ความคืบหน้าภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 และรู้สึกแรงสั่นไหวหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ
วันนี้ (31 มี.ค.2568) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้พบผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่มระหว่างก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 12 คน แม้จะผ่าน 72 ชั่วโมงแล้ว แต่ปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต ยังต้องมุ่งเน้นเข้าถึงผู้รอดชีวิตให้เร็วที่สุด

กทม.กำลังพิจารณายกเลิกระดับการจัดการสาธารณภัยภัย ระดับที่ 2 ที่ครอบคลุมทั้ง กทม. เพราะสถานการณ์ในที่อื่น ๆ เริ่มคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว นอกจากในพื้นที่อาคาร สตง.ถล่ม โดยจะสามารถย้ายศูนย์บัญชาการกลาง ไปรวมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์หน้างานที่พื้นที่เขตจตุจักร เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการจราจรบริเวณดังกล่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขอให้ประชาชนสำรวจที่พักของตนเอง หากไม่มั่นใจในความแข็งแรงให้รายงานมาที่ Traffy Fondue ล่าสุดมีผู้แจ้งอาคารมีรอยร้าวแล้ว 14,430 เคส กทม.ตรวจสอบแล้วเหลือ 2,426 เคส หรือตรวจแล้ว 81% แบ่งเป็นอาคารสีเขียว 11,517 เคส ขณะนี้ กทม.ระงับการใช้อาคารเพียง 2 แห่ง ซึ่งได้จัดหาที่พักให้ผู้อยู่อาศัยแล้ว

รวมทั้งให้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบกว่า 5,000 โครงการ โดยประชาชนสามารถติดตามผลตรวจสอบอาคารได้ที่ http://openpolicy.bangkok.go.th/bkkbuilding.html
นอกจากนี้ กทม.ให้ผู้รับเหมาระงับการใช้เครนในไซต์ก่อสร้างในพื้นที่ กทม. จำนวน 201 โครงการ จนกว่าจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย
ขณะที่การเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่งของ กทม.ได้แก่ ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง รองรับได้ 70 คน เข้าพักแล้ว 21 คน, ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี รองรับ 150 คน และศูนย์พักพิงคอยญาติผู้ประสบภัยเขตจตุจักร เข้าพัก 39 คน
อ่านข่าว : สรุปเดินหน้าส่ง SMS ช่องทางเตือนเชิงรุกเหตุ “แผ่นดินไหว”
พบเสียชีวิตคนที่ 12 เร่งค้นหา 75 ผู้สูญหายเหตุอาคาร สตง.ถล่ม
เร่งด่วนอันดับ 1 ช่วยชีวิตคนงาน อันดับ 2 คลี่ปมเหตุตึก สตง.ถล่ม