วันนี้ (31 มี.ค.2568) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนการประชุม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงาน ความคืบหน้าในการตรวจสอบปัญหาการเตือนภัยแผ่นดินไหวทาง SMS ว่า
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ เรื่องนี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กสทช. และ ปภ. โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ การสรุปข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว และปัญหาการส่งข้อความที่ล่าช้า โดยสรุปว่า ปภ.จะต้องจัดทำระบบปฏิบัติการในเรื่องการเตือนภัยให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของทาง ปภ.อยู่แล้ว
นอกจากนี้จะต้องประสานงานกับค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ เช่น ทรู และ AIS ให้มีระบบสำรองป้องกันกรณีเครือข่ายล่ม เพื่อเข้ามาร่วมการแก้ไขสถานการณ์ลักษณะนี้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องปัญหาการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยเฉพาะความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตั้งแต่การรับข้อมูลมาจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหว และการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ของสหรัฐฯ และเยอรมนี หากข้อมูลทั้ง 2 ทางตรงกันก็จะพิจารณาส่งข้อมูลทั้ง 3 ส่วนมาที่ ปภ.เพื่อสรุปส่ง SMS ให้ประชาชนได้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจน
หากได้รับข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่า เกิดแผ่นดินไหว แม้ยังไม่ทราบระดับความรุนแรง ก็น่าจะสามารถส่งให้กับประชาชนได้รับทราบภายใน 5 นาที ผ่านทาง SMS เพราะหากรอการยืนยันระดับของความรุนแรง ก็อาจจะทำให้ขั้นตอนการแจ้งเตือนประชาชนล่าช้า เพื่อให้ประชาชนออกจากพื้นที่อันตรายหรือจากอาคาร ก่อน ทั้งนี้ต้องสอบถามทางเอกชนให้ร่วมพิจารณาว่าจะมีช่องทางในการส่งข้อมูลให้ประชาชนอย่างรวดเร็วได้หรือไม่
โดยภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะในที่ประชุมว่า หากได้รับข้อมูลจากทางหน่วยราชการคือ ปภ.ก็จะสามารถกระจายข้อมูลให้กับประชาชนได้ แต่ในวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ระบบ SMS ไม่ได้เตรียมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการปรับแนวทาง ไปแล้ว เพื่อจะสามารถส่ง SMS ให้ประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้นหากเกิดเหตุขึ้นอีก
ขณะเดียวกันทางภาคเอกชน ก็ยอมรับว่า การส่ง SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียวในการแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว เพราะการส่ง SMS ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายทำได้ยาก เนื่องจากมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งการตรวจสอบหมายเลขของผู้ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ เช่น ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจจะต้องใช้เวลาร่วมชั่วโมง ก่อนจะทยอยส่งข้อความได้
ดังนั้นเรื่องของฐานข้อมูลจึงมีความจำเป็น และการส่ง SMS ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละค่าย และส่วนใหญ่การให้บริการ SMS จะเป็นเรื่องของการแจ้งเตือนข้อมูลทั่วไป
ขณะที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า การแจ้งเตือนด้วย SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เป็นช่องทางหนึ่ง เพราะกรณีแผ่นดินไหวไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะสามารถทราบล่วงหน้า SMS จึงถือว่าเป็นหนึ่งในช่องทางสื่อสารเชิงรุกได้ ดังนั้นจึงอยากให้มีการใช้ SMS เป็นช่องทางแจ้งเตือนภัย ร่วมกับการใช้ Social Media กระจายข้อมูลข่าวสาร
อ่านข่าว : ย้อนรอย 10 ปี แผ่นดินไหวรุนแรงทั่วโลก
รพ.ตำรวจ แจ้ง "อาฟเตอร์ช็อก" ขนาดเล็กในเมียนมา ไม่ส่งผลกระทบอาคาร
“สุริยะ” ชงครม.เปิด “มอเตอร์เวย์” วิ่งฟรี 7 วันรับสงกรานต์ 68