ไปช่วยตรวจสอบเสริมด้วย ด้านการเยียวยาผู้เสียหาย รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณเมื่อวานนี้
ส่วนขั้นตอนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร โดยจะเร่งประกาศหลักเกณฑ์ให้เร็วที่สุดด้วยความรอบคอบ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ซึ่งเบื้องต้นเป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท ที่อาจเป็นการรวมค่าใช้จ่ายในการค้นหาและกู้ภัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ด้วย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ออกหนังสือเจ้าของอาคารตรวจสอบภายใน 2 สัปดาห์
(30 มี.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในหนังสือ ขอความร่วมมือเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซ่ม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์ https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA หรือ QR code ด้านล่าง
โดยมุ่งเน้นไปที่ เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ป้าย ซึ่งการให้รายงานในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามจุดเสี่ยง ร้อยร้าว ความเสียหายของอาคาร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยังใช้สอยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยใน Google Form จะให้ระบุชื่อเจ้าของอาคาร ชื่อผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ผู้ตรวจสอบอาคาร และความคิดเห็นผู้ตรวจสอบอาคาร ว่าอาคารปลอดภัย หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ทราบภาพรวมของอาคารในกรุงเทพฯ ผ่านความร่วมมือของผู้ตรวจสอบอาคาร

1. อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีเนื้อที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป)
3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
4. โรงมหรสพ
5. โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป
6. สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป
7. อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (หอพัก อพาร์ทเม้นท์) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้ง ต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนในสถานที่ก่อสร้างก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
อ่านข่าว :
สตง.โพสต์เร่งประสานช่วยผู้ประสบภัยตึกถล่ม-ตรวจสอบสาเหตุ
กทม.อัปเดตตึก สตง.ถล่มพบเสียชีวิตแล้ว 10 คน ยังเน้นหาคนสูญหาย